บมจ. บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) แถลง "B.Grimm Towards 2025" เปิดทิศทางธุรกิจและแผนกลยุทธ์สำคัญในปี 68 ประกาศลงทุนรวม 136,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนรวม 10 กิกะวัตต์ภายในปี 73 พร้อมเดินหน้าขยายธุกิจระดับโลกผ่านการร่วมทุน ซื้อกิจการ และพันธมิตรทางธุรกิจ พร้อมจัดสรรแหล่งทุนของบริษัทรวม 70,000 ล้านบาทรองรับการเติบโตในระยะยาวและยั่งยืน
ล่าสุด BGRIM ได้ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับเป้าหมายการเติบโตสู่อนาคตพลังงานสะอาด และการขยายธุรกิจระดับโลก แบ่งเป็น 3 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจพัฒนาพลังงานหมุนเวียน, กลุ่มธุรกิจในประเทศไทยและโซลูชั่นธุรกิจอุตสาหกรรม และกลุ่มงานการเงินและบัญชี ภายใต้การนำทัพของ นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม BGRIM และ 3 ผู้บริหารระดับสูง คือ นายพีรเดช พัฒนจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน, นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจในประเทศไทยและโซลูชั่นธุรกิจอุตสาหกรรม และนางสาวศิริวงศ์ บวรบุญฤทัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร งานการเงินและบัญชี
นายฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า ในปี 67 บริษัทประสบความสำเร็จในการขยายกำลังผลิตโครงการโรงไฟฟ้าหลากหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการพลังงานหมุนเวียน ซึ่งยังเป็นทิศทางหลักที่บริษัทจะมุ่งไปตลอดปี 68 เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ "สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี" พร้อมเดินหน้าพัฒนาความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ
แผนกลยุทธ์สำคัญสำหรับปี 68 ได้แก่
1. การเติบโตของพลังงานหมุนเวียน และการขยายธุรกิจในระดับโลก ตั้งเป้ากำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนรวม 10 กิกะวัตต์ภายในปี 73 ผ่านการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังน้ำ พร้อมดำเนินการตามแนวทาง Net Zero ภายในปี 93 ควบคู่กับการขยายธุรกิจในตลาดโลก อาทิ เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการร่วมทุน การเข้าซื้อกิจการ และการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเสริมความแข็งแกร่งและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
2. การเป็นพันธมิตรด้านพลังงานสำหรับ Data Centers มุ่งสู่การเป็นพันธมิตรหลักในการจัดหาพลังงานให้กับ Data Centers ในประเทศไทย โดยร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมอมตะ เพื่อจัดหาพลังงานหมุนเวียนและให้บริการโซลูชั่นพลังงานครบวงจรรองรับความต้องการของ Data Centers ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ชลบุรี นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างกระบวนการเจรจาทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับศูนย์ข้อมูลขนาดรวม 310 เมกะวัตต์
3. การจัดสรรเงินทุน (Capital Allocation) อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาวและยั่งยืน โดยวางแผนการลงทุนในโครงการต่างๆ ในช่วงปี 67-73 รวม 136,000 ล้านบาท เน้นลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนถึง 85% ในขณะที่แผนการลงทุนเฉพาะส่วนทุนของ BGRIM จำนวน 70,000 ล้านบาท จะเป็นพลังงานหมุนเวียนถึง 94%
ทั้งนี้ แหล่งที่มาของเงินลงทุนของ BGRIM จะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน, การออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ และหุ้นกู้ทั่วไป, เงินกู้จากสถาบันการเงิน รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ และการขายสินทรัพย์ที่มีศักยภาพ
นายฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า เรายังดำเนินกลยุทธ์การลงทุนด้วยการพิจารณาอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (EIRR) เป้าหมายอยู่ที่ 10-15% ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของเทคโนโลยีในแต่ละโครงการ ความน่าเชื่อถือของประเทศและผู้รับซื้อไฟฟ้า (Offtaker) รวมถึงความผันผวนของกระแสเงินสดที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นการบริหารหนี้สินและทุนอย่างเหมาะสม โดยตั้งเป้าอัตราหนี้สินต่อทุนที่ 3.0 เท่าในช่วงเริ่มต้นของการจัดหาเงินทุนโครงการ พร้อมทั้งใช้ limited-recourse loan และ back-end equity
น.ส.ศิริวงศ์ บวรบุญฤทัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารงานการเงินและบัญชี BGRIM กล่าวว่า ในปี 68 บริษัทฯ คาดจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่รวมประมาณ 800-900 เมกะวัตต์ (MW) โดยจะมาจากโครงการโรงไฟฟ้าที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ประมาณ 300-400 MW และโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรหรือ M&A อีก 500 MW
บริษัทยังมีแผนที่จะขายหุ้นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมบางส่วนออกไป เพื่อนำเงินที่ได้ไปลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติม รวมถึงมีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าในรูปแบบ green field ในประเทศอิตาลีและกรีซ ผ่านการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมลงทุนด้วย โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา
สำหรับงบลงทุนในปีหน้าวางไว้ที่ 10,000-12,000 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับรองรับโครงการโรงไฟฟ้าใหม่และการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและเจรจากับพันธมิตร
นอกจากนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรเพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจใหม่ Data Center ซึ่งมีขนาดความต้องการกำลังการผลิตไฟฟ้าราว 100 MW มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 5,000 - 7,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงต้นปี 68 อย่างไรก็ตามบริษัทคาดว่าในช่วง 3-5 ปีข้างหน้าความต้องการใช้ไฟฟ้าของธุรกิจ Data Center จะเพิ่มขึ้นเป็น 300-500 MW เพราะธุรกิจ Data Center มักต้องใช้เวลา 2 ปีก่อสร้าง
บริษัทฯ ยังตั้งเป้าลดอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ลงเหลือ 1 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.7 เท่า ผ่านการระดมทุนในหลายรูปแบบ อาทิ การออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนและการหาช่องทางระดมทุนอื่นๆ โดยที่บริษัทไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน