นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ [TOP] เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ นัดพิเศษ ครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ได้มีมติเห็นชอบเพิ่มงบประมาณในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) ประมาณ 63,028 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,776 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 17,922 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 505 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงิน 80,950 ล้านบาท
ทำให้งบประมาณลงทุนทั้งหมดของโครงการ CFP เป็นจำนวนเงินประมาณ 241,472 ล้านบาท หรือประมาณ 7,151 ล้านดอลลาร์สหรัฐและดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 37,216 ล้านบาท หรือเทียบเท่าประมาณ 1,078 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นเงิน 278,688 ล้านบาท
แหล่งเงินทุน ที่บริษัทฯ จะใช้ในการดำเนินการก่อสร้างโครงการ CFP ทั้งหมดจะประกอบด้วย
1) การออกตราสารหนี้และเงินกู้ยืม ณ ปัจจุบันรวม 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2) การบริหารสภาพคล่อง และการหาแหล่งเงินทุนในอนาคตทั้งจากการออกหุ้นกู้และ/หรือการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งการพิจารณาเครื่องมือที่ไม่ก่อให้เกิดหนี้สินเพิ่มเติม (Non-Debt Instruments) ประมาณ 1,000 - 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
3) ส่วนที่เหลือจะมาจากเงินสดคงเหลือและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะพิจารณาเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม ที่ทำให้บริษัทฯ ยังคงมีโครงสร้างทางการเงินเทียบเคียงได้ในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ
การเพิ่มเงินลงทุนในโครงการ CFP ครั้งนี้ จะนำไปใช้เพื่อการก่อสร้างการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ส่วนที่เหลือ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าที่ปรึกษาต่างๆ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จ และสามารถดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสีย ที่เกี่ยวข้องและประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้น
ทั้งนี้ บริษัทฯ เตรียมจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2568 ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 14.00 น.เพื่อขอมติจากผู้ถือหุ้นในการอนุมัติการเพิ่มงบประมาณในโครงการ CFP ดังกล่าว
"โครงการ CFP จะทำให้ไทยออยล์มีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบ 400,000 บาร์เรลต่อวัน และสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นโครงการขนาดใหญ่ ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่า 90% เมื่อโครงการสำเร็จจะสามารถตอบโจทย์การเติบโตทางกลยุทธ์ในระยะยาวทำให้บริษัทฯ เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ทำให้ไทยออยล์สามารถแข่งขันได้ และเป็นผู้นำในภูมิภาคซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งก่อให้เกิดผลตอบแทนที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นและบริษัทฯ ในระยะยาว หากโครงการเดินหน้าต่อจะทำให้ซัพพลายเชน วมถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้างและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีงานทำมีรายได้มาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง" นายบัณฑิต กล่าว
อนึ่ง บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2561 ให้เข้าลงทุนในโครงการ CFP โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 4,825 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 160,279 ล้านบาท และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้างประมาณ 151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,016 ล้านบาท2 โดยคาดว่าการก่อสร้างโครงการ CFP จะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/66
โดยบริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญาสาหรับการออกแบบวิศวกรรมการจัดหา และการก่อสร้าง (Engineering, Procurement and Construction) (สัญญา EPC) กับผู้รับเหมาซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าระหว่าง PSS Netherlands B.V. สำหรับงานออกแบบวิศวกรรมและการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรในต่างประเทศ และ unincorporated joint venture of Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte. Ltd. and Saipem Singapore Pte. Ltd. สำหรับงานก่อสร้างและการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรในประเทศไทย (ผู้รับเหมาหลัก)
แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโครงการ CFP ตั้งแต่ช่วงเริ่มงานในขั้นตอนการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักร รวมถึงการก่อสร้างในพื้นที่ที่ต้องดำเนินการภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อผลักดันให้โครงการ CFP เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องในช่วงดังกล่าว จึงส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการเพิ่มขึ้น และทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างโครงการ CFP ต้องถูกขยายออกไปจากเดิมที่คาดการณ์ไว้
ด้วยเหตุดังกล่าวที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 9/2564 จึงได้พิจารณาอนุมัติการขยายกรอบวงเงินประมาณการดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้างของโครงการ CFP จาก 151 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,016 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นอีก 422 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 14,278 ล้านบาท และในการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 4/2565 ได้พิจารณาอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมในการดำเนินโครงการ CFP และอนุมัติให้บริษัทฯ ลงนามในสัญญาแก้ไขสัญญา EPC กับผู้รับเหมาหลัก โดยเพิ่มงบประมาณของโครงการอีกประมาณ 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18,165 ล้านบาท และขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการไปอีก 24 เดือน ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา EPC เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการ CFP ต่อไปให้แล้วเสร็จ
ปัจจุบันหน่วยกำจัดกำมะถันในน้ำมันดีเซลที่ 4 (Hydrodesulfurization Unit: HDS-4) ได้ประสบความสำเร็จในการทดลองเดินเครื่องจักรและผลิตน้ำมันดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทันต่อการตอบสนองต่อนโยบายการใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ที่ภาครัฐมีการประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ดี จากเหตุการณ์ที่ผู้รับเหมาหลักไม่ชำระเงินค่าจ้างค้างจ่ายให้กับผู้รับเหมาช่วงที่ผู้รับเหมาหลักจ้างให้ทำงานในการก่อสร้างโครงการ CFP จนทำให้ผู้รับเหมาช่วงหยุดงานหรือลดจำนวนคนงานลงส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา EPC จากเหตุการณ์ดังกล่าว ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ นัดพิเศษครั้งที่ 6/2567 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า
ถ้าบริษัทฯ สามารถดำเนินโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จจะทำให้บริษัทฯ มีหน่วยกลั่นน้ำมันดิบใหม่ที่มีขนาดกำลังการกลั่นสูงทดแทนหน่วยกลั่นเดิม ส่งผลให้กำลังการกลั่นน้ำมันดิบของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นจากเดิม 275,000 บาร์เรลต่อวันเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ก่อให้เกิดการประหยัดด้านขนาด (Economies of Scale) อีกทั้งด้วยการออกแบบให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยทำให้สามารถกลั่นน้ำมันดิบที่มีความหลากหลาย รวมทั้งน้ำมันดิบชนิดหนักที่โดยทั่วไปมีราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบชนิดอื่น ทำให้สามารถผลิตน้ำมันสำเร็จรูปที่มีมูลค่าสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่ได้ในการเติบโตในธุรกิจปิโตรเคมีในอนาคต เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทฯ และสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในธุรกิจการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว
หากไม่อนุมัติให้มีการเพิ่มเงินลงทุนในโครงการ CFP เพื่อก่อสร้างโครงการ CFP ต่อไปให้แล้วเสร็จ จะทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโครงการ CFP ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งในระยะยาวบริษัทฯ อาจประสบปัญหาเรื่องขีดความสามารถในการผลิตของหน่วยกลั่นที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งบางหน่วยมีอายุการใช้งานมากกว่า 60 ปี และอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ หากมีการเปลี่ยนแปลงการใช้น้ำมันสาเร็จรูปที่มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดของเทคโนโลยีของหน่วยผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นความท้าทายในการดำเนินธุรกิจการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมของบริษัทฯ ในอนาคต
จากเหตุการณ์ที่ผู้รับเหมาหลักไม่ชำระเงินค่าจ้างค้างจ่ายให้กับผู้รับเหมาช่วงที่ผู้รับเหมาหลักจ้างให้ทำงานในการก่อสร้างโครงการ CFP จนทำให้ผู้รับเหมาช่วงหยุดงานหรือลดจำนวนคนงานลงส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการ CFP ให้แล้วเสร็จตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา EPC บริษัทฯ จึงต้องพิจารณาทางเลือกในการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ
อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาแผนการดำเนินการสำหรับโครงการ CFP ที่จะขออนุมัติในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้ศึกษาและประเมิน ร่วมกับที่ปรึกษาด้านเทคนิค โดยยึดหลักความระมัดระวัง (Conservative basis) แล้วว่าโครงการ CFP จะสามารถเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2571