นายศรชัย สุเนต์ตา CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปี 68 มีแนวโน้มขยายตัวช้าลง อ้างอิงจากการคาดการณ์ GDP ของ SCB EIC ล่าสุดคาดว่า GDP โลกปีนี้จะขยายตัว 2.7% และปีหน้าจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 2.5% จากความไม่แน่นอนด้านนโยบายกีดกันการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯที่กำลังจะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.68
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความรุนแรงในการดำเนินนโยบายกีดกันการค้า และระยะเวลาที่จะเริ่มใช้นโยบายนี้ โดยมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตลดลงเช่นเดียวกับเศรษฐกิจโลก แต่ยังขยายตัวสูงกว่าเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ
ทั้งนี้ SCB EIC คาดการณ์ว่า GDP สหรัฐฯ ในปี 68 จะขยายตัว 1.9% ด้วยแรงหนุนจากนโยบายการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ แต่จะเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเฉลี่ย 20% และประเทศอื่นๆ เฉลี่ยอีก 10% รวมถึงการกีดกันผู้อพยพ โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะระมัดระวังการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 68 ตามแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐที่อาจสูงขึ้น
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักต่างๆ ในโลกในปีหน้า ยังมีแนวโน้มปรับลดลง แต่ด้วยแรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้นจากนโยบายของนายทรัมป์ รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่คาดว่ายังคงยืดเยื้อต่อไป ทั้งความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ถึงแม้ว่านายทรัมป์จะออกมาประกาศว่าจะยุติสงครามโดยเร็วก็ตาม ทำให้ธนาคารกลางต่างๆ มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
ด้านแนวโน้มตลาดเงินตลาดทุน SCB CIO คาดว่าเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (UST Yield Curve) มีแนวโน้มปรับเพิ่มความชันมากขึ้น แม้เฟดจะยังลดดอกเบี้ยต่อก็ตาม เนื่องจากนโยบายของนายทรัมป์อาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวลดลงในขอบเขตจำกัดมากขึ้น ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวยังทรงตัวสูงอยู่ หรือปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้น ความเสี่ยงที่เงินเฟ้อยังลดลงช้า
และเรามองว่า UST Yield Curve มีแนวโน้มเข้าสู่ Normal Yield Curve ซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นอยู่ต่ำกว่าระยะยาว ในปี 68 ดังนั้น จึงแนะนำให้เน้นลงทุนหุ้นกู้สหรัฐคุณภาพสูง (Investment Grade) ระยะสั้น 2-4 ปีที่ให้ Yield อยู่ในระดับใกล้เคียงกับหุ้นกู้ระยะยาว และ Yield เฉลี่ยอยู่สูงกว่าประมาณการอัตราดอกเบี้ยระยะยาวของเฟดที่ 3.0% นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่ราคาจะลดลง ในกรณีที่ Bond Yield หรือ Credit Spread ปรับเพิ่มขึ้น ยังอยู่ต่ำกว่าหุ้นกู้ระยะยาว
SCB CIO มองว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มได้แรงหนุนจากกำไรต่อหุ้น (EPS) ที่ยังขยายตัวดี ท่ามกลางปัจจัยสนับสนุนจากกระแสการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายทรัมป์ แม้ราคาที่วัดจากอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) อยู่ค่อนข้างสูง แต่ความเสี่ยงที่จะลดลงมากมีจำกัด จากแนวโน้มการเพิ่มผลตอบแทนผู้ถือหุ้น และโมเมนตัม EPS ที่ยังดี
แนะนำลงทุนระยะยาวเน้นหุ้นกลุ่ม Quality Growth ที่ EPS แนวโน้มขยายตัวดี และสอดรับกระแส AI ผสมผสานกับหุ้น Defensive ที่ทนทานทุกสภาวะตลาด เพื่อลดความเสี่ยงสงครามการค้า ส่วนระยะสั้น แนะนำหุ้นสหรัฐฯ ขนาดเล็ก เช่น หุ้นในกลุ่ม Russell 2000 ที่มีรายได้ส่วนใหญ่จากในประเทศ ทำให้ได้อานิสงส์ค่อนข้างมากจากนโยบายกระตุ้นต่างๆของนายทรัมป์
ด้านตลาดหุ้นญี่ปุ่น มองว่ามีความน่าสนใจมากขึ้น จากแนวโน้มการปฏิรูปธรรมาภิบาล และมีแรงซื้อจากนักลงทุน ทั้งจากกรายย่อย ผ่านโครงการลงทุนที่ได้ประโยชน์ทางภาษี และจากกองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐบาลญี่ปุ่น (GPIF) ส่วนตลาดหุ้นยุโรปยังเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในเยอรมนีและฝรั่งเศส สงครามรัสเซีย-ยูเครน และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมทั้ง อาจเผชิญแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-ยุโรป และข้อพิพาททางการค้าระหว่าง จีน-ยุโรป บนประเด็นรถ EV
ส่วนนตลาดหุ้นเกิดใหม่ ได้แรงสนับสนุนจาก Valuation ที่ยังถูกกว่าตลาดพัฒนาแล้ว ยกเว้นตลาดหุ้นอินเดีย ส่วน EPS มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง และเผชิญความเสี่ยงจากการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นเกิดใหม่มีแนวโน้มผันผวนได้ในช่วงสั้น เราจึงแนะนำกระจายความเสี่ยงให้พอร์ต โดยเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ระยะยาว ทั้งในตลาดหุ้นอินเดีย อินโดนีเซีย จีน A-Share และไทย เนื่องจากจะได้รับอานิสงส์จากการที่ทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ท่ามกลางความเสี่ยงข้อพิพาทการค้ากับสหรัฐฯที่มีอยู่ และลงทุนระยะสั้นกับตลาดหุ้นเวียดนาม จากเศรษฐกิจเวียดนามในปี 68 ยังมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่ง ได้แรงหนุน จากการลงทุนภาครัฐ และเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่ปรับเพิ่มขึ้น
อีกทั้งเวียดนามกำลังดำเนินการยกระดับสถานะจากตลาดชายขอบ (Frontier Market) สู่ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ขณะที่ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มขยายตัวดี สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และ Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยดัชนี VN Index ซื้อขายบน 12M Fwd P/E ที่ 10.2x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงที่สำคัญซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจ คือ การที่ทรัมป์ ดำเนินนโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับเวียดนาม แต่เรามองว่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเวียดนามอย่างจำกัด
ขณะที่สินทรัพย์ทางเลือกยังคงแนะนำลงทุนระยะยาว ในทองคำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อที่อาจกลับมาเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจกลับมารุนแรงได้ ประกอบกับเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการที่ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องการสะสมทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น