นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย [KBANK] กล่าวว่า ธนาคารยังคงเดินหน้าไปสู่เป้าหมายสำคัญในการสร้างอัตราผลตอบแทนของส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก หรือ Double digits) ภายในปี 69 ผ่านกลยุทธ์ 3+1 ท่ามกลางความท้าทายหลายด้านในปี 68 เช่นเดียวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 67 โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่ยังเติบโตในระดับที่ค่อนข้างต่ำ
"ธนาคารกสิกรไทยมีความตั้งใจในการยกระดับอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทยให้ก้าวขึ้นไปทัดเทียมกับระดับสากล จากการที่ต้องเพิ่ม ROE ให้เป็น Double digits ภายในปี 69 เพราะหลายๆ ธนาคารในต่างประเทศมี ROE เป็น Double digits กันจำนวนมาก แต่ธนาคารพาณิชย์ในไทยเองยังไปไม่ถึง จากปัญหาด้านรายได้และค่าใช้จ่าย ทำให้ ROE ของธนาคารพาณิชย์ไทยยังอยู่เพียง Single digit ส่งผลให้ธนาคารกสิกรไทยต้องการที่จะผลักดันในเรื่องนี้เพื่อก้าวขึ้นสู่ธนาคารพาณิชย์ในระดับสากล"นางสาวขัตติยา กล่าว
ทั้งนี้ KBANK คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 68 จะเติบโตได้แค่ 2.4% ถือเป็นระดับที่ค่อนข้างต่ำมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง และยังต้องใช้ระยะเวลาอีกมากในการปรับเปลี่ยน ทำให้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้น้อยกว่าศักยภาพ
ขณะเดียวกันนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ยังมีความไม่แน่นอน และสร้างความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้มาตรการภาษีเข้ามากีดกันการค้า ซึ่งจะกระทบต่อภาคธุรกิจไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ หากมีการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าก็จะกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทย แต่ก็อาจชดเชยได้บ้างด้วยการปรับขึ้นราคาขาย
และอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อภาคธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย คือ การที่สินค้าจากจีนที่ถูกสหรัฐกีดกันการค้าจะทะลักเข้ามาขายในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นสินค้าที่ขายแบบเดียวกันแต่ราคาถูกกว่า เป็นปัญหาที่จะต้องมีการแก้ไขและหาแนวทางในการป้องกัน เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจของไทยให้อยู่รอดได้
นางสาวขัตติยา กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยยังคงให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีเป็นสำคัญ เพราะถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่สามารถช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขับเคลื่อนไปได้ โดยพยายามหาแนวทางเข้าไปช่วยเหลือให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยหาตลาดใหม่ ๆ รวมถึงเปิดโอกาสให้มีการเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อ
"ต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทย หากเรายังเป็นเศรษฐกิจยุคเก่า เราก็คงสู้เขาไม่ได้ แต่ระยะสั้นคงยังแก้ไม่ได้หรอก ฉะนั้นเราต้องช่วยเขาหาตลาดใหม่ เพราะถ้าขายตลาดเดิมก็ยังเจอคู่แข่งเยอะ ไปที่ประเทศอื่นๆที่เขายังไม่เคยไป และผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังใช้ได้อยู่" นางสาวขัตติยา กล่าว
นางสาวขัตติยา กล่าวถึงแผนงานเบื้องต้นในปี 68 ว่า ธนาคารมุ่งมั่นที่จะเพิ่ม Productivity ผ่านการนำเทคโนโลยีและ AI เข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถขยายสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าศักยภาพ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเดิม แต่ธนาคารก็ยังคงใช้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพื่อควบคุมคุณภาพหนี้ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและบริหารจัดการได้ โดยในปีหน้าวางงบ 10% ของกำไรสุทธิไว้รองรับการลงทุนในเทคโนโนยี นวัตกรรม และ AI ที่จะนำมาใช้ในการทำงานด้านต่างๆ คาดว่าจะเห็นผลชัดเจนใน 2-3 ปีข้างหน้า
สำหรับการรุกเข้าไปในกลุ่มลูกค้าระดับฐานรากที่ยังไม่มีความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ธนาคารเคยเข้าไปแล้วและยอมรับว่าเจ็บตัว ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการรุกขยายฐานลูกค้าดังกล่าว แต่ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการเริ่มใช้ระบบที่นำ Data และ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในการพิจารณาสินเชื่อและการทำงานในด้านอื่นๆ หากประเมินผลว่าการทำงานกับลูกค้ากลุ่มอื่น ๆ ดีขึ้นแล้วก็อาจจะพิจารณากลับไปขยายลูกค้าในกลุ่มฐานรากอีกครั้ง
ส่วนการเข้ามาของ Virtual Bank นั้น ธนาคารไม่ได้กังวล เพราะจับกลุ่มลูกค้าคนละกลุ่มกัน
"Segment ที่ Virtual Bank เขาตั้งใจ เป็น Segment ที่เราไม่ได้อยากไปแต่แรก ฉะนั้นลูกค้าแทบจะไม่ชนกัน และเราเองก็ไม่ได้รู้จักเขา ไม่มีข้อมูลมาก อย่างเช่น กลุ่มที่เราเข้าไปรายได้เป็นเดือน แต่กลุ่ม Virtual Bank เป็นลูกค้าที่มีรายได้เป็นวัน แบบนี้เราเองก็ยังไม่เคยมีข้อมูลไปก่อนทำให้เราไม่ได้เข้าไปจับกลุ่มนี้" นางสาวขัตติยา กล่าว
น.ส.ขัตติยา กล่าวอีกว่า การพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ผสมผสานเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของบุคลากร เพื่อตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ โดยมี K PLUS เป็นจุดเชื่อมต่อไปยังผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายของธนาคาร และยังคงครองอันดับหนึ่งดิจิทัลแบงก์กิ้งที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด โดย K PLUS มีส่วนแบ่งตลาด 30% ของปริมาณธุรกรรมโมบายแบงก์กิ้งทั้งระบบ สะท้อนความไว้วางใจของลูกค้าที่มีต่อบริการของธนาคาร มีผู้ใช้งาน K PLUS จำนวน 22.8 ล้านราย และคาดว่าจะไปสู่ 23.9 ล้านรายในปี 68
นอกจากนี้ KBANK ยังได้รับคะแนนจากผู้บริโภคเป็นอันดับ 1 ด้านความพึงพอใจและความผูกพันกับแบรนด์ (Net Promoter Score: NPS) ในกลุ่มธุรกิจธนาคารในประเทศไทย จากผลสำรวจของบริษัท นีลเส็นไอคิว (NielsenIQ) บริษัทวิจัยผู้บริโภคชั้นนำของโลก โดยผู้บริโภคให้คะแนนสูงสุดด้านภาพรวมบริการและช่องทางการให้บริการของธนาคาร และ K PLUS เป็นโมบายแบงกิ้งอันดับ 1 ชูความสำเร็จของธนาคารจากความเข้าใจความต้องการของลูกค้าในการใช้บริการผ่านช่องทางต่างๆ ขณะที่ธนาคารครองความเป็นอันดับ 1 ที่ลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ความไว้วางใจ จากผลการสำรวจธนาคารหลักที่ลูกค้าเลือกใช้บริการ (Main Banking Status) ของบริษัทอิปซอสส์ (IPSOS) บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก
การนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนและการให้คำปรึกษาด้านความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนแบบองค์รวมที่เหมาะสมกับความต้องการตลอดช่วงชีวิตของลูกค้า ทั้งของธนาคาร บลจ.กสิกรไทย และพันธมิตร นำเสนอผ่านช่องทางการขายและบริการอย่างครอบคลุม โดยกองทุนรวมของ KBANK มี AUM อันดับที่ 1 ต่อเนื่อง และบริการด้าน Private Banking มีลูกค้ามากเป็นอันดับ 1 สะท้อนความไว้วางใจในผลิตภัณฑ์และบริการด้านความมั่งคั่ง การให้ความสำคัญในการให้สินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ด้วยความรับผิดชอบ ร่วมสร้างวินัยทางการเงิน และให้ความรู้ทางการเงินในมิติต่างๆ ตลอดจนยังคงดำเนินยุทธศาสตร์ 3+1 ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นปีอย่างต่อเนื่อง โดยจะมุ่งมั่นลงมือทำให้สำเร็จยิ่งกว่าเดิม