"สยาม ดีเสิร์ท" ยื่นไฟลิ่งขาย IPO 56 ล้านหุ้นเข้า mai ใช้ขยาย รง.ใหม่-คืนเงินกู้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 27, 2024 09:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.สยาม ดีเสิร์ท [TENG1] ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) 56,000,000 หุ้น คิดเป็น 28% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลัง IPO และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดเอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมี บริษัท เอส 14 แอดไวเซอรี่ จำกัดเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

วัตถุประสงค์การใช้เงินจากการระดมทุนครั้งนี้ 1.เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่โรงงานเดิม 2.เพื่อขยายกำลังการผลิตโดยขยายโรงงานบนพื้นที่ว่างที่มีอยู่แล้ว และสร้างโรงงานแห่งใหม่ 3.ชำระคืนเงินกู้ยืม 4. เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

TENG1 ผลิตและจำหน่ายขนมหวาน น้ำหวาน รวมถึงส่วนผสมสำหรับขนมและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ภายใต้แบรนด์ "เต็งหนึ่ง" เริ่มต้นธุรกิจด้วยการผลิตและจำหน่ายเฉาก๊วยและน้ำเฉาก๊วยเป็นสินค้าแรก จากนั้นได้พัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันบริษัทมีสินค้าหลากหลายประเภท เช่น เนื้อเฉาก๊วย เฉาก๊วยในน้ำเชื่อม เครื่องดื่มพร้อมดื่ม ขนมเยลลี่ ขนมในถ้วยพร้อมทาน น้ำเชื่อมเข้มข้นรสชาติต่างๆ เป็นต้น

บริษัทจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางหลักคือระบบตัวแทนจำหน่าย (Dealer) และเต็งหนึ่งแมน (พนักงานของตัวแทนจำหน่าย) ซึ่งจะกระจายสินค้าไปยังร้านขายของชำ ร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ และร้านเครื่องดื่มต่างๆ เพื่อให้ถึงมือผู้บริโภคทั่วประเทศ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการรับจ้างผลิตสินค้า OEM ให้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอีกด้วย

ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2567 บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งหมด 72 ล้านบาท และมีสำนักงานใหญ่และโรงงานผลิตตั้งอยู่ที่ จังหวัดนครปฐม และ ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 บริษัทฯ มีตัวแทนจำหน่ายทั้งสิ้น 91 ราย และเต็งหนึ่งแมนทั้งสิ้น 312 ราย

บริษัทมีเป้าหมายที่จะขยายกำลังผลิตให้มากขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ โดยมีโครงการที่วางไว้ 2 โครงการ ดังนี้

1. ขยายโรงงานเดิม วางงบลงทุน 80 ล้านบาท ใช้ซื้อที่ดินเพิ่ม 4 ไร่ราว 20 ล้านบาท และสร้างอาคารและจัดซื้อเครื่องจักรอีก 60 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้มีกำลังการผลิตที่จะรองรับยอดขายได้มากขึ้นกว่า 250 ล้านบาทต่อปี จากกำลังการผลิตปัจจุบัน 650 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตราว 38% เริ่มลงทุนในช่วงปี 68-69

2. ขยายกำลังการผลิตด้วยการสร้างโรงงานใหม่ในพื้นที่จังหวัดที่เป็นรอยต่อของการเดินทางระหว่างภาคกลางตอนบน ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหลือ ในเบื้องต้นคาดอยู่ในจังหวัดพิจิตร หรือพิษณุโลก ช่วงปี 69-70 ใช้งบลงทุนประมาณ 120 ล้านบาท แบ่งเป็นการจัดซื้อที่ดินขนาด 10 ไร่ ประมาณ 40 ล้านบาท และลงทุนในการก่อสร้างโรงงานและเครื่องจักรอีกประมาณ 80 ล้านบาท จะสามารถรองรับยอดขายได้ประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าจะลดต้นทุนการขนส่งลงได้ราว 30% และจะช่วยลดระยะเวลาจัดส่งสินค้า

โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ 3 ตุลาคม 2567 มีกลุ่มครอบครัววัฒนอัครโภคินและสุดฟุ้ง ถือหุ้น 100,800,000 หุ้น คิดเป็น 70.00% หลัง IPO จะลดสัดส่วนเหลือ 50.40% นายสมพล ฤกษ์วิบูลย์ศรี 14,400,000 หุ้น คิดเป็น 10.00% จะลดเหลือ 7.20%

ผลปะกอบการในปี 2564-2566 บริษัทมีรายได้เท่ากับ 260.31 ล้านบาท 356.97 ล้านบาท และ 456.04 ล้านบาท ตามลำดับ รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจากจำนวนของตัวแทนจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นจาก 78 ราย เป็น 84 ราย และ 83 ราย การเพิ่มยอดขายของแต่ตัวแทนแต่ละราย กำไรสุทธิ 10.51 ล้านบาท 17.42 ล้านบาท และ 32.52 ล้านบาท

ส่วนงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 มีรายได้รวม 363.28 ล้านบาท กำไรสุทธิ 19.95 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิของงบการเงินเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล เงินสำรองตามกฎหมาย และเงินสำรองอื่นๆ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ อาจพิจารณาจ่ายเงินปันผลแตกต่างไปจากนโยบายที่กำหนดไว้ได้ โดยจะขึ้นอยู่กับผลประกอบการ สภาพคล่องทางการเงิน แผนการลงทุน และปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการบริหารงานของบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ