ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 392,645 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 30, 2024 13:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (23 - 27 ธันวาคม 2567) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 392,645 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 78,529 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 2% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้ว จะพบว่ากว่า 62% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 242,383 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (state Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาล ที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 80,072 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 6,389 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB27NA (อายุ 2.9 ปี) LB29NA (อายุ 4.9 ปี) และ ESGLB376A (อายุ 12.5 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 11,122 ล้านบาท 8,303 ล้านบาท และ 6,708 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) รุ่น MTC251B (Non-Rated) มูลค่าการซื้อขาย 1,074 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) รุ่น BGRIM349A (A-) มูลค่าการซื้อขาย 568 ล้านบาท และหุ้นกู้ของ บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT26NB (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 379 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงประมาณ 4-6 bps. ในตราสารระยะสั้น ด้านปัจจัยต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป (Headline PCE) ประจำเดือนพ.ย. ปรับตัวขึ้น 2.4% (YoY) ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.5% ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอังกฤษไม่ขยายตัวในไตรมาส 3/2567 ซึ่งเป็นการปรับลดจากประมาณการ เบื้องต้นว่า GDP จะขยายตัว 0.1% ด้านรายงานการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เมื่อวันที่ 30-31 ต.ค. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% และกรรมการ BOJ เล็งเห็นว่าความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ อาจเป็นปัจจัยสำคัญ ในการตัดสินใจว่า BOJ จะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้รวดเร็วเพียงใด

สัปดาห์ที่ผ่านมา (23 - 27 ธันวาคม 2567) กระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 8,263 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิ ในตราสารหนี้ระยะสั้น (ST) (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) 1,344 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (LT) (อายุมากกว่า 1 ปี) 15,971 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 6,364 ล้านบาท

หมายเหตุ: อันดับเครดิต หมายถึง อันดับเครดิตของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น หรือ อันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้

ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corp Bond Gross Price Index) เปลี่ยนเป็น ดัชนีหุ้นกู้เอกชน(MTM Corp Bond Gross Price Index) ตั้งแต่ ม.ค. 2565

ความเคลื่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ไทย                                    สัปดาห์นี้        สัปดาห์ก่อนหน้า     เปลี่ยนแปลง             สะสมตั้งแต่ต้นปี
                                                      (23 - 27 ธ.ค. 67)  (16 - 20 ธ.ค. 67)           (%)   (1 ม.ค. - 27 ธ.ค. 67)
มูลค่าการซื้อขาย แบบปกติ - Outright Trading (ล้านบาท)              392,645.18         385,899.87         1.75%           19,105,809.22
มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ล้านบาท)                                 78,529.04          77,179.97         1.75%               78,624.73
ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Gross Price index)                      107.79             107.82        -0.03%
ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (MTM Corp Bond Gross Price Index)                    107.45             107.44         0.01%

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Yield Curve) --%
ช่วงอายุของตราสารหนี้                    1 เดือน     6 เดือน     1 ปี     3 ปี     5 ปี     10 ปี     15 ปี     30 ปี
สัปดาห์นี้ (27 ธ.ค. 67)                    1.94       1.97    1.98    2.02    2.08     2.27     2.45      2.8
สัปดาห์ก่อนหน้า (20 ธ.ค. 67)               2.02       2.03    2.02       2    2.08     2.27     2.43     2.81
เปลี่ยนแปลง (basis point)                  -8         -6      -4       2       0        0        2       -1

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ