บมจ.การบินไทย [THAI] ทำใจรับเงินขายหุ้นเพิ่มทุนได้แค่ 2.3 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าเป้าสูงสุดที่วางไว้ 4.4 หมื่นล้านบาท หลังจากะขายหุ้นไม่หมดเกือบครึ่ง เตรียมนำเงินสดในมือมาสมทบ เพื่อเดินหน้าตามแผนขยายฝูงบินใหม่ 45 ลำที่จะมาชุดแรก 30 ลำเริ่มปี 70 และนำเครื่องปรับปรุงภายใน 14 ลำมากลางปี 70
ขณะที่วางเป้าหมายผลักดันธุรกิจเติบโตต่อเนื่องในปี 68 สร้างแตะ 1.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.5% จากปีก่อนที่ทำได้ 1.6 แสนล้านบาท โดยรักษาอัตรากำไรไว้ที่ระดับ 10% ภายใต้แผนรับมอบเครื่องบินเพิ่ม 4 ลำครึ่งปีหลัง และดีลเช่าเพิ่มอีก 8 ลำรองรับเส้นทางยอดฮิตในเอเชีย ขณะที่ไทม์ไลน์ออกจากแผนฟื้นฟูยังรอลุ้นตั้งบอร์ดชุดใหม่ที่จะเสนอเข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นกลางเม.ย. 68 หวังสัดส่วนกรรมการจากภาครัฐจะไม่เป็นอุปสรรคต่อความอิสระในการบริหารงาน หลัง ก.คลัง ยังคงถือหุ้นใหญ่
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI เปิดเผยว่า บริษัทขายหุ้นเพิ่มทุนได้เพียง 5,131 ล้านหุ้น จากจำนวนทั้งหมด 9,822 ล้านหุ้น ซึ่งส่วนใหญ่กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิเข้ามาซื้อ รวมทั้งพนักงาน และนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) (2 ราย) ทำให้ได้เงินก้อนใหม่เข้ามาราว 2.3 หมื่นล้านบาท จากเดิมเคยประเมินขั้นต่ำประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ราคาขาย 2.5452 บาท/หุ้น และต่ำกว่าเป้าหมายที่เสนอสรุปขายหุ้นเพิ่มทุนสุดท้ายที่หุ้นละ 4.48 บาท เพราะหากขายได้ทั้งจำนวนจะรับเงินเข้ามาถึง 4.4 หมื่นล้านบาท
เงินขายหุ้นเพิ่มทุน 2.3 หมื่นล้านบาท และเงินสดที่บริษัทมีอยู่ในมือที่มากกว่าประมาณการในเบื่องต้น เพียงพอที่จะนำมาใช้ลงทุนในระยะต่อไป โดยเงินเพิ่มทุนจะนำไปใช้ 1.จัดหาเครื่องบินฝูงใหม่ 45 ลำ และมีออพชั่นเพิ่มอีก 35 ลำ แต่เนื่องจากเงินเพิ่มทุนไม่ได้ตามแผนที่วางไว้ก็จะพิจารณารูปแบบอื่นในปี 69 เพราะก่อนหน้านี้กำหนดไว้ว่าจะใช้เงินลงทุน 2.6 หมื่นล้านบาท แต่เหลือให้ใช้แค่ 1.6 หมื่นล้านบาท
2. การปรับปรุงห้องโดยสารเครื่องบิน โดยเฉพาะเครื่องบินลำตัวกว้าง B777-300ER และเครื่องบินฝูงใหม่ที่มีการปรับปรุงภายในเครื่องบิน (BFE : Basic Flight Equipment) ที่จะต้องใช้เงินลงทุน 5 พันล้านบาท
และ 3.ลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ทั้งที่สนามบินอู่ตะเภา สุวรรณภูมิ และดอนเมือง ลงทุนราว 2 พันล้านบาท โดยตั้ง MRO ซึ่งศูนย์ซ่อมฯอู่ตะเภาเป็นลำดับแรก บนที่ดิน 212 ไร่ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะให้สิทธิเข้าใช้พื้นที่เมื่อใด ทั้งนี้ โครงการนี้บริษัทได้พูดคุยกับ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ในฐานะผู้ประกอบการในประเทศ อยู่ระหว่างหารือรายละเอียดเกี่ยวกับสัดส่วนการลงทุน ประเมินมูลค่าโครงการราว 1 หมื่นล้านบาท
สำหรับการจัดหาฝูงบินใหม่ ขณะนี้ได้สั่งจองเครื่องบินโบอิ้ง787 จำนวน 45 ลำ วางเงินมัดจำรอบแรกแล้ว จะเริ่มรับมอบกลางปี 70-76 ชุดแรกจะเข้ามา 30 ลำ รวมกับเครื่องบินเช่า โบอิ้ง 700-300ER จำนวน 14 ลำ จะรวมเป็น 44 ลำ ภายในเครื่องบินจะเหมือนกันทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหาเดิมที่เคยมีหลายแบบ ทั้งนี้ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย
*เป้าหมายปี 68 ปั๊มรายได้แตะ 1.8 แสนลบ. เพิ่มเครื่องบิน 4 ลำ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI กล่าวว่า ปัจจุบัน capacity ของการบินไทยกลับมาเพียง 65% ของช่วงก่อนโควิด แต่รายได้กลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้ว โดยคาดว่าปิดสิ้นปี 67 จะมีรายได้ 1.6 แสนล้านบาท และในปี 68 จะเติบโตแตะ 1.8 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันแนวโน้มอัตรากำไรสุทธิทำได้ดีขึ้น โดยไตรมาส 3/67 อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 10% สูงกว่าในอดีตที่เคยทำได้แค่ 2-3% หรือบางช่วงก็ติดลบ ซึ่งบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถรักษาอัตรากำไรสุทธิในระดับสูงได้อย่างต่อเนื่อง
รายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาจากความสามารถหารายได้ดีขึ้น ราคาตั๋วเฉลี่ยสูงขึ้นจากเดิมที่เคยเน้นขายแบบ point to point มาเป็นแบบ connecting มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่จะต้องการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น Aviation Hub
นอกจากนั้น ในปีนี้บริษัทจะรับมอบเครื่องบินเช่ามาเพิ่ม 4 ลำ เพิ่มขยายฝูงบินเป็น 83 ลำ จากสิ้นปี 67 อยู่ที่ 79 ลำ เป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง แอร์บัส 330 จำนวน 3 ลำ รับมอบในไตรมาส 3-4 และแอร์บัส 321 เป็นเครื่องลำตัวแคบ 1 ลำรับมอบไตรมาส 4/68 ขณะที่บริษัทยังอยู่ระหว่างเจรจาเช่าเครื่องบินแอร์บัส 330 เพิ่มอีก 8 ลำ คาดว่าจะทยอยรับมอบตั้งแต่ไตรมาส 4/68
นายชาย กล่าวว่า การเพิ่มจำนวนเครื่องบินจะเข้ามารองรับการขยายเส้นทางบินในเอเชีย และเพิ่มความถี่ ส่วนตลาดระยะไกล (long haul) อย่างยุโรปคงไม่เพิ่ม แต่จะเน้นการเพิ่มเส้นทางบินเมืองรองในญี่ปุ่นและจีน
ส่วนปี 69 ช่วงปลายปีจะทยอยรับมอบเครื่องบินเช่า A321 อีก 32 ลำ รองรับเส้นทางระยะใกล้ จากปัจจุบันมีเครื่องบิน A320 อยู่ 20 ลำ โดยจะใช้กลยุทธ์ขายดั๋วแบบ Connecting เพื่อทำให้เส้นทางในประเทศเติบโตไปพร้อมกับเส้นทางระหว่างประเทศ บริษัทจึงไม่จำเป็นต้องแข่งขันแย่งชิงตลาดในประเทศมากนัก
พร้อมกันนั้น การบินไทยจะเพิ่มความร่วมมือกับสายการบินพันธมิตรมากขึ้นรูปแบบ Code Share ซึ่งในปี 68 จะเน้นขยายพันธมิตรสายการบินทั้งในและนอกกลุ่มสตาร์อัลลายแอนซ์ โดยมีเป้าหมายขยับอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในปีนี้ไปที่ 80% จำนวนผู้โดยสาร 16.5 ล้านคน จากปี 67 Cabin Factor เข้าใกล้ 80% แล้ว ผู้โดยสาร 15.5 ล้านคน
"ตลาดการบิน ในปี 68 ไม่ต่างกับปี 67 เพราะเครื่องบินใหม่ยังไม่เข้ามา ซึ่งคาดว่าจะเป็นลักษณะนี้ 3-4 ปี โดยเครื่องบินใหม่ออกมาน้อยมาก"
ปัจจุบัน การบินไทย มีจำนวนพนักงาน 17,000 คน แนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนเครื่องบิน
*รอลุ้นบอร์ดใหม่กลางเม.ย.
นายชาย กล่าวว่า ผู้บริหารแผนฯ คาดว่าจะเสนอรายชื่อคณะกรรมการชุดใหม่ของการบินไทยให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาในช่วงกลางเดือน เม.ย.68 เมื่อได้คณะกรรมการชุดใหม่แล้วก็จะถือว่าครบองค์ประกอบการของการยื่นออกจากแผนฟื้นฟูฯ ทางผู้บริหารแผนก็จะยื่นต่อศาลล้มละลายกลางในเดือน พ.ค.68 จากนั้นจะยื่นเรื่องเพื่อขอนำหุ้น THAI กลับเข้าเทรดในต่อตลาดหลักทรัพย์ในเดือน มิ.ย. 68
โครงสร้างผู้ถือหุ้น THAI หลังการแปลงหนี้เป็นทุนและการขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามแผนฟื้นฟูฯ แม้ว่ากระทรวงการคลังและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จะถือหุ้นลดลง 42.94% จากเดิม 49.99% แต่กระทรวงการคลังยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสได้ที่นั่งกรรมการมากที่สุด ทำให้เกิดความกังวลถึงความต่อเนื่องในการบริหารงานอย่างอิสระ แม้จะไม่ได้มีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ
"การไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ แน่นอนการบริหารจัดการคล่องตัวมากขึ้น เหมือนกับการบริหารจัดการที่ผ่านมา แต่หากภาครัฐยังถือสัดส่วนใหญ่ก็ยังมีโอกาสเข้ามาบริหารจัดการได้ในอนาคต ? การเป็นสายการบินแห่งชาติมันสามารถทำได้ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว เราสามารถทำงานทุกภาคส่วนได้ เพราะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของผู้ประกอบการ และ Stakeholder คือ ท่าอากาศยานไทย สถาบันการบินพลเรือน วิทยุการบิน ร่วมมืกันสร้างกรุงเทพให้เป็น Hub"
นายชาย กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การขายหุ้นเพิ่มทุนไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายเป็นเพราะผู้ลงทุนกังวลเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน การบริหารในอนาคตอาจไม่เป็นอิสระ และอีกเรื่องคือขั้นตอนกว่าหุ้น THAI กลับเข้าเทรดต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนนับจากวันที่ขายหุ้นเพิ่มทุน (6-12 ธ.ค.67)
ในแง่ของการสร้างความเชื่อมั่นหุ้น THAI หน้าตาของคณะกรรมการบริษัทต้องมีคุณสมบัติเกื้อหนุนในการทำธุรกิจสายการบิน ซึ่งตาม ข้อบังคับของบริษัทจะมีจำนวนคณะกรรมการได้ตั้งแต่ 5-15 คน ตามเกณฑ์ตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า 1 ใน 3 ต้องเป็นกรรมการอิสระ อีกหนึ่งคนจะมาจากประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่จะเข้ามาโดยตำแหน่ง และเพื่อต้องการความต่อเนื่องในการบริหารงาน กรรมการบางส่วนจะมาจากผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ส่วนที่เหลือแบ่งตามสัดส่วนการถือหุ้น
" ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริษัทที่มีความรู้ความสามารถไม่ตรงกับการบริหารสายการบิน ซึ่งก็เป็นบทเรียนในอดีต ซึ่งทำให้การประเมินธุรกิจช้าลง และอาจจะผิดทิศทางได้ "
นายชาย กล่าวว่า หากคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ไม่ได้อย่างที่คาดหวังก็อาจเป็นแรงกดดันราคาหุ้น THAI เมื่อกลับเข้าไปเทรดได้ ดังนั้น ผู้ถือหุ้นจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ทั้งนี้ ราคาหุ้น THAI ปิดที่ 3.32 บาท/หุ้นก่อนที่จะหยุดการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค.64
*เจ้าหนี้ยื่นคัดค้านการแก้ไขแผนฯไม่ทำให้แผนสะดุด
ส่วนคดีที่ 8 เจ้าหนี้ ยื่นคัดค้านการประชุมเจ้าหนี้ THAI และศาลล้มละลายกลางนัดฟังคำสั่งในวันที่ 21 ม.ค.68 นั้น นายชาย กล่าวว่า ไม่ว่าผลการตัดสินของศาลฯจะเป็นอย่างไร ไม่ได้มีผลกระทบต่อการออกจากแผนฟื้นฟูฯ
แต่หากสามารถแก้ไขแผนในส่วนของการลดมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) เพื่อล้างขาดทุนสะสมเกือบทั้งหมด เมื่อมีกำไรสะสมบริษัทก็จะสามาถจ่ายเงินปันผลได้ อาจทำให้การนำหุ้น THAI กลับเข้าเทรดมีประสิทธิผลดีมากขึ้น เป็นผลประโยชน์ทั้งเจ้าหนี้ที่แลงหนี้เป็นทุนและผู้ถือหุ้น หากไม่แก้ไขข้อนี้อาจทำให้หุ้นได้รับผลกระทบ
และหากศาลฯตัดสินให้วาระที่เพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 คนได้ (ตัวแทนจากก.คลังและก.คมนาคม) ก็ไม่น่าจะมีผลอะไร แต่จะเป็นการส่งสัญญาณว่าการบริหารจัดการอาจมีความเป็นอิสระลดลงไป
"แต่การจะเสนอชื่อกรรมการบริษัท ต้องหารือกับผู้ถือหุ้นรายหลักๆ ก่อนการประชุมผู้ถือหุ้น คงต้องรอฟังคำตัดสินของศาลล้มละลายกลางในวันที่ 21 ม.ค.68 นี้" นายชาย กล่าว
https://youtu.be/vN32C1eOt5Q