ทรีนีตี้ มอง SET ปี 68 มีอัพไซด์เชื่อแรงขาย LTF 5.5 พันล้านไม่กระทบ สภาพคล่องสถาบันยังสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 6, 2025 12:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทรีนีตี้ มอง SET ปี 68 มีอัพไซด์เชื่อแรงขาย LTF 5.5 พันล้านไม่กระทบ สภาพคล่องสถาบันยังสูง

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองทิศทางตลาดหุ้นไทยเดือน ม.ค.68 คาดว่า SET Index จะสามารถรีบาวด์ขึ้นมาจากบริเวณ 1360-1380 จุดได้ไม่ยาก โดยการปรับฐานในช่วงที่ผ่านมาถือเป็นเรื่องที่ดีในการลดความร้อนแรงด้าน Valuation ของตลาด หลังจากประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ถูกปรับนำลงมาก่อนหน้านี้

สำหรับการไถ่ถอนกองทุน LTF ที่จะครบกำหนดอายุเดือนนี้ ประเมินจะมีมูลค่าราว 5.5 พันล้านบาท มองว่าแรงไถ่ถอนนี้จะไม่ได้มีอิทธิพลกดดัน SET Index มากนักในภาวะที่สภาพคล่องของนักลงทุนสถาบันในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง ส่วนหนึ่งจากเม็ดเงินกองทุนลดหย่อนภาษีที่เข้ามาในช่วงปลายปี 67

ที่สำคัญ ผลการศึกษาในเชิงปริมาณยังพบว่า SET Index มักเกิดปรากฏการณ์ January effect ในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนนี้ หากใช้ข้อมูลในช่วง 10 ปีหลังสุดจะพบว่าดัชนีให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 1.4%โดยมีผลตอบแทนที่ติดลบเพียงแค่ 2 ปีจาก 10 ปีเท่านั้น

"ในเชิงกลยุทธ์ หากเทียบเคียงระดับดัชนีปัจจุบันที่บริเวณ 1,386 จุด กับระดับกรณีฐานของทรีนีตี้ในปี 68 ที่ 1,455 จุด ต้องบอกว่าระดับ Upside เป็นต่อ Downside แล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงแนะนำให้นักลงทุนที่เพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยบริเวณดัชนี 1370 จุดตามที่แนะนำก่อนหน้านี้ สามารถถือครองหุ้นในส่วนดังกล่าวต่อไปได้"นายณัฐชาต กล่าว

กลุ่มหุ้นที่น่าสนใจในเดือนนี้ มองไปยัง 4 ธีมการลงทุนสำคัญได้แก่

1.กลุ่มค้าปลีกและไฟแนนซ์ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ และมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ได้แก่ AEONTS, CPALL, JMT

2.กลุ่มหุ้นปันผลสูงที่อยู่ในดัชนี SETHD ซึ่งมักจะเป็นดัชนีที่ปรับตัว Outperform ในช่วง 4 เดือนแรกของทุกๆปี ได้แก่ PTT, TISCO

3.กลุ่มหุ้นได้ประโยชน์จากการลงทุนทางตรงของต่างชาติและการลงทุนภาคเอกชนของไทยที่จะฟื้นตัวได้โดดเด่น ได้แก่ WHA

และ 4.กลุ่มหุ้น IFFs และ REITs ที่ได้ประโยชน์จากระดับ Dividend yield gap ที่ยังคงยืนสูงกว่าค่าเฉลี่ย บ่งชี้ถึงความน่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในตราสารที่คล้ายกันอย่างพันธบัตร ได้แก่ DIF, LHHOTEL

ปัจจัยที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ รายงานตัวเลขเงินเฟ้อ CPI ของไทยประจำเดือนธ.ค. ล่าสุดออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดย Headline inflation ขยายตัวเพียง 1.2% YoY และหดตัว 0.2% MoM มองแรงกดดันเงินเฟ้อภายในที่อยู่ค่อนข้างต่ำจะเอื้อให้ธปท.สามารถปรับลดดอกเบี้ยได้ 1 ครั้งภายในไตรมาส 1 นี้

ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่น่าสนใจ ได้แก่ รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯประจำเดือนธ.ค.ในวันที่ 10 ม.ค. หากออกมาแตกต่างจากที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.6 แสนตำแหน่ง อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของคาดการณ์ดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในตลาดได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ