กอง ThaiESG มาแรง! ปี 67 กวาดเม็ดเงินใหม่ถึง 2.8 หมื่นลบ. กองตราสารหนี้ยอดนิยม KASSET ขึ้นนำ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 7, 2025 16:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มอร์นิ่งสตาร์ เปิดเผยว่า กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) แม้จะเป็นกองทุนลดหย่อนภาษีน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในช่วงปลายปี 2567 แต่ก็เป็นกองทุนมาแรงที่ได้รับความนิยมจากนักลงทุนอย่างมาก โดยในปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 53 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงถึง 3.2 หมื่นล้านบาท หรือเติบโตเกือบ 400% จากปี 66 ที่มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพียง 6.5 พันล้านบาทเท่านั้น โดยมียอดเงินไหลเข้าสุทธิในปี 67 สูงถึง 2.8 หมื่นล้านบาท

หากเปรียบเทียบเป็นรายไตรมาส จะเห็นว่าในช่วงต้นปีนั้น ยอดเงินลงทุนในกอง Thai ESG ค่อนข้างเบาบาง อยู่เพียงหลักร้อยล้านเท่านั้น จนกระทั่งในไตรมาส 3 ที่มีการปรับเงื่อนไขการลงทุนของกองทุนให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยมีการลดระยะเวลาการถือครองหน่วยลงทุนลงจากเดิม 8 ปี เหลือเพียง 5 ปี และปรับเพิ่มวงเงินลดหย่อนจากเดิม 1 แสนบาทเป็น 3 แสนบาท จึงทำให้ยอดเงินไหลเข้าในกองทุน Thai ESG เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในไตรมาส 4 ที่มีเงินไหลเข้าสูงถึง 2.5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ บลจ.กสิกรไทย (KASSET) กวาดตำแหน่งผู้นำตลาดในปี 67 โดยมูลค่าทรัพย์สินเติบโตอย่างโดดเด่น และกลายเป็น บลจ. ที่มีทรัพย์สินสุทธิเป็นอันดับ 1 ของอุตสาหกรรมในกลุ่มกองทุน Thai ESG คิดเป็นมูลค่าประมาณ 8.2 พันล้านบาท หรือประมาณ 26% ของตลาดโดยรวม ตามด้วย บลจ.ไทยพาณิชย์ มีมูลค่าทรัพย์สิน 5.9 พันล้านบาท และ อันดับที่ 3 บลจ.บัวหลวง 5.6 พันล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณ 18% และ 17% ตามลำดับ ทั้งนี้ จะเห็นว่าส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างมีความกระจุกตัวใน บลจ.ขนาดใหญ่ โดยหากนับเฉพาะ บลจ. 6 อันดับแรก จะมีสัดส่วนรวมกันเกือบ 91%

นอกจากนี้ ในด้านเงินไหลเข้าสุทธิ บลจ.กสิกรไทยก็ครองตำแหน่ง บลจ. ที่มีเงินไหลเข้าสุทธิมากที่สุดเช่นกัน โดยมีเงินไหลเข้า 7.5 พันล้านบาท ทิ้งห่าง บลจ. อันดับ 2 และ 3 อย่าง บลจ.บัวหลวง และ บลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งมีเงินไหลเข้าใกล้เคียงกันที่ประมาณ 5 พันล้านบาท

*กองทุนตราสารหนี้ครองแชมป์ความนิยม

แม้ว่าสินทรัพย์ที่กองทุน Thai ESG สามารถลงทุนได้จะต้องเป็นสินทรัพย์ในประเทศเท่านั้น แต่สามารถลงทุนได้ทั้งในหุ้นและตราสารหนี้ในประเทศที่เป็นไปตามเกณฑ์การลงทุน ดังนั้น กองทุน Thai ESG ที่เสนอขายในปัจจุบัน จึงมีกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลายทั้งกองทุนตราสารหนี้ กองทุนผสม และกองทุนหุ้น

กองทุนตราสารหนี้ เป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ทั้งในแง่มูลค่าทรัพย์สิน, อัตราการเติบโต และเงินไหลเข้าสุทธิ โดยมี มูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 1.65 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 51% ของตลาด ในขณะที่กองทุนหุ้นมีมูลค่าประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเพียง 35% และมีอัตราการเติบโตต่ำสุดเมื่อเทียบกับกองทุนประเภทอื่นๆ

นอกจากนี้ กองทุนตราสารหนี้ยังมีเงินไหลเข้ามากที่สุดเช่นกัน โดยมีเงินไหลเข้าประมาณ 1.74 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับเงินไหลเข้าทั้งหมดที่ 2.8 หมื่นล้านบาท หรือเป็นสัดส่วนสูงถึง 62% รองลงมาคือ กองทุนหุ้นและกองทุนผสม ซึ่งมีเงินไหลเข้าประมาณ 7.4 พันล้านบาท และ 3.4 พันล้านบาทตามลำดับ

จากความสนใจของนักลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ และความผันผวนในตลาดหุ้นไทยที่ยังคงมีอยู่ ทำให้หลายๆ บลจ. ออกกองทุนตราสารหนี้เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุนอย่างแพร่หลาย โดยในปี 2567 มีกองทุน Thai ESG ออกใหม่ทั้งหมด 23 กองทุน (นับแยกชนิดหน่วยลงทุนเป็น 1 กองทุน) ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ถึง 10 กองทุน รองลงมา คือ กองทุนหุ้นจำนวน 8 กองทุน และกองทุนผสม 5 กองทุน

ในด้านรายกองทุน กองทุนตราสารหนี้ยังครองตำแหน่งกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมเช่นกัน โดยกองทุน KKP GB THAI ESG ของ บลจ.เกียรตินาคินภัทร ซึ่งเป็นกองทุน Thai ESG ประเภทตราสารหนี้กองแรกของไทย นับเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 4.7 พันล้านบาท นอกจากนี้ จาก 5 อันดับแรกของกองทุน Thai ESG ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด พบว่าเป็นกองทุนประเภทตราสารหนี้ถึง 3 กองทุน ในขณะที่กองทุน Thai ESG ที่มีเงินไหลเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก เป็นกองทุนตราสารหนี้ถึง 4 กองทุน ซึ่งกองทุนที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุด คือ กองทุน K-ESGSI-ThaiESG ของ บลจ.กสิกรไทย ซึ่งมีเงินไหลเข้าเกือบ 5 พันล้านบาท รองลงมาคือกองทุน KKP GB THAI ESG ที่มีเงินไหลเข้าประมาณ 4.3 พันล้านบาท

*กองทุนตราสารหนี้ผลตอบแทนสูงสุด

ส่วนหนึ่งของความนิยมในกองทุนตราสารหนี้ อาจมีสาเหตุมาจากผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างมีความแตกต่างจากกองทุนประเภทอื่นๆ โดยในปี 67 กองทุน Thai ESG โดยรวมมีผลตอบแทนเฉลี่ย -3.4% ในขณะที่กองทุนตราสารหนี้สามารถสร้างผลตอบแทนได้เป็นบวก โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 6.4% ในทางตรงกันข้าม กองทุนหุ้นปรับตัวลดลงติดลบมากที่สุดในกลุ่ม โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ย -4.2%

เมื่อพิจารณาผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุน กองทุนตราสารหนี้ก็ยังมีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุด โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยเกือบ 6% ต่อปี ในขณะที่กองทุนหุ้นมีผลตอบแทนเฉลี่ย -5.7% ทำให้ภาพรวมตลาดกองทุน Thai ESG มีผลตอบแทนตั้งแต่จัดตั้งกองทุนประมาณ -2.5% ต่อปี

สำหรับกองทุน Thai ESG ที่มีผลตอบแทนสูงที่สุด 5 อันดับแรกในปี 67 ล้วนมีผลตอบแทนเป็นบวก และประกอบด้วยทั้งกองทุนตราสารหนี้ กองทุนผสม และกองทุนหุ้น อีกทั้งยังมีผลตอบแทนเฉลี่ยตั้งแต่จัดตั้งเป็นบวกทั้งหมดเช่นกัน โดยกองทุน Thai ESG ที่มีผลตอบแทนสูงที่สุด คือ กองทุน KKP GB THAI ESG ของ บลจ.เกียรตินาคินภัทร ที่มีผลตอบแทน 6.4% ซึ่งนับเป็นกองทุนตราสารหนี้กองทุนเดียวที่ติดอันดับ 5 อันดับแรกของกองทุนที่มีผลตอบแทนสูงที่สุด (ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกองทุนตราสารหนี้ส่วนใหญ่เพิ่งมีการจัดตั้งในระหว่างปี 67)

รองลงมา คือ กองทุน K-TNZ-ThaiESG ของ บลจ.กสิกรไทย ซึ่งมีผลตอบแทนประมาณ 3.6% โดยนับเป็นกองทุนหุ้นที่มีผลตอบแทนสูงที่สุด และสามารถสร้างผลตอบแทนได้เป็นบวกแม้ว่าค่าเฉลี่ยผลตอบแทนของกองทุนหุ้นในอุตสาหกรรมจะติดลบ นอกจากนี้ กองทุน SCBTM(ThaiESG) ของ บลจ.ไทยพาณิชย์ นับเป็นกองทุนผสมกองทุนเดียวที่ติดอันดับในกลุ่ม

ถึงแม้ว่าผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของกองทุน Thai ESG จะติดลบ แต่จากภาพข้างต้นแสดงให้เห็นว่าในทุกประเภทสินทรัพย์มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนได้ และเมื่อประกอบกับผลประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีและเงื่อนไขการลงทุนที่ผ่อนคลายลง จึงทำให้กองทุน Thai ESG เป็นหนึ่งในทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนที่กำลังมองหากองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ