INTERVIEW: PQS ลั่นเป้ารายได้ปี 68 พุ่งทะลุ 40% จ่อรับออเดอร์แป้ง Modify เดินแผนสร้างความยั่งยืนวัตถุดิบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 13, 2025 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.พรีเมียร์ ควอลตี้ สตาร์ช [PQS] วางเป้าหมายธุรกิจปี 68 ผลักดันรายได้เติบโตเกินกว่า 40% ตามกำลังการผลิตที่จะเพิ่มเข้ามากว่า 30% พร้อมเริ่มผลิตแป้งมัน Modify สินค้า High Value อัพมาร์จิ้น และจะขึ้นมาเป็นสินค้าสำคัญในอนาคต ลูกค้าจ่อออร์เดอร์หากได้ใบรับรอง Food Safety

พร้อมทั้งวางแผนสร้างความยั่งยืนด้านวัตถุดิบแก้ปมผลผลิตต่อไร่ต่ำด้วย "PQS Eco Park" บนพื้นที่ 250 ไร่สร้างต้นแบบงพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง Secure Supply รวมถึงโครงการธนาคารต้นไม้มีค่า พร้อมร่วมมือโรงเรียนในพื้นที่เปิดหลักสูตรวิชาปลูกมันสำปะหลังให้กับเยาวชน ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกสู่ "Net Zero"ภายในปี 2570

นายรัฐวิรุฬห์ ชาญจึงถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PQS กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจปี 68 คาดรายได้เติบโตไม่น้อยกว่า 40% มาจากกำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มขึ้นราว 30% จากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง (Native Starch) แห่งใหม่ที่ จ.กาฬสินธุ์ นอกจากนี้ คาดจะมีรายได้เพิ่มจากแป้งมันสำปะหลังดัดแปร (Modify Starch) ที่ทำรายได้และอัตรากำไรดีกว่าแป้งมันปะหลัง (Native Starch)

บริษัทอยู่ระหว่างรอใบรับรองผลิตภัณฑ์ Modify Starch โดยเฉพาะด้าน Food Safety คาดว่าจะได้รับในไตรมาส 1/68 หรืออย่างช้าไตรมาส 2/68 จากนั้นลูกค้าทั้งในและต่างประเทศรอเจรจาทำสัญญาซื้อหลายราย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารขั้นสูง อีกทั้งยังมีแผนขอใบรับรองเพิ่มขึ้นเพื่อขยายตลาดให้มีความหลากหลายขึ้น และเมื่อมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นบริษัทจะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตแป้ง Modify ตามคำสั่งซื้อที่เข้ามา

PQS ยอมรับว่าตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดหลักอาจจะได้รับผลกระทบบ้างจากนโยบายกีดกันการค้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ดังนั้น บริษัทจึงได้วางแผนกระจายตลาดส่งออกใหม่ๆ มากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง อาทิ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโต

"ธุรกิจแป้งมันเติบโตได้ต่อเนื่องตามกลุ่มลูกค้าหลัก คือ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ยังมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ยปีละ 2-3% ขณะเดียวกัน ยังต้องติดตามค่าเงินบาทที่จะมีผลต่อผลประกอบการ"นายรัฐวิรุฬห์ กล่าว

นายรัฐวิรุฬห์ กล่าวถึงทิศทางราคาขายแป้งมันสำปะหลังว่า ขณะนี้ราคาชะลอตัวลงไปบ้างในช่วงปลายปีก่อนจนถึงต้นปีนี้เป็นผลจากการผู้ซื้อรายหลักคือจีน ได้นำเข้ามากในช่วงไตรมาส 3/67 คาดว่าหลังตรุษจีน ราคาน่าจะขยับขึ้น เพราะสต๊อกน่าจะใกล้หมด

ทั้งนี้ ตลาดแป้งมันสำปะหลังของ PQS จะเป็นตลาดในประเทศ 30% ตลาดส่งออก 70% โดยในส่วนตลาดส่งออก เป็นตลาดจีน 90%

ปัจจุบัน PQS มีกำลังการผลิตแป้งมันสำปะหลัง 300,000 ตัน/ปี โดยมี 3 โรงงานใน 3 จังหวัดคือ จ.มุกดาหาร จ.สกลนคร และจ.กาฬสินธุ์ โดยแต่ละแห่งมีกำลังการผลิต 100,000 ตัน/ปี ส่วนกำลังการผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปร 150 ตัน/วัน หรือประมาณ 30,000-40,000 ตัน/ปี

สัดส่วนรายได้หลักจากแป้งมันสำปะหลัง 70-80% ส่วนที่เหลือมาจากผลพลอยได้ ได้แก่ กากมันสำปะหลัง , รายได้จากไฟฟ้าชีวมวล แต่ภาพในช่วง 3-5 ปี บริษัทจะเพิ่มรายได้จากจากแป้ง Modify มากขึ้น มากกว่า 50% ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิต หรือจากการเข้าซื้อกิจการ (M&A)

*จัดการวัตถุดิบให้เพียงพอป้อนโรงงานให้ได้ต่อเนื่อง

นายรัฐวิรุฬห์ กล่าวว่า ราคามันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติสูงสุดมาหลายเดือนทั้งฝั่งซื้อและขาย แต่ล่าสุดราคาปรับลดลงตามดีมานด์ของผู้ซื้อ สิ่งที่บริษัททำได้คือการลดต้นทุน โดยในปีนี้เริ่มดำเนินการทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง ลดอัตราความสูญเสียให้น้อยที่สุด รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่บริษัทมีแผนจะลงทุนอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากมันสำปะหลังนับเป็นวัตถุดิบหลักที่สำคัญต่อการผลิต บริษัทจึงได้เข้าไปร่วมมือและให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกร โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ปรับปรุงประสิทธิภาพการปลูก อาทิ การนำกากตะกอนดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ให้แก่เกษตรกรนำไปใช้ปลูกมันสำปะหลัง การร่วมมือเรื่องปุ๋ยและเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรต่ำลง โดยมีข้อตกลงที่ผลผลิตจะต้องนำเข้าโรงงานของ PQS

"วันนี้เรามาพูดคุยเรื่องต้นน้ำ เรื่องความยั่งยืน Impact เรื่องนี้โดยตรงเลย เพราะว่าทำอย่างไรที่จะให้ maintain ตัวปริมาณวัตถุดิบเข้าโรงงานได้ต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นจึงเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของตัวเลขนี้เลย โดยกำลังผลิตแป้งมันสำปะหลัง 100,000 ตัน จะต้องใช้มันสำปะหลัง 4 แสนตัน"

*PQS Eco Park -แหล่งเรียนรู้ สร้างความยั่งยืนให้วัตถุดิบ

นายรัฐวิรุฬห์ กล่าวอีกว่า ระยะหลังได้เห็นสัญญาณว่าผลผลิตมันสำปะหลังต่อไร่ต่ำลง โดยเปอร์เซ็นต์แป้งมีทิศทางลดลง ปัจจัยหลักมาจากระบบนิเวศที่แย่ลง การเก็บเกี่ยวก่อนถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะเห็นว่าได้ราคาดี ลำพังการส่งเสริมการปลูกคงไม่พอที่จะแก้ปัญหา โดยเฉพาะการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น จึงได้ร่วมกับภาคส่วนอื่นรวมเข้ามาดูแลระบบนิเวศของพื้นที่ปลูก ดังนั้นจึงได้จัดตั้งโครงการธนาคารต้นไม้ขึ้นมา

โดยเมื่อปี 66 บริษัทมีแนวคิดพัฒนาใช้ประโยชน์พื้นที่ Secure Supply เพื่อเพาะปลูกมันสำปะหลังของบริษัทเองเพื่อส่งเข้าโรงงาน ขนาดพื้นที่ 250 ไร่ที่ จ.มุกดาหาร เพื่อสร้างต้นแบบด้านความยั่งยืนของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังภายใต้แนวคิด "PQS Eco Park" เน้นการพัฒนาร่วมกับชุมชนในด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกต้นไม้เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติเพื่อสร้างระบบนิเวศ (Eco System) ให้กลับมาสมบูรณ์ โดยร่วมมือภาคีเกษตรกร ชุมชน ภาคเอกชนและภาครัฐ

โครงการธนาคารต้นไม้ของ PQS เป็นการสร้างต้นแบบความยั่งยืนของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง และส่งเสริมความยั่งยืนในระบบเกษตรกรรมและชุมชน บริษัทปลูกต้นไม้ในพื้นที่เพื่อเน้นการฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสร้างแหล่งอาหารตามธรรมชาติให้กับชุมชน นอกจากนี้ ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและช่วยลดผลกระทบจากสภาพอากาศรุนแรง (Climate Change) ช่วยให้พืชไร่สามารถทนต่อสภาพอากาศได้

โดยปัจจุบันเริ่มมีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกในพื้นที่บริเวณใกล้กับที่ตั้งของโรงงานเป็นเฟสแรก เริ่มมีการปลูกป่าเพื่อเป็นแหล่งเงินออม สร้างแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ช่วยลดการพึ่งพิงจากแหล่งอาหารภายนอก และส่งเสริมการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนในชุมชน และเตรียมจัดตั้ง Social Enterprise ร่วมกับสมาชิกกลุ่มธนาคารต้นไม้

ด้านอาหารปลอดภัย PQS มุ่งสร้าง Eco Park เป็นฐานในการพัฒนาระบบเกษตรกรรม นำใช้วัสดุหมุนเวียนจากดินกากตะกอน และทำอาหารสัตว์จาก by products เร่งเตรียมพื้นที่การทำงานเพื่อใช้ประชุม สมาชิก เร่งจัดทำแปลงสาธิต พร้อมกับการขยายจำนวนสมาชิกให้ ครอบคลุมพื้นที่แปลงมันสำปะหลัง เพื่อส่งเสริมสมาชิกให้เข้าร่วมปฏิบัติการกับโครงการ Sojitz สำหรับจัดส่งมันไร่ในพื้นที่ของสมาชิกธนาคารต้นไม้เข้าสู่โรงงาน การจัดการน้ำเหลือจากกระบวนการผลิตแป้ง (effluent) การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อบำบัดน้ำทิ้งจากการผลิตให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้

นายรัฐวิรุฬห์ กล่าวอีกว่า บริษัทได้มีการสร้าความยั่งยืนให้วัตถุดิบของบริษัท และสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตร จึงมีการร่วมกับโรงเรียนคำป่าหลายสรรพวิทย์ เป็นโครงการนำร่อง เปิดหลักสูตรวิชาปลูกมันสำปะหลัง เพื่อปลูกฝังเยาวชนรุ่นหลังให้รู้วิธีแก้ไขปัญหาการเพาะปลูก และการทำการเกษตรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการส่งเสริมอาชีพให้กับเยาวชน

"โครงการปลูกต้นไม้ให้แผ่นดินเพื่อสร้างความยั่งยืน และบริษัทมีเป้าหมายลดการปล่อยการเรือนกระจกสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Net Zero Carbon ภายในปี 2570" นายรัฐวิรุฬห์ กล่าว

https://youtu.be/5Li78XqAlgs


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ