(เพิ่มเติม) ภาวะตลาดหุ้นไทย: แนวโน้มดัชนีเช้าแกว่งขึ้นต่อ รับ Sentiment บวกตปท. จับตาตัวเลข GDP จีน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 16, 2025 09:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน (บลป.) เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้คาดว่าแกว่งตัวขึ้นได้ต่อ รับปัจจัยบวกจากสหรัฐ หลังเมื่อคืนนี้รายงานตัวเลขเงินออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อย และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) สหรัฐปรับตัวลง ทำให้เป็น Sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้น และสินทรัพย์เสี่ยง

ขณะที่ตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียเปิดมาเช้านี้ปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้นสหรัฐเมื่อคืนนี้เช่นเดียวกัน แต่ยังรอติดตามอีกหนึ่งปัจจัยในสัปดาห์นี้ คือ การรายงานจีดีพีของจีนในวันศุกร์นี้ว่าจะออกมาอย่างไร ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางของตลาดหุ้นด้วยเช่นกัน

ให้แนวต้าน 1,360 จุด แนวรับ 1,350 จุด

ประเด็นพิจารณาการลงทุน

  • ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (15 ม.ค.68) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 43,221.55 จุด เพิ่มขึ้น 703.27 จุด หรือ +1.65%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 5,949.91 จุด เพิ่มขึ้น 107.00 จุด หรือ +1.83% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 19,511.23 จุด เพิ่มขึ้น 466.84 จุด หรือ +2.45%
  • ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนีนิกเกอิตลาดหุ้นญี่ปุ่นเปิดที่ระดับ 38,732.65 จุด เพิ่มขึ้น 288.07 จุด หรือ +0.75% ดัชนีฮั่งเส็งตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดที่ระดับ 19,454.92 จุด เพิ่มขึ้น 168.85 จุด หรือ +0.87% และดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนเปิดที่ระดับ 3,239.03 จุด เพิ่มขึ้น 11.91 จุด หรือ +0.37%
  • ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (15 ม.ค.68) ที่ 1,353.17 จุด เพิ่มขึ้น 12.92 จุด (+0.96%) มูลค่าซื้อขาย 44,253.24 ล้านบาท
  • นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ (15 ม.ค.68) 945.38 ล้านบาท
  • ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.พ.(15 ม.ค.68) เพิ่มขึ้น 2.54 ดอลลาร์ หรือ 3.28% ปิดที่ 80.04 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.67
  • ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (15 ม.ค.68) อยู่ที่ 1.36 เหรียญ/บาร์เรล
  • เงินบาทเปิด 34.56 แนวโน้มผันผวนตามทิศทางนโยบายดอกเบี้ยเฟด คาดกรอบวันนี้ 34.45-34.75
  • นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมายไม่เพิ่มงบประจำ ไม่เพิ่มอัตรากำลัง ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพอาจเพิ่มงบลงทุน ย้ำใช้ทุกบาททุกสตางค์คุ้มค่า สำนักงบฯ ขีดเส้นหน่วยงานเสนองบฯปี 69 ไม่เกิน 20% ของวงเงินปีก่อน เน้นโครงการคุณภาพ แย้มใช้เงินสะสมของหน่วยงานและเงินนอกงบประมาณดำเนินโครงการลำดับแรก ปัดตอบมีดิจิทัลวอลเล็ตในงบฯ 69
  • ครม.ไฟเขียวบีโอไอปรับเกณฑ์ LTR Visa เร่งดึงดูดบุคลากรคุณภาพสูงและนักลงทุนระดับโลกเข้าไทย พร้อมปลดล็อก ยกระดับสู่ศูนย์กลาง Talent ระดับโลก
  • หนึ่งในปัญหาที่ทำให้เกิดวิกฤติใน "ตลาดหุ้นไทย" นอกจากสภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่เข้ามารุมเร้าแล้ว การจำนำหุ้นของผู้บริหารในบัญชีมาร์จินก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้ นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทย ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการรื้อเกณฑ์ margin loan ใหม่ โดยคุมเข้มหุ้น IPO ในช่วง 14 วันแรกห้ามให้มาร์จิน ต้องใช้เงินสดเท่านั้น พร้อมปรับลดเพดานปล่อยกู้รวมจากเดิมไม่เกิน 5 เท่าเหลือ 4 เท่า ของผู้ถือหุ้น ปรับเพดานปล่อยกู้ต่อราย จากเดิมไม่เกิน 25% ของ equity เหลือไม่เกิน 20% ใน 2 ปีแรก และไม่เกิน 15% ในปีที่ 3 เป็นต้นไป

หุ้นเด่นวันนี้

  • BJC (ฟินันเซียไซรัส) แนะนำ "ซื้อ" ราคาเป้าหมาย 31 บาท เราประเมินแนวโน้มกำไร 4Q67 จะเร่งตัว q-q จาก High Season ของการใช้จ่าย และคาด SSSG เป็นบวกราว 2% y-y ซึ่งเร่งขึ้น 3Q67 อย่างไรก็ตามกำไรจะลดลง y-y จากฐานสูงปีก่อนจากภาษีจ่ายที่เป็นบวก ซึ่งหากดูที่กำไรก่อนภาษีคาดว่ายังเติบโตได้, คาดกำไรปี 67 เร่งตัวเป็น 5.1 พันล้านบาท +16% y-y และคาดมี Sentiment บวกวันนี้ จากมาตรการ Easy e-Receipt ซึ่ง BJC ได้ประโยชน์ ราคาหุ้นที่ปรับลงทำให้ Valuation ไม่แพง เทรด PBV เพียง 0.7 เท่า และให้ Dividend Yield เกือบ 4%
  • PTTEP (คิงส์ฟอร์ด) ซื้อเก็งกำไร ราคาเป้าหมาย 140.00 บาท ได้รับ sentiment บวกในช่วงสั้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น ตามประเด็นสหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมันของรัสเซียเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมาตรการคว่ำบาตรล่าสุดพุ่งเป้าไปยังบริษัทน้ำมันของรัสเซีย ได้แก่ Gazprom Neft และซูร์กุตเนฟเตกัส (Surgutneftegas) รวมถึงเรือบรรทุกน้ำมัน 183 ลำที่เคยขนส่งน้ำมันรัสเซีย ส่งผลให้ลูกค้าอย่างอินเดียและจีนจะซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียได้ยากขึ้นกว่าเดิมในช่วงแรก
  • MTC (กสิกรไทย) แนะนำ ซื้อ ราคาพื้นฐาน 55.50 บาท เรามีมุมมองเช็งบวกต่อ MTC จากหลายปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ แรงหนุนด้านความเชื่อมั่นจากการปรับลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐหลังตัวเลข Core CPI ต่ำกว่าคาด และคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 68 นอกจากนี้ คาดผลประกอบการไตรมาส 4/67 จะเติบโตทั้งเทียบปีก่อนและไตรมาสก่อน จากการเติบโตของสินเชื่อที่ 15% สำหรับทั้งปี 67 และต้นทุนทางเครดิตที่กลับสู่ภาวะปกติหลังปรับปรุงพอร์ตสินเชื่อ โดยคาดต้นทุนทางการเงินจะเริ่มลดลงตั้งแต่ไตรมาส 3/68 และประเมินว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากมติคณะรัฐมนตรีล่าสุดจะมีผลกระทบจำกัดต่องบการเงิน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ