ฟิทช์ หั่นเครดิต SCGC ลงสู่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเป็นลบ สะท้อนหนี้พุ่งจากโปรเจ็คต์ LSP

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 21, 2025 12:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของโครงการหุ้นกู้ระยะกลาง (Medium-Term Note Program) มูลค่ารวมหนึ่งแสนล้านบาทของ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ [SCGC] เป็น ?A-(tha)? จาก ?A (tha)? แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ

การปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงการประเมินแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจากบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย [SCC] อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A(tha) / แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) ทางด้านความสัมพันธ์เชิงกฎหมาย (Legal Incentive) เป็นระดับต่ำ จากระดับปานกลางตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) หลังจากที่ SCGC ชำระคืนเงินกู้ระยะยาวทั้งหมดจากธนาคารสำหรับโครงการ Long Son Petrochemicals (LSP) ในประเทศเวียดนาม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รับการค้ำประกันโดย SCC และคิดเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับหนี้สินทั้งหมดของ SCGC

ในปัจจุบัน ฟิทช์จัดอันดับเครดิตของ SCGC ในรูปแบบ top-down โดยอันดับเครดิตของ SCGC จะต่ำกว่าอันดับเครดิตของ SCC อยู่หนึ่งอันดับ ซึ่งสะท้อนถึงแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจากบริษัทแม่ทางด้านความสัมพันธ์เชิงกฎหมายในระดับต่ำ ความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Incentive) ในระดับสูง และความสัมพันธ์เชิงการดำเนินงาน (Operational Incentive) ในระดับปานกลาง แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงความท้าทายที่ SCC ต้องเผชิญในการลดอัตราส่วนหนี้สินในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้ฟิทช์ปรับลดสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ SCGC เป็น ?bbb(tha)? จากระดับ ?bbb+(tha)? ซึ่งสะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินที่สูงของบริษัทฯ จากการลงทุนในโครงการ LSP ในขณะที่การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินช้าลง เนื่องจากการฟื้นตัวของกำไรช้ากว่าที่ฟิทช์คาด สถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ ยังสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในฐานะหนึ่งในผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีฐานลูกค้าอยู่ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทแม่อยู่ในระดับที่สูง - ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย(หลังรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมและหักเงินปันผลจ่ายแก่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) หรือ EBITDA net leverage ของ SCC จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.8 เท่า ณ สิ้นปี 2567 (ณ สิ้นปี2566: 6.1 เท่า) เนื่องจากกำไรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการลงทุนประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาทเพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท PT Fajar Surya Wisesa Tbk

ฟิทช์เชื่อว่าการฟื้นตัวของกำไรอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนจะช่วยสนับสนุนให้ EBITDA net leverage ของ SCC ลดลงเหลือประมาณ 5.8 เท่าในปี 2025 และ 4.4 เท่าในปี 2026 อย่างไรก็ตามอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่อ่อนแอกว่าที่ฟิทช์คาดอาจทำให้การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินของ SCC ล่าช้าออกไป ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิต

แรงจูงใจในการสนับสนุนในเชิงกฎหมายในระดับต่ำ - ฟิทช์ประเมินแรงจูงใจของ SCC ในการให้การสนับสนุนทางด้านความสัมพันธ์เชิงกฎหมายแก่ SCGC เป็นระดับต่ำ จากระดับปานกลาง เนื่องจากไม่มีการค้าประกัน หรือเงื่อนไขการผิดนัดไขว้ (Cross Default) ของหนี้ของทั้งสองบริษัท ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก หลังจากที่ SCGC ชำระคืนเงินกู้ระยะยาวทั้งหมดจากธนาคารสำหรับโครงการ LSP วงเงินสินเชื่อดังกล่าวได้รับการค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไข และไม่สามารถยกเลิกได้จาก SCC และคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20-50 ของหนี้ทั้งหมดของ SCGC ในอดีต

แรงจูงใจในการสนับสนุนในเชิงกลยุทธ์ในระดับสูง - แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนในระดับสูงสะท้อนถึงสัดส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ SCGC ต่อ EBITDA รวมของ SCC ที่อยู่ในระดับที่สูงในช่วงกลางของวัฎจักรปิโตรเคมี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดในกลุ่มธุรกิจหลักของ SCC โดยกลุ่มธุรกิจอื่นของ SCC ได้แก่ ธุรกิจซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ และธุรกิจแพคเกจจิ้ง นอกจากนี้ SCGC ยังมีสัดส่วนที่สูงที่สุดในการลงทุนสินทรัพย์ถาวรรวมของกลุ่มและสัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการลงทุนในโครงการ LSP แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนระดับสูงยังสะท้อนถึงการให้การสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมจาก SCC ผ่านการให้เงินให้กู้ยืมระหว่างกันแก่ SCGC ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของหนี้สินทั้งหมดของ SCGC

แรงจูงใจในการสนับสนุนในเชิงการดำเนินงานในระดับปานกลาง - ฟิทช์พิจารณาว่าแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจากโครงสร้างการบริหารและการใช้แบรนด์สินค้าร่วมกัน (Management and Brand Overlap) จาก SCC ต่อ SCGC อยู่ในระดับสูง โดย SCC มีบทบาทในการกำหนดและประสานการบริหารในบริษัทย่อยหลักๆ รวมถึง SCGC ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับกลุ่มและมีการใช้แบรนด์ของกลุ่มร่วมกันในนาม "SCG" ในทุกกลุ่มธุรกิจหลัก อย่างไรก็ตาม ฟิทช์พิจารณาว่าความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงานร่วมกัน (Operational Synergies) ระหว่าง SCC และ SCGC อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากธุรกิจหลักในกลุ่มของ SCC เป็นธุรกิจที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ประโยชน์ในด้านการลดต้นทุนการดำเนินงานที่บริษัทแม่ได้รับจาก SCGC มีไม่มากนัก ซึ่งเป็นปัจจัยลดทอนความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงานโดยรวมให้อยู่ที่ระดับปานกลางตามเกณฑ์การพิจารณาของฟิชท์

อัตราส่วนหนี้สินที่สูงกดดันสถานะเครดิตโดยลำพัง - ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน EBITDA net leverage ของ SCGC จะยังคงอยู่ในระดับสูงมากระหว่างปี 2567-2568 เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ยังคงอ่อนแอ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวจะลดลงไปที่ประมาณ 9.9 เท่า ในปี 2569 จากส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ค่อยๆ ฟื้นตัว แผนกลยุทธ์ทางเลือกในการลดหนี้สินของ SCGC รวมถึงการขายสินทรัพย์ ซึ่งอาจเพิ่มความยืดหยุ่นในการลดหนี้สินได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามการขายสินทรัพย์ดังกล่าวนี้ยังไม่ได้ถูกนำมารวมในประมาณการของฟิทช์เนื่องจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในการดำเนินการ

ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงอยู่ในระดับต่ำ - ฟิทช์คาดการณ์อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของ SCGC จะอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 2 ในปี 2568 และร้อยละ 6 ในปี 2569 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่ามาก เมื่อเทียบกับ EBITDA Margin เฉลี่ยของช่วงกลางวัฏจักรก่อนเกิดสภาวะที่ตกต่ำของวัฏจักรปิโตรเคมีในปัจจุบันที่ระดับประมาณร้อยละ 14 ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีฟื้นตัวช้ากว่าที่ฟิทช์คาดไว้ก่อนหน้านี้ปัจจุบัน ฟิทช์คาดว่าส่วนต่างราคาจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ฟิทช์เชื่อว่าสถาณการณ์ส่วนต่างราคาที่ตกต่ำเป็นเวลานานจนถึงปี 2567 จะชะลอการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ และเร่งการปรับลดกำลังการผลิตทั่วโลก

LSP หยุดการผลิตชั่วคราว ? ฟิทช์คาดว่าโครงการ Long Son Petrochemicals (LSP) น่าจะยังคงหยุดดำเนินการในปี 2568 เกือบทั้งปี เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีน่าจะยังคงอ่อนแอ ฟิทช์คาดว่า LSP จะเริ่มกลับมาดำเนินการในปี 2569 เมื่อส่วนต่างราคาดังกล่าวฟื้นตัวอยู่ในระดับที่เหมาะสม ในช่วงเวลานี้ SCC จะให้ความสำคัญกับโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการใช้ก๊าซอีเทนเป็นวัตถุดิบของ LSP ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนและความยืดหยุ่นในการใช้วัตถุดิบในการผลิตได้ในระยะยาว SCC ได้ประกาศแผนการลงทุนดังกล่าวนี้ ซึ่งรวมถึงการสร้างระบบการจัดการและถังเก็บรักษาวัตถุดิบก๊าซอีเทนด้วยงบลงทุนรวมประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2568-2570

สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่ง - สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC ได้รับการสนับสนุนจากสถานะความเป็นผู้นำตลาดทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย SCGC มีกำลังการผลิตใหญ่เป็นอันดับสองในกลุ่มสินค้าพอลิโอเลฟินส์และใหญ่ที่สุดในกลุ่มสินค้าพีวีซี (คำนวณตามสัดส่วนการถือหุ้น) ในประเทศไทยและกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิทช์คาดว่าสถานะทางการตลาดของ SCGC จะแข็งแกร่งขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า จากโครงการ LSP ซึ่งเป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตพอลิโอเลฟินส์ให้กับบริษัทฯ ซึ่งจะส่งผลให้ SCGC มีสถานะเป็นผู้ผลิตพอลิโอเลฟินส์รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

ฟิทช์พิจารณาเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่าง SCC กับ SCGC อยู่ในระดับสูงกว่าความสัมพันธ์ระหว่าง SCC กับบริษัทย่อยอีกบริษัทหนึ่ง ได้แก่ บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) (SCGP, อันดับเครดิต ?A(tha)?, แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) เนื่องจาก SCGC มีความสัมพันธ์ในเชิงกลยุทธ์ต่อบริษัทแม่อยู่ในระดับสูงกว่า จากสัดส่วน EBITDA ของ SCGC ต่อ EBITDA รวมของกลุ่มในช่วงกลางของวัฏจักรปิโตรเคมี และสัดส่วนการลงทุนใน SCGC ต่อการลงทุนรวมของกลุ่มที่อยู่ระดับที่สูงกว่าสัดส่วนดังกล่าวใน SCGP เป็นอย่างมาก

สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC ต่ำกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังสถานะเครดิตโดยลำพังของ บมจ.ไทยออยล์ [TOP] อันดับเครดิต ?A+(tha)? แนวโน้มเครดิตเป็นลบ, สถานะเครดิตโดยลำพัง ?a-(tha)? ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีกระบวนการกลั่นน้ำมันที่มีความคอมเพล็กซ์มากที่สุดในประเทศไทยอยู่สองอันดับ ซึ่งสะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่ามากของ SCGC และสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าของ TOP โดยทั้งสองบริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในอุตสาหกรรมที่แต่ละบริษัทดำเนินงานและเผชิญกับอุตสาหกรรมที่มีความผันผวนของการกลั่นและเคมีภัณฑ์ แต่ TOP มีการกระจายผลิตภัณฑ์และธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้นในด้านการกลั่นและพลังงานหมุนเวียน อย่างไรก็ตาม TOP มีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความล่าช้าในการพัฒนาโครงการขยายโรงกลั่น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าในกระแสเงินสดจากโครงการและค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่เพิ่มขึ้นที่จำเป็นในการดำเนินการเพื่อให้เสร็จสมบูรณ์ ความเสี่ยงดังกล่าวนี้ได้ถูกสะท้อนใน แนวโน้มเครดิตเป็นลบของบริษัทฯ

สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGC เท่ากันกับสถานะเครดิตโดยลำพังของ บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด (HMC,อันดับเครดิต ?BBB+(tha)? แนวโน้มเครดิตเป็นลบ; สถานะทางเครดิตโดยลำพัง ?bbb(tha)?) ซึ่งเป็นผู้ผลิตพอลิโพรพิลีนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ SCGC มีขนาดของธุรกิจที่ใหญ่กว่า มีการผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่า และดำเนินธุรกิจในภูมิภาคที่หลากหลายกว่า HMC อย่างไรก็ตามอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่าของ HMC ช่วยชดเชยสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า และส่งผลให้สถานะเครดิตโดยลำพังของ HMC เท่ากันกับ SCGC ทั้งนี้ HMC มีความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าซึ่งสะท้อนในแนวโน้มเครดิตเป็นลบ

สมมติฐานที่สำคัญ

สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • กำไรของธุรกิจปิโตรเคมียังคงอยู่ในระดับต่ำจนถึงปี 2569 เป็นอย่างน้อย เนื่องจากกำลังการผลิตใหม่และการเติบโตของอุปสงค์ที่ช้า จะยังคงกดดันส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับวัตถุดิบ
  • รายได้เพิ่มขึ้นในอัตราประมาณร้อยละ 6-10 ในปี 2567-2568 (ปี 2566 ลดลงร้อยละ 19) จากการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของอุปสงค์สำหรับผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และประมาณร้อยละ 32 ในปี 2569 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการกลับมาเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการ LSP
  • EBITDA Margin อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 2-6 ในปี 2568-2569
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน ประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2567-2569

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยลบ:

  • แรงจูงใจในการสบับสนุน SCGC ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
  • การปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCC

ปัจจัยบวก:

  • แนวโน้มอันดับเครดิตอาจกลับมามีเสถียรภาพหากแนวโน้มอันดับเครดิตของ SCC กลับมามีเสถียรภาพ โดยที่แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก SCC ต่อ SCGC ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

สำหรับอันดับเครดิตของ SCC ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตได้แสดงในรายงานอันดับเครดิตของฟิทช์ดังนี้

ปัจจัยลบ:

  • บริษัทฯ ไม่สามารถทำตามปัจจัยบวกข้างต้นได้

ปัจจัยบวก:

  • แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับกลับมาเป็นมีเสถียรภาพได้ หากบริษัทฯ สามารถลด EBITDA net leverage ลงมาอยู่ในระดับประมาณ 4.5 เท่าได้ภายในปี 2569

สภาพคล่อง

SCGC มีหนี้สินที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2568 จำนวน 1.3 แสนล้านบาท โดยร้อยละ 41 เป็นเงินกู้ยืมจาก SCC ฟิทช์คาดว่าเงินกู้ยืมระยะสั้นของ SCGC จำนวน 3.6 หมื่นล้านบาท จะสามารถเบิกเงินกู้ใหม่หมุนเวียนทดแทนเงินกู้เดิมได้ในการดำเนินธุรกิจตามปกติ อย่างไรก็ตามเงินสดและเงินลงทุนที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด (ตามการปรับปรุงตัวเลขของฟิทช์) จำนวนประมาณ 6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2568 ไม่เพียงพอสำหรับการชำระคืนเงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า จำนวน 3.9 หมื่นล้านบาท

ฟิทช์คาดว่า SCC จะยังคงให้เงินกู้ยืมระหว่างกันเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้ SCGC มีสภาพคล่องที่เพียงพอ นอกจากนี้สภาพคล่องของบริษัทฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากวงเงินหมุนเวียนจากสถาบันการเงินที่สามารถเพิกถอนได้และยังไม่ได้เบิกใช้ เนื่องจากบริษัทฯมีความสามารถที่แข็งแกร่งในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ผ่านตลาดทุนและสถาบันการเงินในฐานะหนึ่งในกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ