บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย [SCC] เป็น "ลบ" จาก "มีเสถียรภาพ" ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ฯ ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของ SCC ที่ ?A(tha)? และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ ?F1(tha)?
แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของ SCC สะท้อนถึงความเสี่ยงที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (หลังรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมและหักเงินปันผลจ่ายแก่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) หรือ EBITDA net leverage ของ SCC อาจยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 4.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต หลังจากปี 2568 ฟิทช์คาดว่า EBITDA net leverage ของ SCC จะยังคงอยู่ในระดับสูง ที่ประมาณ 6 เท่า ถึง 7 เท่า ในปี 2568 เนื่องจากกระแสเงินสดจากธุรกิจเคมิคอลส์ยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่อง
ฟิทช์คาดการณ์ว่า EBITDA net leverage ของบริษัทฯจะลดลงต่ำกว่า 4.5 เท่าภายในสิ้นปี 2569 และจะลดลงต่อไปหลังจากนั้น จากการลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนและการฟื้นตัวของกระแสเงินสด อย่างไรก็ตาม อุปสงค์และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่อ่อนแอกว่าที่คาด จากการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการมีอุปทานล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯล่าช้าออกไป
อันดับเครดิตของ SCC สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจหลักของบริษัทฯ ได้แก่ กลุ่มสินค้าปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (โพลีโอเลฟินส์และพีวีซี) และกระดาษบรรจุภัณฑ์ ในประเทศไทยและหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระแสเงินสดที่แข็งแกร่งของ SCC จากธุรกิจอื่นๆนอกเหนือจากธุรกิจเคมิคอลส์ จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินให้กับ SCC ในการรับมือกับสภาวะที่ตกต่ำของวัฏจักรปิโตรเคมี
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับที่สูง และลดลงช้า - ฟิทช์คาดว่าการฟื้นตัวของกำไรอย่างค่อยเป็นค่อยไป และการลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนจะช่วยสนับสนุนให้ EBITDA net leverage ของ SCC ลดลงเหลือประมาณ 5.8 เท่าในปี 2568 และ 4.4 เท่าในปี 2569 จากระดับ 6.8 เท่า ณ สิ้นปี 2567 (ณ สิ้นปี2566: 6.1 เท่า) อัตราส่วนหนี้สินในระดับสูงเป็นผลจาก กำไรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการลงทุนประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาทเพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท PT Fajar Surya Wisesa Tbk
อย่างไรก็ตามอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่อ่อนแอกว่าที่ฟิทช์คาดอาจทำให้การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯล่าช้าออกไป ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิต บริษัทฯ กำลังจัดทำแผนกลยุทธ์ทางเลือกในการลดหนี้สิน รวมถึงการขายสินทรัพย์ ฟิทช์เชื่อว่า SCC มีแนวโน้มสูงที่จะดำเนินการขายสินทรัพย์ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งอาจเพิ่มความยืดหยุ่นในการลดหนี้สินได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามการขายสินทรัพย์ดังกล่าวนี้ยังไม่ได้ถูกนำมารวมในประมาณการของฟิทช์เนื่องจากความไม่แน่นอนและความเสี่ยงในการดำเนินการ
ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงอยู่ในระดับต่ำ ? ฟิทช์คาดการณ์อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของธุรกิจเคมิคอลส์จะอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 2 ในปี 2568 และร้อยละ 6 ในปี 2569 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับ EBITDA Margin เฉลี่ยของช่วงกลางวัฏจักรก่อนเกิดสภาวะตกต่ำของวัฏจักรปิโตรเคมีในปัจจุบันที่ระดับประมาณร้อยละ 14 ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีฟื้นตัวช้ากว่าที่ฟิทช์คาดไว้ก่อนหน้านี้ ปัจจุบัน ฟิทช์คาดว่าส่วนต่างราคาจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2568 เป็นต้นไป ฟิทช์เชื่อว่าสถาณการณ์ส่วนต่างราคาที่ตกต่ำเป็นเวลานานจนถึงปี 2567 จะชะลอการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ และเร่งการปรับลดกำลังการผลิตทั่วโลก
โครงการปิโตรเคมีหยุดการผลิตชั่วคราว ? ฟิทช์คาดว่าโครงการ Long Son Petrochemicals (LSP) น่าจะยังคงหยุดดำเนินการในปี 2568 เกือบทั้งปี เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีน่าจะยังคงอ่อนแอ ฟิทช์คาดว่า LSP จะเริ่มกลับมาดำเนินการในปี 2569 เมื่อส่วนต่างราคาดังกล่าวฟื้นตัวอยู่ในระดับที่เหมาะสม ในช่วงเวลานี้ SCC จะให้ความสำคัญกับโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการใช้ก๊าซอีเทนเป็นวัตถุดิบของ LSP ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนและความยืดหยุ่นในการใช้วัตถุดิบในการผลิตได้ในระยะยาว SCC ได้ประกาศแผนการลงทุนดังกล่าวนี้ ซึ่งรวมถึงการสร้างระบบการจัดการและถังเก็บรักษาวัตถุดิบก๊าซอีเทน ด้วยงบลงทุนรวมประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาทในระหว่างปี 2568-2570
การลดค่าใช้จ่ายลงทุน ? ฟิทช์เชื่อว่า SCC มีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน และสามารถชะลอการลงทุนขนาดใหญ่ นอกเหนือจากโครงการเพิ่มวัตถุดิบการผลิตเพื่อรองรับก๊าซอีเทนของ LSP ในช่วงที่สภาวะตลาดยังอ่อนแอและอัตราส่วนหนี้สินยังคงสูง ดังนั้นฟิทช์ประมาณการค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่ประมาณ 3.0 หมื่นล้านบาทในปี 2568-2569 ซึ่งลดลงจาก 3.4 หมื่นล้านในปี 2567 ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนส่วนใหญ่จะถูกใช้ในการบำรุงรักษาและการปรับปรุงประสิทธิภาพ รวมไปถึงการลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของ SCC
การกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้น ? ฟิทช์คาดว่ารายได้จากนอกประเทศไทย ทั้งในส่วนของฐานการผลิตในต่างประเทศและการส่งออก จะสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อกระแสเงินสดจากโครงการ LSP เริ่มมีความมั่นคง LSP เป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะรองรับการเติบโตของความต้องการพอลิเมอร์ภายในประเทศซึ่งในปัจจุบันยังคงพึ่งพาจากการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ SCC มีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆทั่วโลก นอกเหนือจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 19 ของรายได้รวมในปี 2566 โดยสัดส่วนดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากโครงการ LSP จะส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในสัดส่วนที่มาก
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
SCC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง [SCCC] อันดับเครดิต ?A(tha)? เครดิตพินิจภายใต้การพิจารณา ซึ่งอยู่ในธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเช่นเดียวกัน โดย SCC มีส่วนแบ่งทางการตลาดของปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงกว่า มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า รวมถึงมีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และการกระจายความเสี่ยงของกระแสเงินสดจากหลากหลายธุรกิจกว่า อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งทางสถานะทางธุรกิจที่สูงกว่า ได้ถูกลดทอนจากอัตราส่วนหนี้สินของ SCC ที่สูงกว่า SCCC ทำให้อันดับเครดิตของ SCC และ SCCC อยู่ในระดับเดียวกัน แนวโน้มเครดิตเป็นลบของ SCC สะท้อนถึงความเสี่ยงที่อัตราส่วนหนี้สินอาจยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วงสองปีข้างหน้า เครดิตพินิจภายใต้การพิจารณาของ SCCC สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ SCCC ต่ออันดับเครดิตของ SCCC ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology)
เมื่อเปรียบเทียบกับ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล [PTTGC] อันดับเครดิต ?BBB?, ?AA(tha)? แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ, สถานะเครดิตโดยลำพัง ?a+(tha)? ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCC มีการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจอื่นที่หลากหลายกว่า ทำให้ SCC มีความเสี่ยงต่อความผันผวนของธุรกิจปิโตรเคมีที่น้อยกว่า PTTGC มีสถานะเครดิตโดยลำพังที่สูงกว่าอันดับเครดิตของ SCC อยู่หนึ่งอันดับ เนื่องจาก PTTGC มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า
SCC มีอันดับเครดิตสูงกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ บมจ.ไทยออยล์ [TOP] อันดับเครดิต ?A+(tha)? แนวโน้มเครดิตเป็นลบ, สถานะเครดิตโดยลำพัง ?a-(tha)?) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีกระบวนการกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์และเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่หนึ่งอันดับ ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของ SCC ที่ดีกว่า SCC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่า และมีการกระจายความเสี่ยงของกระแสเงินสดจากหลากหลายธุรกิจกว่า โดยทั้งสองบริษัทมีฐานะทางการเงินที่ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม TOP มีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความล่าช้าในการพัฒนาโครงการขยายโรงกลั่น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าในกระแสเงินสดจากโครงการและค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่เพิ่มขึ้นที่จำเป็นในการดำเนินการเพื่อให้เสร็จสมบูรณ์ ความเสี่ยงดังกล่าวนี้ได้ถูกสะท้อนใน แนวโน้มเครดิตเป็นลบของบริษัทฯ
สมมติฐานที่สำคัญ
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้รวมเพิ่มขึ้นในอัตราประมาณร้อยละ 2 ในปี 2567 ร้อยละ 6 ในปี 2568 และร้อยละ 15 ในปี 2569 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการกลับมาเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการ LSP (ปี 2566 ลดลงร้อยละ 12.3)
- EBITDA Margin ยังคงอ่อนแออยู่ที่ระดับร้อยละ 6 ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7-9 ต่อปี ในปี 2568-2569 จากการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และการฟื้นตัวของราคาขายบรรจุภัณฑ์
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน ประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาทในปี 2567 และประมาณ 3.0 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2568-2569
- อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ประมาณร้อยละ 40 ในปี 2568-2569
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยลบ:
- บริษัทฯ ไม่สามารถทำตามปัจจัยบวกได้
ปัจจัยบวก:
- แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับกลับมาเป็นมีเสถียรภาพได้ หากบริษัทฯ สามารถลด EBITDA net leverage ลงมาอยู่ในระดับประมาณ 4.5 เท่าได้ภายในปี 2569
สภาพคล่อง
SCC มีหนี้สินที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2568 จำนวนประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 8.6 หมื่นล้านบาท เงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 6.1 หมื่นล้านบาท ฟิทช์เชื่อว่าเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจะสามารถเบิกเงินกู้ใหม่หมุนเวียนทดแทนเงินกู้เดิมได้ เนื่องจากบริษัทฯ มีระดับเงินทุนหมุนเวียนที่มั่นคง สภาพคล่องของ SCC ยังได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและเงินลงทุนที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด (ตามการปรับปรุงตัวเลขของฟิทช์) จำนวนประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2567 และความสามารถที่จะเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ในประเทศ และแหล่งเงินกู้จากธนาคาร ในฐานะหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ