ศาลยกคำร้องขอแก้แผนฟื้นฟู THAI ให้เดินหน้าลดพาร์ล้างขาดทุนได้/เบรกเพิ่มผู้บริหารแผน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 21, 2025 11:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลล้มละลายกลางกลาง มีคำสั่งไม่เห็นชอบคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย [THAI] ตามมติที่ประชุมประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 29 พ.ย.67 ทำให้ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีอำนาจในการลดทุนจดทะเบียนด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) เพื่อล้างขาดทุนสะสม และการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเป็นขอบเขตอำนาจของผู้บริหารแผนฯ โดยไม่กระทบสิทธิของเจ้าหนี้

อีกทั้งศาลฯ เห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มผู้บริหารแผน เพราะอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการและเพิ่มค่าใช้จ่ายที่กำหนดจ่ายให้ผู้บริหารแผนปีละ 5 ล้านบาท/คน รวมถึงผู้บริหารแผนที่มีอยู่ 3 คนในปัจจุบันสามารถบริหารแผนฟื้นฟูกิจการมาด้วยดี

ศาลฯ เห็นว่าตามคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ หลังปรับโครงสร้างทุน การบินไทยยังประสบปัญหาขาดทุนสะสมจำนวนมาก โดย ณ วันที่ 30 มิ.ย. 67 มีขาดทุนสะสม 73,129 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนสะสมมานานกว่า 6 ปีก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯ ในปี 63 และคาดการณ์ว่าหลังเสร็จสิ้นการแปลงหนี้เป็นทุน การเพิ่มทุน รวมถึงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักแล้ว การบินไทยจะต้องรับรู้ผลขาดทุนทางบัญชีที่เกิดจากรายการปรับกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้และขาดทุนจากส่วนต่างราคาแปลงหนี้เป็นทุน และมูลค่ายุติธรรมอีกเป็นจำนวนปประมาณ 4-8.5 หมื่นล้านบาทในงบการเงินสิ้นสุดเดือน ธ.ค.67 แม้ส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบวก แต่จะมีผลขาดทุนทางบัญชีจะยิ่งทำให้มีผลขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้น หากไม่มีการลดขาดทุนสะสม แม้จะปรับโครงสร้างทุนแล้ว การบินไทยจะไม่มีโอกาสจ่ายเงินปันผลอีกหลายปีภายหลังออกจากแผนฟื้นฟูฯ และกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)

การลดทุนเป็นวิธีการบริหารเงินทุนของบริษัทที่เหมาะสมเพื่อให้มีโครงสร้างทุนมีความแข็งแกร่ง ซึ่งศาลฯ ได้เคยมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.64 ให้อำนาจผู้บริหารแผนฯ ลดทุนจดทะเบียน ด้วยการลดหุ้นเพิ่มทุนส่วนที่ไม่มีการเสนอขาย ตามด้วยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) เพื่อล้างขาดทุนสะสมทางบัญชี ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผลได้เร็วขึ้น และเป็นอำนาจของผู้บริหารแผนฯ ที่จะดำเนินการได้ เพื่อให้แผนฟื้นฟูฯ สำเร็จ

การที่ผู้บริหารแผนจะลดทุนด้วยการลดพาร์จาก 10 บาท/หุ้นเป็นจำนวนที่ผู้บริหารแผนเห็นเหมาะสม เป็นไปตามกฎหมายให้อำนาจอยู่แล้ว ซึ่งไม่กระทบสิทธิของเจ้าหนี้ที่ยังได้รับการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูฯ ทั้งนี้ การขอแก้ไขแผนฟื้นฟูเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการลดพาร์และจ่ายเงินปันผลนั้น ศาลเห็นว่าเป็นอำนาจของผู้บริหารแผนฯ ที่จะกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการจ่ายเงินปันผลโดยไม่กระทบสิทธิของเจ้าหนี้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ

ส่วนคำร้องขอเพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 คน คือนายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นข้อเสนอจากกระทรวงการคลังที่ รมว.คลังเห็นชอบ เนื่องจากเห็นว่าช่วงเวลาที่เหลือของการบริหารแผนต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ และการบินไทยต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถเชื่อมโยงกับผู้ถือหุ้น เพื่อให้การฟื้นฟูฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

แต่ศาลฯ เห็นว่าเมื่อวันที่ 21 ต.ค.65 นายไกรสร บารมีอวยชัย และ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ได้ลาออกจากผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ การบินไทยจึงเหลือผู้บริหารแผนฯ 3 คน คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร และนายพรชัย ฐีระเวช มีอำนาจดำเนินการตามแผนฟื้นฟู มาจนถึงปัจจุบันและเมื่อพิจารณารายงานผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/65 จนถึงไตรมาส 4/66 ปรากฎว่าสามารถดำเนินการตามสาระสำคัญของแผน ไม่ปรากฎความบกพร่อง และเมื่อพิจารณาว่าหากเพิ่มผู้บริหารแผน 2 คนอาจทำให้กระบวนการยุ่งยากในทางปฏิบัติ และเกิดความล่าช้า อีกทั้งผู้บริหารแผน 2 คนที่จะเพิ่มเข้ามาอยู่ในหน่วยงานของรัฐอาจจะทำให้ไม่คล่องตัว และยังเป็นการเพิ่มรายจ่ายของบริษัทที่จะต้องจ่ายค่าตอบแทนปีละ 5 ล้านบาท/คน เพราะการที่ผู้บริหารแผนลดลงเหลือ 3 คนช่วยลดค่าตอบแทนลงเกือบครึ่ง และการลดค่าใช้จ่ายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แผนฟื้นฟูฯ เป็นไปด้วยดี ประกอบกับการดำเนินการแผนฟื้นฟูฯ เข้าเป็นปีที่ 4 ก็สามารถทำตามสาระสำคัญได้และได้ชำระหนี้ได้ตามแผน อีกทั้งการบินไทยใกล้จะยกเลิกการฟื้นฟูฯ แล้ว ดังนั้นการเพิ่มผู้บริหารแผนจึงไม่มีความจำเป็น

ด้านนายประชา คุณธรรมดี หนึ่งในกรรมการเจ้าหนี้ กล่าวว่า พอใจผลการตัดสินของศาลฯ และไม่ต้องประชุมเจ้าหนี้อีกแล้ว ทั้งนี้การลดพาร์เพื่อล้างขาดทุนสะสมเป็นอำนาจผู้บริหารแผนที่ทำได้ ซึ่งกำหนดไว้ในแผนฟื้นฟู ที่แก้ไขฉบับที่ 1 และ 2 รวมถึงการจ่ายเงินปันผลก็ทำได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการเจ้าหนี้จะมีการประชุมต้นเดือน ก.พ. นี้เพื่อรายงานผลการพิจารณาของศาลฯวันนี้

ส่วนการแต่งตั้งกรรมการ THAI ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำรายชื่อผู้ที่เหมาะสม โดยจะคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ โดยเบื้องต้นอาจจะมีจำนวนกรรมการไม่เกิน 11 คน โดย 1 ใน 3 จะเป็นกรรมการอิสระ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กระทรวงการคลังและพันธมิตรมีสัดส่สนถือหุ้น THAI ราว 50%มีโอกาสได้ที่นั่งกรรมการข้างมาก ส่วนอีกฝั่ง 50% ผู้ถือหุ้นรายย่อยมากกว่า การรวมตัวกันยาก อย่างไรก็ดี ผู้ถือหุ้นฝ่ายเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ที่มีสัดส่วนเกิน 5% มีสิทธิเสนอกรรมการ 1 คน คือสหกรณ์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

นายขาญศิลป์ ตรีนุชกรม ผู้บริหารแผนฟื้นฟู THAI กล่าวว่า ผู้บริหารแผนให้ฝ่ายบริหาร เสนอรายชื่อกรรมการใหม่ คาดจะได้รับต้นเดือนก.พ.68 และก็จะนำเข้าสู่การพิจารณาคณะผู้บริหารแผน ในเดือน ก.พ. เพื่อเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในช่วงเม.ย.68 ทั้งนี้ การบินไทย จะไม่กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจตามเงื่อนไขแผนฟื้นฟูกิจการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ