มองมุมต่าง: ดีล Big Lot รายละเอียดที่ผู้บริหาร บจ.ไม่ควรมองข้าม

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 23, 2025 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การขายหุ้นโดยผ่านการทำรายการ Big Lot ให้ประสบความสำเร็จมีความคล้ายคลึงที่ไม่ต่างจากการขายหุ้นไอพีโอ ดังนี้

1. การกำหนดราคา (Pricing) ที่มีการยอมรับระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายที่ตรงกัน และเป็นราคาเดียวกัน หากมีการโยน Big Lot ให้กับหลายกลุ่ม

การกำหนดราคาขาย Big Lot ของหุ้นแต่ละตัว ส่วนใหญ่จะเป็นราคาที่มีส่วนลด (Discount) ให้กับผู้ซื้อ ซึ่งสัดส่วนขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยจะต้องตกลงกันที่ราคาเดียวกันทั้งรายการ Big Lot

"จะไม่มีการให้ discount ที่ไม่เท่ากัน ในการทำรายการ Big Lot 1 รายการ เพราะมีความเสี่ยงที่ดีลอาจเคลื่อน (ล้ม) ได้"

การทำดีล Big Lot ให้ประสบความสำเร็จ ถือเป็นเรื่องของการใช้ศาสตร์และศิลป์ของ Sales รายนั้นๆ ที่จะต้องใช้ความสามารถในการดีลระหว่างหุ้นที่ดีกับผู้ซื้อที่ดี

ลักษณะที่เป็นการทำรายการ Big Lot ที่ดี คือ ราคาหุ้นจะต้องนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวแบบหวือหวาก่อนทำรายการ อย่างน้อย 4-5 วันทำการ

การลากหุ้นขึ้นไปให้ราคาสูงขึ้นล่วงหน้าก่อนจะมีการตกลงขาย Big Lot และให้ราคา discount 5-10% แบบนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ แม้จะถือเป็นการกระทำที่ผู้ขายคิดว่า "ฉลาด" แต่ในความจริงแล้ว ผู้ซื้อกับ Sales ก็ไม่ได้โง่ และมองเห็นสิ่งที่ผู้ขายว่ากำลังทำอะไรอยู่

การดีลกับผู้ซื้อจะต้องเป็นความลับ (Confidential) และต้องมีจำนวนน้อยราย หรือเพียงแค่รายเดียว

การไปเที่ยวเหวี่ยงแห หาคนซื้อในตลาดมากราย มันจึงกลายเป็นเรื่องง่ายของการแพร่กระจายของความลับ พอความลับตกไปถึงมือผู้ถือหุ้นรายอื่น คงไม่ต้องรอคำตอบเลยว่าจะทำอย่างไรกับหุ้นที่ตนเองถืออยู่ในมือ เนื่องจากหุ้นจำนวนมากจะถูกเทออกมาในกระดาน ซึ่งจะมีผลต่อราคาหุ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะยิ่งเมื่อราคาขายหุ้น Big Lot ต่ำกว่าราคาปิดครั้งล่าสุดก่อนทำรายการ

2. ความต้องการที่มีเสนอเข้ามา (Demand)

การทำดีลขายหุ้นแบบ Block หรือ Big Lot นั้น ผู้ขายจำเป็นต้องประเมิน Demand หรือความต้องการซื้อหุ้นในตลาดอย่างรอบคอบก่อนที่จะดำเนินการ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความผิดพลาดเชิงกลยุทธ์ และความไม่รอบคอบของผู้ทำดีล

การทำดีลในลักษณะนี้ ความสำคัญไม่ได้อยู่เพียงแค่ "ขายได้ และการได้ค่าธรรมเนียม (Fee)" แต่ต้องมั่นใจว่าความต้องการซื้อในตลาดมีเพียงพอ เพื่อไม่ให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ เสียหาย ยิ่งถ้าในกรณีของปริมาณหุ้นที่เสนอขายในเอกสารมีมากกว่าปริมาณหุ้นที่สามารถขายได้จริงในดีล Big Lot เกือบเท่าตัว ยิ่งเป็นตัวกดดันที่ทำให้มีผลต่อราคาหุ้นในกระดาน

เหตุการณ์นี้ แสดงให้เห็นว่า Demand ที่แท้จริงในตลาดมีไม่เพียงพอ แต่ผู้ขายยังคงดึงดันดำเนินดีลต่อไป ผลลัพธ์คือความล้มเหลวในทันทีที่ตลาดเปิด ซึ่งสะท้อนถึงการประเมินผลลัพธ์ที่ผิดพลาด และขาดความรอบคอบความรับผิดชอบอย่างชัดเจน

ในบริบทของการเสนอขายหุ้น IPO หลักการก็ใกล้เคียงกันมาก ผู้ทำดีลจำเป็นต้องมี Demand ในมือ และต้องสามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ได้อย่างแม่นยำผ่านการคำนวณและวางแผนอย่างละเอียด

การละเลยขั้นตอนนี้จึงไม่ต่างอะไรจากการปล่อยเรือลงทะเลโดยไม่มีแผนที่ ซึ่งย่อมเสี่ยงต่อการหลงทางหรืออับปางกลางทาง ซึ่งเราได้เห็นบทเรียนมาค่อนข้างมากพอสมควร

นอกจากนี้จะขอยกอีกตัวอย่างซึ่งเป็นดีลขนาดใหญ่มากที่ผู้ขายใช้เวลามาหลายปีในการพยายามเสนอขายหุ้นของตนเองออกมา แต่ปัจจุบันยังไม่มีโบรกเกอร์รายใดกล้ารับทำ ถึงแม้ว่าค่าธรรมเนียมสูงลิบ แต่เพราะผู้ขายมีหุ้นโดยรวมอยู่เป็นจำนวนมาก และนำหุ้นตัวเองไปค้ำกับโบรกเกอร์หลายแห่งทั้งในและนอกประเทศเป็นปริมาณรวมมากเกินกว่าคนทั่วไปจะคาดเดาได้

นี่เองก็สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของการทำดีลนี้ โบรกเกอร์ที่รอบคอบเข้าใจดีว่า Demand ในตลาดไม่สามารถรองรับขนาดของดีลทั้งหมดได้ ซึ่งถ้าหากเห็นแก่ค่า Fee ฝืนเดินหน้าต่อ ความเสียหายจะตกอยู่กับผู้ซื้อตั้งแต่วินาทีแรกที่ตลาดเปิด ดั่งเช่นหุ้นในอดีตที่ผ่านมา และส่งผลกระทบเชิงลบต่อ Sentiment ของตลาดโดยรวม ที่เราทุกคนในตลาดหุ้นล้วนมีส่วนร่วม

ธิติ ภัทรยลรดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ