Decrypto: DeepSeek เมื่อ AI ล้ำหน้า แต่กฎหมายล้าหลัง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 5, 2025 10:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

DeepSeek บริษัทสตาร์ทอัพด้าน Artificial Intelligence (AI) จากจีน ได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ในวงการเทคโนโลยี ด้วยการก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 บนชาร์ตแอปพลิเคชันฟรีใน Apple App Store ภายในไม่กี่วันหลังจากเปิดตัว DeepSeek-R1 ซึ่งเป็นโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "ดาวรุ่งพุ่งแรง" โดยสามารถเทียบความสามารถกับ ChatGPT จาก OpenAI ได้ แต่ใช้ทรัพยากรการประมวลผลน้อยกว่าอย่างมาก

DeepSeek อ้างว่าใช้งบประมาณเพียง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการพัฒนา ซึ่งต่ำกว่าบริษัทอื่น ๆ ถึง 100 เท่า ส่งผลให้มียอดดาวน์โหลดทะลุ 10 ล้านครั้งในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว จน Satya Nadella ซีอีโอของ Microsoft ได้อธิบายถึงปรากฎการณ์ DeepSeek ว่ายิ่งเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพมากขึ้น การใช้งานก็ยิ่งแพร่หลายจนกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เช่น เดียวกับที่อินเทอร์เน็ตเป็นในปัจจุบัน โดยในยุค AI ที่การพัฒนาโมเดลอย่าง DeepSeek-R1 จะยิ่งช่วยกระตุ้นการใช้งาน AI ให้แพร่หลายและกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก

เมื่ออุตสาหกรรม AI มีความพร้อม เข้าถึงง่าย และเริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน คำถามที่สำคัญคือกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันมีความพร้อมที่จะรองรับการเติบโตนี้หรือไม่ ส่งผลให้ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นในการกำกับดูแล AI อย่างจริงจัง

สหภาพยุโรป (EU) เป็นที่แรกที่กำลังจะประกาศใช้กฎหมาย EU Artificial Intelligence Act (EU AI Act) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2025 ซึ่งนับเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลการพัฒนาและใช้งาน AI กำหนดกรอบการใช้งาน AI อย่างปลอดภัยและมีจริยธรรม โดยเน้นการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น ความเป็นส่วนตัว และป้องกันการเลือกปฏิบัติ พร้อมส่งเสริมความโปร่งใส ทำให้ประชาชนเข้าใจการตัดสินใจของ AI

กฎหมายฉบับนี้แบ่ง AI ออกเป็น 4 ระดับตามความเสี่ยง

1) ความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ (Unacceptable Risk): ระบบที่ห้ามใช้อย่างเด็ดขาด เช่น การระบุตัวตนทางชีวภาพระยะไกลแบบเรียลไทม์ในที่สาธารณะ การให้คะแนนทางสังคม (Social Scoring) และการใช้เทคนิคการโน้มน้าวจิตใต้สำนึกที่ใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของกลุ่มเฉพาะ

2) ความเสี่ยงสูง (High Risk): ระบบที่ต้องทำตามข้อกำหนดที่เข้มงวดมาก ต้องผ่านต้องการประเมินก่อนออกสู่ตลาด และลงทะเบียนระบบในฐานข้อมูล AI ของ EU เช่น บบ AI ที่ใช้ในการคัดเลือกผู้สมัครงาน, การประเมินนักศึกษาในสถาบันการศึกษา, การจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ การจราจรทางถนนหรือการจัดหาพลังงาน, การประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานในกระบวนการยุติธรรม

3) ความเสี่ยงจำกัด (Limited Risk): ระบบที่ต้องทำตามข้อกำหนดบางส่วน ซึ่งเน้นเรื่องความโปร่งใสเป็นหลัก เช่น แชทบอท

4) ความเสี่ยงต่ำ (Minimal Risk): ระบบที่ให้ปฎิบัติตาม Code of Conduct ทั่วไปขององค์กร เช่น โปรแกรมจัดการสแปม หรือโปรแกรมตกแต่งรูปภาพ

โดย EU AI Act จะส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อหลายภาคส่วน โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีที่ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนด ผลกระทบเชิงบวก เช่น กฎหมายช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคมั่นใจ ในความเป็นธรรมและความปลอดภัยจากการใช้ AI, ส่งเสริมการแข่งขันที่โปร่งใส เพราะมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนช่วยลดความเหลื่อมล้ำในตลาด และกระตุ้นนวัตกรรมการผลิต AI ที่มีคุณภาพและปลอดภัยยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาจมีผลกระทบเชิงลบตามมา เช่น การปฏิบัติตามกฎหมายอาจเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต, ภาคธุรกิจต้องเสียเวลาทำความเข้าใจกฎหมายเนื่องจากมีกฎระเบียบที่ซับซ้อนมากมาย รวมไปถึงผลกระทบต่อสตาร์ทอัพ และ SMEs ที่อาจเผชิญความยากลำบากในการปรับตัว

สถานการณ์ในประเทศไทย แม้ไทยยังไม่มีกฎหมาย AI โดยเฉพาะ แต่ก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) กฎหมายลิขสิทธิ์ และกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่สามารถนำมาใช้ต่อกรณีของ AI ได้ แต่ก็เป็นเพียงในระดับหนึ่ง ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ได้เผยแพร่แนวปฏิบัติในการใช้งาน AI ขึ้นมาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการพัฒนาเป็นกฎหมายในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า เมื่อ AI ไม่ใช่อนาคตอีกต่อไป แต่มันคือปัจจุบัน แล้วประเทศไทยเรามีความพร้อมแล้วหรือยัง ?

ดุษดี ดุษฎีพาณิชย์

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการค้า การลงทุน และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ


แท็ก (AI)   APP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ