นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) เผยว่าเศรษฐกิจไทยในปี 68 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.6% ชะลอตัวจากปีก่อนหน้าที่คาดไว้ที่ 2.7% เล็กน้อย โดยมีแรงส่งสำคัญจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ อย่างไรก็ตาม แรงส่งนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการฟื้นตัวกลับมาเกือบปกติของภาคท่องเที่ยว ในขณะที่ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและภาคส่งออกยังเป็นแรงกดดันที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ การหดตัวของสินเชื่อภาคธนาคารจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาวะเศรษฐกิจกำลังส่งผลทางลบต่อการบริโภคสินค้าคงทนและภาคอสังหาริมทรัพย์
ด้านปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายของสหรัฐฯ ที่อาจใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรอง โดยไทยติดอันดับที่ 11 ของประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากที่สุด และอาเซียนเองก็เกินดุลการค้าเป็นอันดับ 2 รองจากจีนเท่านั้น ทำให้ไทยและอาเซียนอาจตกเป็นเป้าของมาตรการทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ และส่งผลต่อภาคการค้าไทยได้ ทั้งนี้ นอกจากกลุ่มสินค้าส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบแล้ว ไทยอาจถูกกดดันให้เปิดตลาดบางกลุ่มสินค้า รวมถึงสินค้าเกษตรที่ไทยมีอัตราภาษีและมาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในขณะที่ไทยอาจได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานลงทุน จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมในการรับมือและเจรจาต่อรองให้เกิดผลดีที่สุด
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีไม่แน่นอน นายพิพัฒน์ มองว่า การใช้นโยบายการคลัง และนโยบายการเงินจะมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความเสี่ยง นอกจากนี้ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการลงทุนและยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยคาดว่าน่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในปีนี้ และรัฐบาลยังคงใช้นโยบายขาดดุลด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดด้านการคลังกำลังมีมากขึ้นและหนี้สาธารณะที่ขยับใกล้แตะเพดาน 70% ของ GDP รัฐบาลอาจต้องมีการทบทวนว่าจะเลือกใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อเศรษฐกิจ และเนื่องจากระดับรายได้ภาษีของรัฐบาลที่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ ตลอดจนความจำเป็นในการใช้จ่ายภาครัฐที่มีมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐ ขยายฐานภาษี และปฏิรูประบบภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ ดูแลเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ