HILITE: AOT ร่วงต่อแต่เริ่มเห็นสัญญารีบาวด์ หลังผบห.ยันไม่ได้แก้สัญญา "คิงเพาเวอร์" แค่ยอมให้เลื่อนจ่าย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 17, 2025 11:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ราคาหุ้น AOT ลดลง 4.79% หรือลดลง 2.25 บาท มาที่ 44.75 บาท มูลค่าซื้อขาย 3,668.87 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.18 น. หลังจากเปิดเทรดที่ 43.75 บาท และร่วงลงไปแตะจุดต่ำสุด 41.50 บาทในช่วงเช้าวันนี้

บมจ.ท่าอากาศยานไทย [AOT] หรือ ทอท. ชี้แจงกรณีหัวข้อข่าวในหนังสือพิมพ์รายวัน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ระบุว่า"คิงเพาเวอร์เผชิญสภาพคล่องตกต่ำ จับตาอาจต้องแก้สัญญาเพิ่ม" นั้นว่า ทอท.มิได้ทำการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่มีกับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จากกรณีดังกล่าวแต่อย่างใดและยังคงดำเนินการตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง

"ทอท.ขอยืนยันว่ามิได้ทำการแก้ไขสัญญาสัมปทานที่มีกับกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ จากกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด และยังคงดำเนินการตามสัญญาอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล และหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างเคร่งครัด"

ทอท.ระบุว่า ความเห็นของนักวิเคราะห์ที่ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหาร ทอท.โดย บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุว่า ปัญหาสภาพคล่องของกลุ่ม คิง เพาเวอร์ อาจมีผลกระทบต่อรายได้ของ ทอท. หากสถานการณ์นี้ยังยืดเยื้อ ซึ่งอาจนำไปสู่การเจรจาปรับเงื่อนไขเกี่ยวกับข้อตกลงสัมปทาน โดยเฉพาะค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำรายปี (Minimum Guarantee) ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของ ทอท.จากการสัมปทานดังกล่าว

เนื่องจากปัจจุบันรายได้จากสัมปทานมีสัดส่วนราว 33% ของรายได้รวมที่ ทอท.คาดว่าจะได้รับในปีงบประมาณ 2568 และยังเป็นแหล่งกำไรหลักของ ทอท. หากมีการปรับเงื่อนไขสัมปทานจริง อาจส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรของ ทอท. ในด้านการลงทุน CGSI มองว่าสถานการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่แน่นอน อาจทำให้เกิดความกังวลจากนักลงทุน โดยคาดว่าราคาหุ้นของ AOT อาจได้รับแรงกดดันในเชิงลบในระยะสั้น

เช่นเดียวกับ บล.กสิกรไทย (KS) ระบุว่า ทอท.กำลังเผชิญกับปัญหาลูกหนี้การค้าที่เพิ่มขึ้น จากการที่ผู้รับสัมปทานขอเลื่อนการชำระเงินออกไปอีก 18 เดือนโดยระหว่างนี้ผู้รับสัมปทานจะต้องจ่ายค่าปรับในอัตราประมาณร้อยละ 18 ต่อปี

*แจงคิงเพาเวอร์ส่งหนังสือขอเลื่อนจ่ายเหตุขาดคสภาพคล่อง

ทอท.ขอชี้แจงว่า บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) มีหนังสือถึง ทอท.ตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.67 ขอเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนจากการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) และท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) โดยระบุว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศตั้งแต่ต้นปี 63 ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย

รวมถึง KPD ก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างรุนแรง เนื่องจากรัฐบาลได้ออกข้อกำหนดจำกัดและควบคุมการเดินทางอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลงอย่างมาก ทำให้ KPD ไม่สามารถดำเนินธุรกิจตามสัญญาได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ KPD ประสบปัญหาสถานการณ์โควิด-19 นั้น KPD ก็พยายามประคับประคองธุรกิจให้ดำเนินการต่อเพื่อให้ธุรกิจรวมถึงพนักงานทุกคนสามารถอยู่รอดในสภาวะที่ยากลำบากจากการปิดร้านจำหน่ายสินค้าปลอดอากรปิดชั่วคราวตามคำสั่งของรัฐบาลและเป็นเหตุให้พนักงานขายต้องขาดรายได้หลัก และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพอย่างมาก

แต่ด้วยความอนุเคราะห์ของ ทอท.ที่ได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในสนามบิน โดยให้เลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนเพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ จากการที่ KPD ได้เลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนจาก ทอท. จึงสามารถดูแลและเยียวยาพนักงานขได้จนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แต่ KPD ยังคงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง และไม่สามารถฟื้นคืนธุรกิจได้อย่างเต็มที่ตามที่เคยประเมินไว้ รวมถึงความจำเป็นที่ต้องลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อการปรับปรุง ก่อสร้าง ติดตั้งระบบต่าง ๆ ภายในอาคารผู้โดยสาร ทสภ., ทภก. และ ทดม. เป็นผลให้ KPD ประสบปัญหาสภาพคล่องตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

นอกเหนือจากนั้น การที่สถาบันการเงินมีนโยบายไม่ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม รวมถึงการทยอยครบกำหนดชำระหนี้ต่าง ๆ กับสถาบันการเงิน และค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ครบกำหนดชำระให้แก่ ทอท. (งวดปกติและงวดที่ถึงกำหนดชำระจากการเลื่อนชำระ) และการชำระค่าสินค้าที่ได้สั่งซื้อไว้กับ Supplier (ซึ่งเป็นหัวใจหลักเพื่อให้มีสินค้าไว้จำหน่าย)ทำให้สถานะทางการเงินของ KPD ที่มีภาระต้องชำระค่าภาระต่าง ๆ เกิดการกระจุกตัวในช่วงที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น จำนวนค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ KPD ต้องชำระให้แก่ ทอท.คิดเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงจากการที่ประมาณการเติบโตของยอดใช้จ่ายของผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ เนื่องจากประเมินไว้ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 เป็นผลให้สัดส่วนค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำอยู่ในเกณฑ์สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ในปัจจุบัน

ขณะที่ยอดขายสินค้าปลอดอากรก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เนื่องจากการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ผู้โดยสารระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น และการใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าปลอดอากรก็เติบโตน้อยกว่าที่ได้ประมาณการไว้ จากเหตุผลดังกล่าวเป็นเหตุให้รายได้ของ KPD ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และประสบกับปัญหาขาดทุน โดยในปี 66 ขาดทุนถึง 651,512,785 บาท ซึ่ง KPD ได้พยายามดำเนินการในหลากหลายรูปแบบเพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นแต่นับตั้งแต่เดือน ม.ค.67 จนถึงปัจจุบัน KPD ก็ยังคงประสบภาวะขาดทุนมาโดยตลอด

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว KPD จึงจำเป็นต้องขอเลื่อนการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ครบกำหนดชำระตั้งแต่เดือน ส.ค.67-ก.ค.68 (รวม 12 งวด) ออกไปงวดละ 18 เดือน เพื่อให้มีระยะของช่องว่างทางการเงินเพียงพอฟื้นฟูให้สภาพคล่องให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติอีกครั้ง

รวมถึงการขอเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนนับแต่งวดชำระปลายเดือน ส.ค.67 สืบเนื่องมาจากช่วงดังกล่าวเริ่มเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว (Peak Season) KPD คาดการณ์ว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วง Peak Season ดังนั้น KPD จึงต้องเตรียมความพร้อมเพื่อการสั่งซื้อสินค้ามาจำหน่ายเพิ่มเติม เพื่อรองรับผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ณ ทสภ. ทภก. และ ทดม. ในช่วงดังกล่าว และเพื่อให้สามารถผลักดันยอดรายได้จากฤดูกาลท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้

นอกจากนี้ การเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำดังกล่าวจะทำให้ KPD ไม่มีภาระเพิ่มเติมในช่วงระหว่างการเลื่อนชำระ และจะทำให้ KPD สามารถแก้ปัญหาสภาพคล่องในปัจจุบันตามที่กล่าวข้างต้นได้ โดย KPD คาดหวังว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และจะทำให้สภาพคล่องทางการเงินดีขึ้นตามลำดับ และกลับเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงปี 69

เมื่อ ทอท.ได้พิจารณาหนังสือของ KPD แล้ว และได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผลประกอบการตามสัญญา พบว่าสัดส่วนค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของ KPD อยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก เมื่อเทียบกับรายได้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยอดขายสินค้าปลอดอากรต่อผู้โดยสารก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงมีความเห็นว่า KPD ประสบปัญหาสภาพคล่องจริง และการดำเนินการดังกล่าวเป็นการแจ้งการผิดนัดชำระหนี้ตามเงื่อนไขในสัญญา ซึ่งไม่เกิดความเสียหายแก่ ทอท. แต่เนื่องจากสัญญาได้ระบุค่าปรับผิดนัดชำระไว้ที่ 18% ทอท.จึงแจ้งให้ KPD เลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำออกไป โดยไม่ได้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับ

ที่ผ่านมา ในปี 67 ผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์และสายการบิน ณ ท่าอากาศยานของ ทอท.ทั้ง 6 แห่ง เช่น กลุ่มผู้ประกอบการร้านค้าเชิงพาณิชย์ ผู้ประกอบการ ร้านค้าปลอดอากร (Duty Free)กลุ่มผู้ประกอบการรถเช่า สายการบินบางราย และบริษัทร่วม ต่างประสบปัญหาในทิศทางเดียวกันกับกลุ่ม คิง เพาเวอร์ เป็นผลให้ในปี 67 มีผู้ประกอบการกว่า 70 ราย ขอเลื่อนชำระ/ผ่อนชำระ ขอยกเลิกประกอบกิจการ ขอลดขนาดพื้นที่ จากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาจากการดำเนินงาน

ปัจจุบันผู้ประกอบการฯ ของ ทอท.โดยเฉลี่ยมีการชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำสูงกว่าอัตราส่วนแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) เกินกว่า 50ๅ๔ ในการนี้ผู้ประกอบการฯ บางส่วนจึงได้แสดงเจตนาพร้อมเหตุผลและข้อมูลสนับสนุนเพื่อขอผ่อนชำระ ขยายระยะเวลาการชำระเงิน หรือปรับโครงสร้างการชำระเงิน โดย ทอท.ได้พิจารณาถึงผลกระทบต่อ ทอท.แล้ว พบว่าการอนุญาตให้ผู้ประกอบการฯ ปรับโครงสร้างการชำระเงินจะเป็นประโยชน์กับ ทอท.มากกว่าการไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการฯดำเนินการตามที่ร้องขอ รวมทั้งดีกว่าการยกเลิกสัญญาและทำการประมูลใหม่ เนื่องจากอาจทำให้ ทอท.ได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทนต่ำกว่าที่เคยได้รับอย่างมีนัยสำคัญ

โดยที่ผ่านมา ทอท.จะเรียกเก็บค่าปรับจากการผิดนัดชำระที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขสัญญาในอัตรา 18% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราค่าปรับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเบี้ยปรับของรัฐวิสาหกิจอื่นและสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่กำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2564 ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระในอัตรา 5% ต่อปี อย่างมีนัยสำคัญ

*เปิดให้ผู้ค้า-สายการบินยื่นขอเลื่อนจ่ายภายในสิ้นก.ย.68

ดังนั้น เพื่อให้ ทอท.ยังสามารถรักษาผู้ประกอบการฯ และสายการบินที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากวิกฤตเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างต่อเนื่องภายหลังสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงสถานการณ์สงครามในยูเครนและอิสราเอล ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทอท.จึงได้จัดทำโครงการขยายระยะเวลาชำระเงินของผู้ประกอบการฯ และสายการบิน ณ ท่าอากาศยานของ ทอท. ง 6 แห่งเสนอคณะกรรมการ ทอท.เมื่อวันที่ 22 ม.ค.68 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ความเห็นชอบโครงการ

โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ผู้ประกอบการฯ และสายการบินจะต้องมีหนังสือแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯล่วงหน้าก่อนวันครบกำหนดชำระเงินตามสัญญา พร้อมทั้งต้องแสดงเหตุผลของการขาดสภาพคล่องให้ ทอท.พิจารณาภายในวันที่ 30 ก.ย.68 ต้องมีหลักประกันสัญญาและวงเงินของหลักประกันสัญญาต้องครอบคลุมเงินต้นรวมกับค่าปรับจากการผิดนัดชำระในอัตรา 18% ต่อปี จะสามารถเลื่อน และ/หรือแบ่งชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทน หรือค่าบริการสนามบิน (Landing and Parking Charges) โดยระยะเวลาที่ขอเลื่อน และ/หรือแบ่งชำระงวดสุดท้ายจะต้องสิ้นสุดไม่เกินอายุสัญญาและไม่เกิน 24 เดือน นับถัดจากเดือนที่ ทอท.มีมติอนุมัติ

พร้อมทั้งต้องชำระดอกเบี้ยของยอดเงินที่ขอเลื่อน และ/หรือแบ่งชำระทุกเดือน ตามอัตราที่ ทอท.กำหนด โดยอัตราดอกเบี้ย (ร้อยละต่อปี) คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ ชั้นดี (Minimum Loan Rate : MLR) ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง และบวกเพิ่มอีก 2% ต่อปี จะต้องชำระดอกเบี้ยให้ ทอท.ทุกเดือน เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง ซึ่งโดยปกติแล้ว ทอท.จะเรียกเก็บดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระพร้อมกับเงินต้นในคราวเดียวกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ