
นายสุทธิเดช ถกลศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.นีโอ คอร์ปอเรท [NEO] และ บริษัท นีโอ แฟคทอรี่ จำกัด กล่าวว่า นีโอ มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในตลาด FMCG ของไทยและเอเชีย ด้วยการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การลงทุนขยายโรงงานครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการผลิตภายใต้กลยุทธ์ "Efficient Supply Chain" เสริมศักยภาพการแข่งขันและรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต โดยวางงบลงทุนตามแผนการขยายโรงงานกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือนสำหรับผู้ใหญ่และเด็กราว 2,464 ล้านบาท มุ่งพัฒนากลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือน เพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผ้า (Fabric Care) และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นผิวภายในบ้าน (Home Cleaning) รวมถึงในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้สำหรับเด็ก (Baby & Kids) ให้สอดคล้องกับตลาดที่เติบโตขึ้น ทั้งหมดนี้ดำเนินการตามมาตรฐานคุณภาพ ความปลอดภัย และหลัก ESG เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
โครงการขยายโรงงานแห่งนี้ จะใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน แบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกจะเริ่มก่อสร้างในเดือน กุมภาพันธ์ 2568 ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่โรงงานในปัจจุบันของนีโอ ในอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 71,307 ตารางเมตร บทพื้นที่กว่า 16 ไร่ และคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเริ่มดำเนินการผลิตได้ในเดือนพฤศจิกายน 2569 ส่วนเฟสที่สองจะเริ่มก่อสร้างในเดือน ตุลาคม 2569 และคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเริ่มดำเนินการผลิตได้ในเดือนเมษายน 2571 ใช้งบประมาณลงทุนในการออกแบบและก่อสร้างประมาณ 2,464 ล้านบาท คาดว่าโครงการดังกล่าวสามารถรองรับกำลังการผลิตสินค้ากลุ่มของใช้ในครัวเรือนซึ่งรวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้สำหรับเด็กอย่างน้อย 359,086 ตันต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 215,318 ตันต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 67% นอกจากนี้ การแบ่งการขยายออกเป็น 2 เฟส ยังช่วยลดภาระทางการเงิน และส่งผลดีต่อการงบการเงินรวมของบริษัทอีกด้วย
การลงทุนครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างการเติบโตของรายได้ พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เช่น เครื่องผสม (Mixing Machine) ที่เพิ่มประสิทธิภาพและลดของเสียในกระบวนการผลิต ประหยัดพลังงาน รวมถึงระบบการจัดการพลังงานและการใช้น้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐาน ISO 14001 การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม และมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Factory) จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ก่อให้เกิดการจ้างงานทั้งในส่วนการก่อสร้าง การจ้างงานในโรงงานเมื่อเปิดดำเนินการ และกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนโดยรอบ