บมจ.สหการประมูล [AUCT] รายงานผลการดำเนินปี 2567 เผยมีรายได้จากการให้บริการ 1,290.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.96 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 4.7 โดยมีรายได้จากการประมูล 1,094.93 ล้านบาท รายได้ค่าขนย้ายและบริการเสริม 195.32 ล้านบาท ส่งผลมีกำไรสุทธิเท่ากับ 371.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.36 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.7%
นายวรัญญู ศิลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AUCT เปิดเผยว่า ไตรมาส 4/67 บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการเท่ากับ 317.55 ล้านบาท ลดลง 11.80 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการประมูลเท่ากับ 270.90 ล้านบาท ลดลง 9.85 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 7.46 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
ส่วนรายได้ค่าขนย้ายและบริการเสริมในไตรมาส 4/67 เท่ากับ 46.65 ล้านบาท ลดลง 1.95 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.16 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากจำนวนรถที่เข้าสู่ลานประมูลและรถที่จบประมูลเริ่มชะลอตัวลงในช่วงปลายของไตรมาส
สำหรับผลประกอบการปี 67 บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการเท่ากับ 1,290.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.96 ล้านบาทหรือคิดเป็น 4.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีรายได้จากการประมูลเท่ากับ 1,094.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.70 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน และมีรายได้ค่าขนย้ายและบริการเสริมเท่ากับ 195.32 ล้านบาท ลดลง 1.74 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน
จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถเข้าประมูลและรถจบประมูลในภาพรวมทั้งปี ส่งผลให้ปี 67 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 371.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.36 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนตามปริมาณรถจบประมูลที่เพิ่มขึ้น
นายสุธี สมาธิ กรรมการผู้จัดการ AUCT เปิดเผยถึงแนวโน้มของธุรกิจว่า จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมา ทั้งการแจกเงินหมื่นให้ผู้สูงอายุ การช่วยเหลือชาวนาไร่ละหนึ่งพันบาท Easy E-Receipt และมาตรการ "คุณสู้ เราช่วย" ตลอดจนการคงนโยบายอัตราดอกเบี้ย และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น ปัจจัยบวกต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ธ.ค.67 ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มเห็นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นในอนาคตได้
แต่ในขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ยังมีความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงและเศรษฐกิจไทยที่แม้จะปรับตัวดีขึ้นแต่ยังฟื้นตัวช้า นอกจากนี้แล้ว การอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินยังคงมีความเข้มงวด สอดคล้องกับทิศทางการชะลอตัวของยอดจัดสินเชื่อรถยนต์ใหม่เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ใหม่ปี 67 ที่ลดลง 26.2% เมื่อเทียบกับปี 66
ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูงและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีทะเบียนรถเป็นประกันยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แสดงถึงความต้องการใช้เงินสดหมุนเวียนเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือเพื่อเป็นเงินทุนในการประกอบอาชีพ ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ยังมีปริมาณรถไหลเข้าสู่ธุรกิจประมูลอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ปี 68 ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องติดตามสถานการณ์ควบคู่กันไปอย่างใกล้ชิด โดยบริษัทยังคงแผนการเพิ่มคู่ค้าทางธุรกิจทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและที่ไม่ใช่สถาบันการเงินอย่างสม่ำเสมอ