ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (Insurer Financial Strength Rating: IFS Rating) ของ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต [MTL] ที่ ?A-? และคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating หรือ IDR) ของ MTL ที่ ?BBB+?
อันดับเครดิตทั้งสองมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ พร้อมกันนี้ ฟิทช์ยังประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS Rating) ของ MTL ที่ ?AAA(tha)? แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตของตราสารด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของบริษัท มูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ ?BBB?
การประกาศคงอันดับเครดิตของ MTL สะท้อนถึงโครงสร้างการดำเนินงานของบริษัทในธุรกิจประกันภัยที่ยังแข็งแรง (Favorable Company Profile) และระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง ฟิทช์คาดว่าผลประกอบการของบริษัทน่าจะฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง และบริษัทน่าจะยังคงมีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในระดับสูง
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
โครงสร้างการดำเนินงานที่แข็งแรง: ฟิทช์ประเมินโครงสร้างการดำเนินงานของ MTL อยู่ในระดับแข็งแรง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากโครงสร้างธุรกิจ (business profile) ที่แข็งแกร่งและการมีบรรษัทภิบาลที่ดี (neutral) ทั้งนี้ MTL มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ประมาณ 11% ของจำนวนเบี้ยประกันรวมของตลาด และได้รับการสนับสนุนด้านการดำเนินงานและด้านเทคนิคจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่คือ ธนาคารกสิกรไทย (KBank; อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว: BBB/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และ Ageas Insurance International N.V. (อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว: A+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) อีกทั้ง MTL ยังมีการกระจายตัวของโครงสร้างธุรกิจที่ดี ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ครอบคลุม และฐานลูกค้าที่หลากหลาย รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่ายที่สมดุล
ระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง: คะแนนจากแบบจำลอง Prism Model ของฟิทช์ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่ง (?Strong?) และใกล้เคียงกับผลการประเมิน ณ สิ้นปี 2566 ซึ่งรวมตราสารด้อยสิทธิที่ที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 มูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฏหมาย (RBC) ของ MTL ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 381% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2567 (2566: 353%, 2565: 332%) ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้ที่ 140% ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สิน (financial leverage) ของบริษัทน่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 9.5% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2567 จาก 14% ณ สิ้นปี 2565 เนื่องจากการชำระคืนตราสารด้อยสิทธิบางส่วนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2566 ทั้งนี้ฟิทช์ คาดว่าฐานะเงินกองทุนของบริษัทน่าจะยังคงมีเสถียรภาพต่อเนื่องในปี 2568
ผลประกอบการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป: ผลประกอบการของ MTL ได้ทยอยฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6.9% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 เทียบกับ 6.6% ในปี 2566 ทั้งนี้ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเฉลี่ยรายปีของบริษัทตั้งแต่ในช่วงปี 2565 ถึง 9 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 6.7% ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงระดับที่เหมาะสมสำหรับอันดับเครดิตของบริษัท
ฟิทช์คาดว่ามูลค่ากำไรของธุรกิจใหม่ (new business value) ของ MTL จะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในระยะปานกลาง เนื่องจากแรงกดดันด้านต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น (medical inflation) น่าจะปรับตัวลดลงบ้าง จากการนำระบบการร่วมจ่ายมาใช้ในอุตสาหกรรม (Co-payment) และการปรับราคาใหม่ของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการมีโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากการเป็นพันธมิตรกับธนาคารกสิกรไทย และการปรับเพิ่มประสิทธิภาพจากกระบวนการนำเอาดิจิทัล เทคโนโลยี มาปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจ (digital transformation)
สัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ยังคงสูง: MTL ยังคงมีสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงในระดับสูง โดยมีสัดส่วนสินทรัพย์เสี่ยงต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 237% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2567 (2566: 237%, 2565: 235%) ซึ่งสูงกว่าระดับของบริษัทที่มีอันดับเครดิต IFS ที่ ?A? ทั้งนี้ อัตราส่วนสินทรัพย์เสี่ยงดังกล่าวเป็นผลมาจากการลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ที่มีอันดับต่ำกว่าระดับลงทุนในระดับสากล (below investment grade) และการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งกำหนดเป็นทรัพย์สินเสี่ยงตามเกณฑ์ของฟิทช์ที่ 15% ในขณะที่บริษัทมีอัตราส่วนการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 320% ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2567
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน): อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล(IFS Rating)/อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS Rating)
- การปรับตัวลดลงของสัดส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมาย (RBC) มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 280% และ การปรับตัวแย่ลงของระดับเงินกองทุนของบริษัทซึ่งวัดจากคะแนนของแบบจำลอง Prism ของฟิทช์ ลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 'แข็งแกร่ง' เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
- การปรับตัวลดลงของความสามารถในการทำกำไรซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ต่ำกว่า 6.5% และการลดลงของมูลค่ากำไรของธุรกิจใหม่ (value of new business) เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
- การปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงในด้านเงินลงทุนและสินทรัพย์ ซึ่งรวมถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกของอัตราส่วนสินทรัพย์เสี่ยงต่อส่วนของผู้ถือหุ้น
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน):
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (IFS Rating)
- บริษัทมีขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นและมีการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ (business diversification) ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมหลากหลายประเภทธุรกิจมากขึ้น ด้านการกระจายตัวเชิงภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้น และช่องทางการขายมีความหลากหลายมากขึ้น
- การปรับตัวเพิ่มขึ้นของระดับเงินกองทุนของ MTL ซึ่งวัดจากคะแนนของแบบจำลอง Prism ของฟิทช์ ให้สูงกว่าคะแนนขั้นต่ำสำหรับระดับ "แข็งแกร่ง" (?Strong?) ในระดับที่ค่อนข้างมากและเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง
อัตราความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศ (National IFS Rating)
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศของ MTL ไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายในประเทศที่อยู่ในอันดับเครดิตที่สูงที่สุดแล้ว
การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของบริษัท ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของบริษัทก็ตาม