
บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 3/2568 อนุมัติแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่มบริษัท ผ่านการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ บมจ. บางจาก ศรีราชา [BSRC] ที่ถือโดยผู้ถือหุ้นรายอื่น ไม่เกินจำนวน 631,859,702 หุ้น (คิดเป็นร้อยละ 18.3 ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ BSRC) โดยแลกกับหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบางจากฯ (Share Swap) ด้วยอัตราการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ที่ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุนของบางจากฯ ต่อ 6.50 หุ้นสามัญของ BSRC
การทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญดังกล่าวรวมคิดเป็นจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบางจากฯ ไม่เกิน 97,209,185 หุ้น โดยจะไม่มีการชำระค่าตอบแทนในรูปแบบของตัวเงิน พร้อมทั้งประกาศแผนการเพิกถอนหุ้นของ BSRC จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่าแผนการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี 2568
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP กล่าวว่า แผนการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทบางจาก จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจากให้สามารถตอบสนองต่อโอกาสทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเพิ่มความแข็งแกร่งของผลประกอบการทางการเงิน อันทำให้โครงสร้างการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทบางจากมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ลดความซับซ้อนของโครงสร้างการถือหุ้น และเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน ลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อน
นอกจากนี้ การทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นของ BSRC ด้วยวิธีการแลกกับหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบางจากฯ เป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ถือหุ้น BSRC ได้ถือหุ้นบางจากฯ ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่มีความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงิน ทั้งในด้านผลประกอบการที่เติบโตอย่างมั่นคง มี EBITDA ระดับ 40,000 ล้านบาทต่อเนื่อง และฐานะทางการเงินที่แข็งแรง โดยมีขนาดของสินทรัพย์ระดับกว่า 300,000 ล้านบาท ประกอบกับมีศักยภาพในการเติบโตจากธุรกิจหลักที่มีความหลากหลาย ภายใต้แนวคิด Bangchak 100X เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย EBITDA 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2573 และการเติบโตเป็นองค์กรที่ยั่งยืน 100 ปีคู่สังคมไทย โดยผู้ถือหุ้น BSRC ยังคงมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ BSRC ในทางอ้อมผ่านการถือหุ้นในบางจากฯ พร้อมทั้งมีสภาพคล่องในการลงทุนที่สูงขึ้นจากมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ที่ใหญ่ขึ้น
สำหรับธุรกรรมการปรับโครงสร้างผ่านการทำคำเสนอซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดและเพิกถอนหุ้น BSRC ดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงการได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ของบางจากฯ ในวันที่ 11 เมษายน 2568 และการได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ของ BSRC ในวันที่ 9 เมษายน 2568
สำหรับผลประกอบการของกลุ่ม BCP ในปี 2567 สร้างสถิติใหม่ของรายได้จากการขายและการให้บริการ โดยมีรายได้ 589,877 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% จากปีก่อน EBITDA 40,409 ล้านบาท พร้อมบันทึกรายได้และยอดปริมาณจำหน่ายน้ำมันสูงเป็นประวัติการณ์ 13.8 ล้านลิตร รวมถึงสามารถสร้าง Synergy สูงถึง 6,071 ล้านบาท สูงเป้าหมายกว่าเท่าตัว โดยมีกำไรส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,184 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.30 บาท
นายชัยวัฒน์ เปิดเผยว่า แม้ปี 2567 จะเป็นปีที่เผชิญกับความผันผวนของราคาน้ำมันและค่าการกลั่นที่อ่อนตัวลง ส่งผลให้กำไรปรับตัวลดลงจากปีก่อน กลุ่มบริษัทบางจากยังคงสร้างสถิติใหม่ของรายได้จากการขายและการให้บริการ 589,877 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่อง EBITDA 40,409 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ (ที่ไม่รวมรายการพิเศษ) 6,120 ล้านบาท ผ่านการขับเคลื่อนของ 5 กลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการตลาด ที่มีปริมาณการจำหน่ายน้ำมัน 13,814 ล้านลิตร เติบโตอย่างก้าวกระโดดกว่า 61% สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ประกอบกับการรู้ Synergy สูงถึง 6,071 ล้านบาท เหนือกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 2,500 ล้านบาท หลังจากการควบรวมกิจการและรับรู้รายได้เต็มปีของ BSRC สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและประสิทธิภาพของกลยุทธ์ที่กลุ่มบริษัทได้วางไว้ ตอกย้ำถึงศักยภาพและความมุ่งมั่นในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
ในส่วนของกำไรสำหรับงวดปี 2567 จากโครงสร้างธุรกิจที่มีความหลากหลายของกลุ่มบริษัท ทำให้สามารถชดเชยแรงกดดันบางส่วนจากอัตรากำไรการกลั่นที่อ่อนตัวลงและผลขาดทุนจากสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีกำไรส่วนของบริษัทใหญ่ 2,184 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.30 บาท
ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเมืองโลกในปี 2568 กลุ่มบริษัทบางจากเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการขยาย Synergy อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ทั้งหมดให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างรอบคอบและระมัดระวัง กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมันพร้อมผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ในไตรมาส 2 ด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่กลุ่มธุรกิจการตลาดตั้งเป้าขยายสถานีบริการกว่า 100 แห่ง โดยมีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำอันดับ 2 อย่างมั่นคง
ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพเตรียมเปิดโรงงานเทคโนโลยีชีวภาพ (CDMO) แห่งแรกในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานสะอาดและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสีเขียว ผ่านการลงทุนในโครงการไฟฟ้าพลังงานสะอาดในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยในปี 2568 จะมีโครงการโรงไฟฟ้าเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม 9 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในลาว 290 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ไต้หวัน ซึ่งจะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์
รวมถึงการขยายการลงทุนในกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและธุรกิจใหม่ โดยนำประสบการณ์ด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากนอร์เวย์มาต่อยอดขยายการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และตั้งเป้านำน้ำมันดิบที่ผลิตได้มาใช้ในโรงกลั่นทั้งสองแห่ง ช่วยสร้างความแข็งแกร่งและ Synergy ให้กับกลุ่มบริษัทบางจาก และเสริมความมั่นคงทางด้านพลังงานให้ประเทศยิ่งขึ้น