ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น GULF และ INTUCH ที่เจอแรงขายอย่างหนักเมื่อวานนี้ (20 ก.พ.) สาเหตุคาดว่า มาจากการปรับพอร์ตของ "กองทุน" ที่ต้องการลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทใหม่ (NewCo) ภายหลังผ่านช่วงการจ่ายเงินปันผล (XD) ไปเรียบร้อยแล้ว
เนื่องจากหมวดธุรกิจของบริษัทใหม่ภายหลังการควบรวมกิจการของ GULF และ INTUCH จะยังคงอยู่ใน"กลุ่มพลังงาน" ทำให้ "กลุ่มผู้ลงทุน" ที่เป็นกองทุนในและต่างประเทศที่มีนโยบายกำกับการถือครองหุ้นในแต่ละกลุ่ม หรือหมวดหมู่ของแต่ละอุตสาหกรรมต้องทยอยปรับพอร์ตเทขายหุ้นออกมา เพื่อคงสัดส่วนไม่ให้การถือหุ้นในบริษัทใหม่ที่อยู่ใน "กลุ่มพลังงาน" มีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้
โดยการถือครองของหุ้นแต่ละตัว ของแต่ละกองทุน จะมีนโยบายที่แตกต่างกันออกไป อาจจะมีการกำหนดว่าในแต่ละ Sector ต้องถือห้ามเกินกี่เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจะมีการกำหนด Single Stock Limit ที่ระบุว่า ห้ามถือหุ้นตัวใดตัวหนึ่งเกินกี่เปอร์เซ็นต์ อย่างนี้เป็นต้น
*ทำไมต้องเทขายหุ้นเพื่อปรับพอร์ต
ถึงกระนั้นก็ตาม มีหลายคนอาจจะตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทำไมถึงต้องมาขายหุ้น หรือมาปรับพอร์ตกันเมื่อวานนี้!?
มีความเป็นไปได้ว่า กองทุนเหล่านั้น ต้องการรอรับเงินปันผลก่อนแล้วจึงขายออกมา แต่อาจจะมีการประเมินผลกระทบทางด้านราคา (Price Impact) น้อยเกินไป
เนื่องจาก ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมี "สภาพคล่อง" ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จากวอลุ่มซื้อขายรายวันเฉลี่ยรายวันของปี 65-66-67 อยู่ที่ 7.6 หมื่นล้านบาท, 5.3 หมื่นล้านบาท, 4.6 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
ล่าสุด วอลุ่มซื้อขายรายวันเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 68 ถึงปัจจุบัน (YTD) อยู่ที่เกิน 4 หมื่นล้านบาทไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้การ Rebalance พอร์ตครั้งนี้มีผลกระทบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้
ปัญหานี้เคยเกิดขึ้นกับหุ้น AWC ของ "เสี่ยเจริญ" ที่ถูก MSCI Rebalance เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 แต่สภาพคล่องไม่พอ ทำให้มีออร์เดอร์ที่เหลือค้างอยู่ ไม่สามารถขายได้หมดอีกจำนวน 162 ล้านหุ้น จึงต้องย้ายมาขายวันถัดไป
นอกจากนี้ การที่ราคาหุ้น GULF-INTUCH ปรับตัวลดลง อาจจะไปแตะ Trigger Stop Loss ของนักลงทุนรายย่อยที่ไปขอวงเงินมาร์จิ้น รวมถึงผู้ที่ถือสถานะ Long บน Single Stock Futures ก็เป็นได้
*ทำไมหุ้น GULF-INTUCH ต้องลงพร้อมกัน!?
สาเหตุที่หุ้นทั้งสอง "ร่วง" พร้อมกัน เพราะหุ้น GULF และหุ้น INTUCH มี Swap ratio ที่ชัดเจนและตายตัวอยู่แล้วที่ออกโดยบริษัท ซึ่งเป็นตัวล็อกให้ราคาหุ้นของทั้งสองตัวนี้เคลื่อนไหว หรือขยับไปในทิศทางเดียวกัน
สำหรับ "ภัยร้าย" ที่น่ากลัวที่สุดที่เป็นเรื่องใหญ่ของตลาดหุ้นไทยในวันนี้ ไม่ใช่ธุรกรรมการ Short selling ไม่ใช่โปรแกรม High Frequency Trading (HFT) อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มันคือ "การขาดสภาพคล่อง" ต่างหาก
ณ วันนี้ก็ได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบอย่างชัดเจนแบบมีหลักฐาน อย่างน้อยๆ 2 เคส ในหุ้นของ "เจ้าสัวเจริญ" ในปีก่อน และลามมาถึง "เจ้าสัวกลาง" ในปีนี้
ธิติ ภัทรยลรดี