นายสุภกิจ จิระประดิษฐกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเริ่มใช้หลักเกณฑ์การดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีการปรับปรุงใหม่ให้อ้างอิงรายชื่อหลักทรัพย์ตามเกณฑ์เทิร์นโอเวอร์ลิสต์(Turnover List)ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 51 เป็นต้นไป
ทัั้งนี้ ในวันนี้ตลาดฯ ได้ประกาศแนวทางดังกล่าวแก่บริษัทสมาชิก และในระหว่างนี้ขอให้บริษัทสมาชิกทำความเข้าใจกับผู้ลงทุนเกี่ยวกับแนวทางดังกล่าวอย่างทั่วถึง
หลักเกณฑ์ฯ ครอบคลุมหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ mai และใบสำคัญแสดงสิทธิการจองซื้อหุ้นสามัญ (Warrant) และมีลักษณะเพิ่มเติมตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดเป็นหลักทรัพย์ที่บริษัทสมาชิกต้องให้ลูกค้าวางเงินสดไว้ล่วงหน้าเต็มจำนวนก่อนที่จะซื้อหลักทรัพย์นั้น (บัญชี Cash Balance) เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 รอบการประกาศรายชื่อหรือจนกว่าหลักทรัพย์นั้นๆ จะพ้นจากรายชื่อหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แทนการใช้มาตรการห้ามซื้อขายแบบ Net Settlement และ Margin Trading
สำหรับลักษณะเพิ่มเติมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด มีดังนี้ กรณีเป็นหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ ตลาดหลักทรัพย์ mai จะต้องมี Turnover ratio มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 50 และ P/E ratio มากกว่าหรือเท่ากับ 50 เท่าหรือขาดทุน และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันมากกว่าหรือเท่ากับ 100 ล้านบาท
กรณีเป็น Warrant ต้องมี Turnover ratio มากกว่าหากเท่ากับร้อยละ 100 และมี % Premium หรือมีอัตราความยากในการใช้สิทธิมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 20 ของราคาหลักทรัพย์อ้างอิง และมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันมากกว่าหรือเท่ากับ 100 ล้านบาท
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ดังกล่าวเป็นรายสัปดาห์ในวันทำการสุดท้ายของสัปดาห์หรือวันศุกร์หลังจากที่สำนักงาน ก.ล.ต.ประกาศรายชื่อ Turnover List บนเว็บไซต์ของสำนักงานก.ล.ต. www.sec.or.th แล้ว ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศรายชื่อหลักทรัพย์ที่ต้องซื้อขายในบัญชีCash Balance หลังตลาดหลักทรัพย์ฯ ปิดทำการซื้อขายผ่านระบบ SET smart โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันทำการถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป
นายสุภกิจ กล่าวถึงเหตุผลที่นำหลักเกณฑ์ฯ นี้มาใช้ เนื่องจากมองว่าเป็นประกาศผ่านทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่แล้วและนักลงทุนสามารถคำนวณได้เอง ไม่เหมือนกับการใช้มาตรการห้ามซื้อขายแบบ Net Settlement และ Margin Trading ที่นักลงทุนต้องรอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศซึ่งอาจทำให้มีข้อโต้แย้งได้
"ที่่ผ่านมา การใช้มาตรการ Net Settlement และ Margin Trading นักลงทุนบางส่วนอาจมีข้อข้องใจว่าทางตลาดหลักทรัพย์ฯ พบความผิดปกติในหุ้นที่ประกาศออกมาได้อย่างไร แต่การใช้หลักเกณฑ์ Turnover List ทุกคนจะเห็นเนื่องจากการหมุนรอบของการซื้อขายจะเห็นโดยทั่วกัน" นายสุภกิจ กล่าว
นอกจากนี้ ยังเป็นการลดความเสี่ยงของนักลงทุนด้วย เพราะการวางหลักประกัน 100% ก่อนการซื้อ จะทำให้นักลงทุนประเมินอย่างรอบคอบอย่างแท้จริงก่อนการตัดสินใจซื้อหุ้น
นายสุภกิจ กล่าวต่อว่า การใช้มาตรการ Net Settlement และ Margin Trading ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ แต่ที่ต้องยกเลิกเนื่องจากเป็นการปรับเปลี่ยนให้ทันกับสถานการณ์ของตลาดที่เปลี่ยนไป และเชื่อว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาจะเกิดประโยชน์กับนักลงทุนและเป็นการป้องกันความเสี่ยงให้นักลงทุนตามหน้าที่ตลาดฯ
"มาตรการต่างๆ ก็ต้องย่อมมีการการเปลี่ยนแปลง วันนี้มีการประกาศมาตรการ Turnover List แต่หากเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป อนาคตอาจมีมาตรการอื่นเข้ามาทดแทน เหมือนที่เรานำมา Turnover List มาทดแทน Net Settlement และ Margin Trading" นายสุภกิจ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากประกาศใช้หลักเกณฑ์ฯ ในวันที่ 1 ก.ค. หากประเมินแล้วในช่วง 4-6 เดือนไม่ได้ผลก็อาจมีการปรับปรุงได้ แต่ตลท.ก็ยังเชื่อมั่นในหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว เนื่องจากได้รับความเห็นชอบจากบอร์ด ก.ล.ต.ที่ผ่านการพิจารณามาเป็นอย่างดี สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดปัจจุบัน
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--