

ทั้งนี้ แนวโน้มการเดินทางในปีนี้ เส้นทางสมุย ยังคงเป็นเส้นทางที่ได้รับความนิยมสูงสุด โดยมีการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในช่วงเดือนมีนาคม - กันยายน 2568 เพิ่มขึ้น 14%โดยส่วนหนึ่งเป็นการตอบรับกระแสซีรี่ส์ "The White Lotus" ที่เห็นยอดจองกระเตื้องขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยบริษัทฯ วางแผนกลับมาให้บริการเส้นทาง สมุย-กัวลาลัมเปอร์ วันละ 1 เที่ยวบิน ในไตรมาส 4 เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารจากยุโรปที่เดินทางผ่านทางสนามบินกัวลาลัมเปอร์ ขณะที่ช่วงสงกรานต์มียอดจองเข้ามา 70-80% ซึ่งได้เพิ่มเที่ยวบินอีกกว่า 20 เที่ยวบิน ซึ่งหากเครื่องบินที่ทำการบินไม่เพียงพอก็อาจจะใช้รูปแบบการเช่าเครื่องพร้อมนักบิน 1 ลำในช่วงสงกรานต์

ด้านบริหารจัดการฝูงบินให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ปีนี้คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเครื่องบินรวมทั้งสิ้นรวม 25 ลำ จากปีก่อนมี 23 ลำ รับมอบในครึ่งปีหลัง 2 ลำ เป็น A319, A320 และมีแผนจะปรับฝูงบิน (Re-fleet) เครื่องบินรุ่น ATR72-600 รวมทั้งสิ้น 12 ลำ โดยมีกำหนดทยอยส่งมอบระหว่างปี 2569 ถึงปี 2571
ปัจจุบันบริษัทฯ ให้บริการเที่ยวบินสู่ 19 จุดหมายปลายทาง ประกอบด้วยภายในประเทศ 11 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิและดอนเมือง) เกาะสมุย เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ ตราด ลำปาง แม่ฮ่องสอน สุโขทัย หาดใหญ่ อู่ตะเภา และจุดหมายปลายทางต่างประเทศ 8 แห่ง ได้แก่ มัลดีฟส์ สิงคโปร์ เสียมเรียบ พนมเปญ หลวงพระบาง ฮ่องกง เฉิงตู ฉงชิ่ง
บริษัทฯ ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์เครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรสายการบิน ปัจจุบันมีสายการบินพันธมิตร (Codeshare Partners) รวมทั้งสิ้นจำนวน 30 สายการบิน และมีสายการบินข้อตกลงร่วม (Interline Partners) กว่า 70 สายการบินทั่วโลก
*คาดสัดส่วนร่วมทุน MRO กับ THAI สรุปได้ Q3/68
นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่าสำหรับแผนการลงทุนโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) บนพื้นที่ 200 ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภานั้น ล่าสุด บริษัทฯ และบมจ. การบินไทย (THAI) ได้มีการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อยกระดับความร่วมมือในการศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ในเบื้องต้น จะเริ่มเฟสแรก ด้วยงบลงทุนโครงการ 10,000 ล้านบาท ที่จะรองรับเครื่องบิน wide body โดยระหว่างเจรจาหารือในรายละเอียดการร่วมลงทุน ซึ่งคาดว่าในไตรมาส 3/68 น่าจะได้ข้อสรุป ซึ่งคาดว่าทาง BA จะถือหุ้นส่วน 40% ส่วน THAI 60% โดย BA คาดว่าจะรายได้เสริมเข้ามาจาก MRO แม้ว่ามาร์จิ้นจะมีไม่มาก ประมาณ 10%
ทั้งนี้ โครงการ MRO จะเป็นส่วนเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังมีกฎระเบียบต่างๆที่ทำให้ไม่คล่องตัวในการดำเนินงาน ต้องการให้มีความสะดวกมากกว่านี้ โดยเห็นว่าปัจจุบันไม่มีเจ้าภาพหลักที่จะช่วยทำให้ไทยเป็นฮับการบินในภูมิภาคนี้ เพราะเรื่องนี้มีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง
"เราไม่ได้ใช้ความได้เปรียบเรื่อง location ที่จะเป็นฮับการบินในภูมิภาค การนำเครื่องเข้าออกไม่คล่องตัว ในแง่สายการบินในประเทศ เราไม่สามารถคุยได้ครบทุกหน่วยงาน"
*แผนขยายสนามบินสมุยเริ่ม Q4/68 งบลงทุน 1,500 ลบ.
ในส่วนการพัฒนาศักยภาพธุรกิจสนามบิน บริษัทฯ มีแผนปรับปรุงอาคารผู้โดยสารของสนามบินสมุย ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ที่จะมีการขยายอาคารผู้โดยสารให้รองรับได้มากขึ้นเป็น 6 ล้านคน/ปี จาก 2.7 ล้านคน/ปี และขยายรองรับเที่ยวบินเพิ่มเป็น 73 เที่ยวบิน/วัน จาก 50 เที่ยวบิน/วัน โดยจะขยายพื้นที่เป็น 4,000 ตร.ม.จากปัจจุบันมีอยู่ 2,000 ตร.ม. ที่จะขยายพื้นที่พักคอย ห้องวีไอพี ร้านอาหาร ทั้งหมดนี้จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี โดยจะทยอยทำทีละส่วนเพื่อไมให้กระทบกับการบริการรวมถึงจะสร้าง Private Jet Terminal ด้วย ทั้งนี้จะใช้งบลงทุนทั้งหมด 1,500 ล้านบาท
ส่วนสนามบินตราดมีแผนขยายรันเวย์ เพื่อให้สามารถรองรับเครื่องบินแบบไอพ่น แอร์บัส A320 ได้ รวมถึงพื้นที่จอด อาคารผู้โดยสาร เพื่อสามารถรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่สามารถบินตรงมาสนามบินตราดได้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการ คาดว่าจะทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น จากปีก่อนที่บินวันละ 2 เที่ยวบิน/วัน มีจำนวนผู้โดยสาร 7-8 หมื่นคน/ปี
*โอดโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯล่าช้า 5 ปี
นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ที่บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ทางเราได้มีการพูดคุยกับ EEC มาโดยตลาด โดยล่าสุดจะให้ดำเนินการโครงการโดยที่ไม่รอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเนื่องจากยังไม่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ จึงคาดจำนวนผู้โดยสารอาจจะไม่ได้อย่างที่เคยคาดการณ์ไว้ UTA จึงขอปรับลดการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เฟสแรก ที่จะสร้างอาคารผู้โดยสารรองรับ 6 ล้านคน/ปีก่อนจากเดิมที่ขอปรับลดเฟสแรกที่จะก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร 8 ล้านคน/ปี อย่างไรด็ดี หากผู้โดยสารเพิ่มขึ้นบริษัทก็สามารถปรับแผนงานก่อสร้างได้ เพราะก่อนหน้านี้เกิดการระบาดโควิดทำให้มีการประเมินคาดการณ์ผู้โดยสารใหม่หมด
นายอนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี BA กล่าวว่า บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ซึ่งเป็นการร่วมทุน 3 บจ. ประกอบด้วย บมจ.การบินกรุงเทพ [BA] บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง [BTS] และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เป็นคู่สัญญากับ EEC นับตั้งแต่ลงนามเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ใกล้จะครบ 5 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ โดย UTA ได้หารือกับ EEC มาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน รัฐบาลไม่ได้ระบุว่าสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินกรุงเทพแห่งที่ 3 ผิดไปจากช่วงก่อนการเข้าประมูลที่รัฐระบุว่าจะโปรโมทให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินกรุงเทพแห่งที่ 3
อย่างไรก็ดี หากโครงการไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย ก็อาจจะต้องมาพิจารณากันว่าจะเดินหน้าโครงการนี้หรือไม่ เพราะผ่านไป 5 ปีแล้วยังไม่ได้เริ่มดำเนินโครงการแต่อย่างใด ขณะที่ทางเราก็ทำได้ปรับแบบงานก่อสร้าง จ้างที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งลงทุนไปแล้วกว่า 4 พันล้านบาท นอกจากนี้ ในสัญญาระบุไว้ว่า หากภายใน 5 ปีไม่มีการดำเนินการใดๆ เอกชนมีสิทธิบอกยกเลิกสัญญาได้
*ปีนี้ลุยตลาดต่างประเทศ ต่อยอดกระแสซีรีส์ดัง
นางสาวอมรรัตน์ คงสวัสดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขาย และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด BA เปิดเผยถึงแผนการขายในปีนี้ บริษัทฯ มุ่งเน้นตลาดต่างประเทศซึ่งเป็นลูกค้าหลัก เพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายและรายได้ คาดการณ์ส่วนแบ่งช่องทางการขายบัตรโดยสารผ่านเว็บไซต์เป็นสัดส่วน 28% และช่องทางอื่น 72% (BSP Agent, Online Travel Agent, Call Center, Etc.) โดยเป็นการขายผ่านช่องทางเชื่อมต่อตรงผ่านระบบ 32% ตลาดภายในประเทศ 18% และตลาดต่างประเทศ 50% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยยังมีความต้องการสูงและยังคงแข็งแกร่ง
โดยวางแผนการขายเชิงรุกสำหรับตลาดต่างประเทศกลุ่มใหม่ อาทิ เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ประเทศในแถบละตินอเมริกา และตุรกี โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีสำนักงาน GSA รวมทั้งสิ้น 26 แห่งทั่วโลก
สำหรับกลยุทธ์การขายมี 4 แนวทาง ได้แก่ การมุ่งเน้นตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะการต่อยอดการขาย จากกระแสซีรีส์ "White Lotus Season 3" โดยจับกลุ่มลูกค้าที่ตามรอยซีรีส์ เน้นกลุ่มประเทศ อเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ออสเตรเลีย นอกจากนี้ บริษัทยังมุ่งเน้นตลาดที่เติบโตสูง เช่น คาซัคสถาน ซาอุดีอาระเบีย ตลาดที่มีฟรีวีซ่า เช่น อินเดีย และจีน ขยายการเชื่อมต่อตรงผ่านระบบกลุ่ม API/NDC/Direct Connect ให้มากขึ้นเพราะเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับสายการบินในยุคดิจิทัล ที่สามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
เนื่องจากแนวโน้มปัจจุบันลูกค้านิยมซื้อตั๋วผ่านเว็บไซต์เปรียบเทียบราคา (Metasearch) และตัวแทนจำหน่ายตั๋วออนไลน์ (OTA) ช่วยให้สายการบินกระจายการขายตั๋วไปยังตัวแทนจำหน่ายทั่วโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขายผ่านแพลตฟอร์มของสายการบินพันธมิตร ซึ่งเป็นการขายร่วม (Codeshare) บนบัตรโดยสารของสายการบินพันธมิตรผ่านช่องทางบนระบบแบบเชื่อมต่อตรง ช่วยขยายช่องทางการขาย และเพิ่มฐานลูกค้าแพลตฟอร์มของสายการบินพันธมิตร เริ่มจากสายการบินแควนตัสบนระบบ QDP และพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อขยายความร่วมมือต่อไป เช่น สายการบิน Thai Airways, British Airways, Lufthansa Group, Emirates, Etihad, Eva Air เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายและสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ เตรียมปรับโฉมระบบสำรองที่นั่งออนไลน์ใหม่ เป็น RefX (Reference Experience) หรือ Digital Commerce พัฒนาโดยบริษัทอะมาดิอุส เพื่อให้ผู้โดยสารเข้าถึงข้อมูลเที่ยวบิน ราคา และบริการเสริมได้ง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้น
ไฮไลท์กลยุทธ์สื่อสารการตลาดปี 2568 เปิดตัวภายใต้ธีม "Awesome Experience" มุ่งสร้างการเดินทางสู่ประสบการณ์ครั้งใหม่ที่มีความหมายกับผู้โดยสารทุกกลุ่ม โดยเน้นการบริการที่พิเศษ สะดวกสบาย และให้ความสำคัญกับความยั่งยืน พร้อมส่งภาพยนตร์โฆษณาชุดใหม่ภายใต้แนวคิด "ดีต่อใจ" โดยแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ "ญาญ่า - อุรัสยา เสปอร์บันด์" เริ่มเผยแพร่บนทุกช่องทางแล้ววันนี้
สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของปีนี้ ได้เตรียมจัด Pop-up Boutique Experience ณ สนามบินสุวรรณภูมิ สมุย ตราด สุโขทัย และเชียงใหม่ โดยนำเสนอประสบการณ์อาหารที่หลากหลาย ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือประเพณีอันแท้จริงของชุมชนเอาไว้ อาทิ ในเดือนเมษายน สนามบินสุวรรณภูมิ จะให้บริการไอศกรีมที่รังสรรค์รสชาติจากจินตนาการ (Jin ? Ta Icecream)
และพลาดไม่ได้ กับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา Bangkok Airways Boutique Series 2025 รายการแข่งขันวิ่งฮาล์ฟมาราธอน ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 พบกับ 3 เส้นทางวิ่งใน 3 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (สมุย) ตราด สุโขทัย เสื้อวิ่งออกแบบโดยศิลปินอิสระ 'Underhatdaddy' ที่ถ่ายทอดอัตลักษณ์ของแต่ละจุดหมายปลายทาง และร่วมวิ่งไปกับ 3 ศิลปินชื่อดัง 'ตู่ ภพธร' 22 มิถุนายน ที่เกาะสมุย 'โตโน่ ภาคิน' 17 สิงหาคม ที่จ.ตราด และ 'เทศน์ ไมรอน' 28 กันยายน ที่จ.สุโขทัย
อีกหนึ่งกลยุทธ์แบรนด์เพื่อเข้าถึงใจลูกค้า และตอกย้ำภาพลักษณ์ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ที่สามารถครองใจผู้โดยสารทั่วโลก กับแชมป์ 8 ปีซ้อน Skytrax Award สายการบินระดับภูมิภาคที่ดีที่สุดในโลก และสายการบินระดับภูมิภาคดีที่สุดในเอเชีย ล่าสุดจับมือกับ PUMA สปอร์ตแบรนด์ชั้นนำระดับโลก ภายใต้แนวคิด "Be The First Move For Better Together" ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับการให้บริการ