เกาะติดภารกิจค้นหาผู้สูญหายตึกสตง.ถล่ม วันที่ 4/ธปท.-ตลท.-ก.ล.ต. ร่วมแถลงการณ์เศรษฐกิจ-การเงินไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 31, 2025 10:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เปิดทำงานวันแรกของสัปดาห์นี้ ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงระดับ 8.2 ริกเตอร์ โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และรับรู้แรงสั่นสะเทือนมาถึงหลายจังหวัดทางภาคเหนือของไทย รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมลฑล ส่งผลให้หลายอาคารสูงได้รับความเสียหายมากน้อยแตกต่างกันไป เรียกได้ว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่และรุนแรงมากสุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในกรุงเทพฯ

ผลความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ ที่ชัดเจนสุด คือ อาคารแห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ย่านจตุจักร มูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท ได้พังถล่มราบลงมาเป็นหน้ากลอง เป็นเหตุให้มีคนงานเสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุด หลังการระดมทีมค้นหาผ่านไปเกือบ 3 วัน สามารถนำร่างผู้เสียชีวิตออกมาได้แล้ว 18 ศพ และยังมีผู้สูญหายอีกกว่า 70 ราย ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ทั้งของไทยและจากทีมต่างประเทศ ยังคงเร่งดำเนินการค้นหาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีอุปสรรคจากฝนที่ตกลงมาก็ตาม

  • นอกจากประเด็นความเสียหายของอาคาร สตง.ที่พังถล่มลงมาแล้ว ได้ทำให้เกิดมีประเด็นที่สังคมต้องการค้นหาคำตอบตามมาอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องการก่อสร้างว่าได้มาตรฐานหรือไม่ มีการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง หรือทุจริตการประมูลงานก่อสร้างโครงการดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งงานนี้น่าจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงกันอีกยาว

แต่ล่าสุด บ่ายนี้กระทรวงอุตสาหกรรม เชิญสื่อเข้าร่วมสังเกตการณ์การตรวจสอบคุณภาพตัวอย่างเหล็กที่เก็บมาจากบริเวณที่เกิดเหตุ อาคาร สตง. โดยมี น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรมว.อุตสาหกรรม และนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการ รมว.อุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมสังเกตการณ์ ณ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย

  • อีกประเด็นที่สังคมตั้งคำถามไม่แพ้กัน คือ การส่งข้อความสั้น (SMS) แจ้งเตือนภัย ที่หลายคนบ่นกันว่าล่าช้าไม่ทันการณ์เป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่นายกรัฐมนตรี ออกอาการ "ควันออกหู" ไล่บี้ในที่ประชุมเมื่อวันเสาร์ว่าเหตุใดการส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชนถึงทำได้ล่าช้าอย่างมาก ปัญหาติดขัดอยู่ในขั้นตอนใด ซึ่งก็ยังได้รับคำตอบแบบอ้อมๆ แอ้มๆ จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ และล่าสุดบ่าย 2 โมงวันนี้ นายกรัฐมนตรี จะเรียกประชุมด่วนอีกครั้งที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือและแก้ปัญหาการเตือนภัยพิบัติผ่านระบบ SMS โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าร่วมประชุม อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • หลังเหตุแผ่นดินไหวกลางกรุงในครั้งนี้ เชื่อว่าชาวคอนโดฯ หลายคนต่างอกสั่นขวัญหาย ไม่กล้ากลับเข้าไปพักอาศัยในคอนโดฯ หลังจากได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวรอบนี้ ซึ่งมีประชาชนแจ้งปัญหารอยแตกร้าวของอาคาร ผ่านแอปพลิเคชัน "Traffy Fondue" แล้วกว่า 11,665 รายการ ซึ่งภายใน 2 วัน กทม.ได้ตรวจสอบไปแล้ว 315 อาคาร และพบว่า 2 อาคารอยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัยจนต้องประกาศห้ามอยู่อาศัย งานนี้เชื่อว่าไม่เพียงชาวคอนโดฯ เท่านั้นจะได้รับผลกระทบ แต่ปัญหาจะขยายวงไปถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะอาคารชุด และคอนโดมีเนียมต่าง ๆ ที่ยอดซื้อ-ยอดจอง อาจะหยุดชะงักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากปัญหาความไม่เชื่อมั่นและความไม่มั่นใจในความปลอดภัยหากเกิดกรณีแผ่นดินไหวขึ้นอีกในอนาคต

ทั้งนี้ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะแถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์ผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ รวมทั้งการค้นหาผู้สูญหายจากเหตุอาคาร สตง.ถล่ม ในเวลา 16.00 น.

ประเด็นเศรษฐกิจและธุรกิจที่น่าสนใจ

  • ภาคเศรษฐกิจจริงและระบบทางการเงิน ร่วมแถลงการณ์และนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องจากเหตุแผ่นดินไหวในประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้ประชาชนมีความกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและระบบการเงินของไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการให้ข้อมูลอย่างรอบด้าน หน่วยงานสำคัญด้านเศรษฐกิจการเงินทั้งภาครัฐ และเอกชน จึงร่วมกันจัดแถลงข่าวเพื่อให้ข้อมูลในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านความปลอดภัยทางวิศวกรรม, ด้านภาคการผลิต, การส่งออก ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาวิศวกร, สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประภันภัย เป็นต้น
  • นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานการประชุมหารือผลกระทบด้านการท่องเที่ยวจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานแถลงข่าว BOT Monthly Briefing ภาวะเศรษฐกิจและการเงิน เดือนก.พ.68
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานประชุมสามัญประจำปี 2568 พร้อมสรุปผลการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ปี 2567 โดย นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "Industry 5.0 ยกระดับอุตสาหกรรมไทย ก้าวข้ามความท้าทายเศรษฐกิจโลก" โดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม
  • หอการค้าไทย จัดแถลงข่าวนโยบายของประธานกรรมการหอการค้าไทยคนใหม่ "นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์" พร้อมด้วยทีมบริหารชุดใหม่
  • พิธีลงนามความเข้าใจ (MOU) เรื่อง "การบริหารจัดการน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว เพื่อนำมาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน" ระหว่าง บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) กลุ่มเซ็นทรัล บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) บมจ. ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ (TFMAMA) และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ