ท่ามกลางความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ "คาร์บอนเครดิต" (Carbon Credit) กลายเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วโลก หลายประเทศรวมถึงไทยต่างมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ทั้งภาครัฐและเอกชนเริ่มขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียวอย่างเป็นรูปธรรม
หนึ่งในการขับเคลื่อนล่าสุดที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือการอนุญาตให้มีการซื้อขาย "คาร์บอนเครดิตดิจิทัล" (Tokenized Carbon Credit) ผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งถูกมองว่าเป็น ?จุดเริ่มต้น? ที่จะผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางตลาดคาร์บอนเครดิตของอาเซียน
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีมติสำคัญเห็นชอบหลักการปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อเปิดทางให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล สามารถให้บริการซื้อขาย โทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงคาร์บอนเครดิต (Tokenized Carbon Credit) รวมถึงใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate ? REC) และสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Allowance) ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
การปรับเกณฑ์ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้ประชาชน และมุ่งส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระดับภูมิภาคอาเซียน โดยหลังจากเห็นชอบหลักการแล้ว ก.ล.ต. เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนออกประกาศบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อไป
*กฎหมายที่เกี่ยวข้อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการซื้อขายโทเคนคาร์บอนเครดิต
การปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิตดิจิทัลในประเทศไทยอยู่ภายใต้ พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่ควบคุมและกำกับดูแลการออกและซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย อาทิ มาตรา 3 ซึ่งกำหนดคำนิยามของสินทรัพย์ดิจิทัล ครอบคลุมทั้งคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล ช่วยให้เข้าใจและแยกแยะประเภทของสินทรัพย์ที่จะถูกควบคุมหรือนำมาใช้ในการซื้อขายได้ชัดเจน
และ มาตรา 10 ซึ่งระบุถึงอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการกำกับดูแลการดำเนินงานของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล
มาตราเหล่านี้ชี้แจงว่า ก.ล.ต. มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบและควบคุมภายใต้มาตรฐานที่กำหนด รวมไปถึงการระบุเงื่อนไขและข้อกำหนดเกี่ยวกับการออกและการเสนอขายโทเคนดิจิทัล รวมถึงการกำหนดข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามเพื่อให้การซื้อขายดำเนินไปอย่างเหมาะสมและตรงตามกฎหมาย มาตรานี้เป็นส่วนสำคัญที่รับประกันว่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจะถูกดำเนินการอย่างโปร่งใสและมีความปลอดภัย
ภายใต้พระราชกำหนดดังกล่าว ก.ล.ต. ได้กำหนด หลักเกณฑ์และเงื่อนไข สำหรับการให้บริการซื้อขาย Tokenized Carbon Credit, REC และ Carbon Allowance อย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ลงทุนและความน่าเชื่อถือในตลาดโทเคนคาร์บอน โดยเงื่อนไขสำคัญมีดังนี้
1) ระบบการคัดเลือกและเพิกถอนโทเคนดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ: ผู้ให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าฯ) ต้องมีมาตรฐานหรือระบบในการพิจารณาคัดเลือกโทเคนคาร์บอนที่จะนำมาซื้อขาย รวมถึงกระบวนการเพิกถอนโทเคนที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ อย่างมีประสิทธิภาพโปร่งใส
2) การเปิดเผยข้อมูลโทเคนอย่างครบถ้วนเพียงพอ: ต้องมีระบบมาตรฐานในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโทเคนคาร์บอนเครดิต/REC/Allowance ที่ชัดเจน ครบถ้วน และเพียงพอ ให้แก่นักลงทุนสามารถตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตัวผลิตภัณฑ์
ด้วยหลักเกณฑ์เหล่านี้ ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตดิจิทัลจะดำเนินการภายใต้กรอบที่มีการกำกับดูแล ลดความเสี่ยงจากการฉ้อโกงหรือข้อมูลเท็จ และเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้เข้าร่วมตลาดทุกฝ่าย
*ปรับกรอบกำกับดูแล Utility Token ตามกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล
ความเคลื่อนไหวในการเปิดตลาดคาร์บอนเครดิตดิจิทัลดังกล่าว สอดคล้องกับการปรับปรุงกรอบกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยเมื่อไม่นานมานี้ ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่ควบคุมการออกและซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
โดยในปี 2567 ก.ล.ต. ได้ออกประกาศปรับปรุงแนวทางกำกับดูแล Utility Token พร้อมใช้ (กลุ่มโทเคนดิจิทัลที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคหรือใช้แทนใบรับรองสิทธิ) โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2567 ในการปรับปรุงครั้งนั้นได้มีการยกเว้น การกำกับดูแลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Utility Token เพื่อการบริโภค (Consumption-based Utility Token) หรือ "Utility Token กลุ่มที่ 1" แต่ก็ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลนำโทเคนกลุ่มนี้มาให้บริการบนศูนย์ซื้อขาย เว้นแต่โทเคนนั้นจะเป็นประเภทที่ส่งเสริมการพัฒนาประเทศตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด
ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวที่ผ่านมา ทำให้โทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงผลิตภัณฑ์ลดการปล่อยคาร์บอน เช่น คาร์บอนเครดิต REC และ Carbon Allowance ซึ่งจัดเป็น Utility Token พร้อมใช้กลุ่มเพื่อการบริโภค ยังไม่สามารถซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงก่อนหน้านี้ได้ ดังนั้น การที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในเดือนมีนาคม 2568 อนุมัติหลักการให้สินทรัพย์ดิจิทัลกลุ่มนี้สามารถซื้อขายได้ จึงถือเป็นการปรับปรุงกฎเกณฑ์ครั้งสำคัญ เพื่อยกเว้น/ผ่อนผันให้ โทเคนคาร์บอนเครดิตดิจิทัลเข้าสู่ตลาดซื้อขายที่อยู่ภายใต้การกำกับได้ในที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า ก.ล.ต. เล็งเห็นถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อการพัฒนาประเทศ และประโยชน์ในการสนับสนุนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของไทย
การนำคาร์บอนเครดิตสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มในประเทศไทย ไม่เพียงแสดงถึงความก้าวหน้าในการจัดการสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแห่งอาเซียน การอนุญาตให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในรูปแบบดิจิทัลเป็นการตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการลงทุนที่ยั่งยืนและระบบตลาดที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และเข้าถึงได้ง่าย โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่การใช้บล็อกเชนและเทคโนโลยีอื่นๆ มีบทบาทสำคัญในการรับรองความถูกต้องและเพิ่มความไว้วางใจในตลาดคาร์บอนเครดิต
ดุษดี ดุษฎีพาณิชย์
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการค้า การลงทุน และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ