
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (สำนักงาน กสทช.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ต่อ (ร่าง) ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช.ด้านกิจการโรคมนาคม กล่าวว่า วันนี้ได้รับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม 6 ประเด็น เพื่อความรัดกุมเพิ่มขึ้นและเป็นประโยชน์ ได้แก่ รูปแบบการจัดกลุ่มและวิธีการประมูล ทั้งรูปแบบและวิธีการเดิมที่ที่ปรึกษาต่างประเทศเสนอและที่สำนักงาน กสทช. เสนอภายหลังการรับฟังคิดเห็นฯ ครั้งก่อน รวมถึงรูปแบบดั้งเดิมที่ประมูลทีละย่านความถี่ ทั้งนี้ ให้สำนักงาน กสทช.ได้อธิบาย รูปแบบ วิธีการ และกระบวนการประมูลแต่ละขั้นตอนให้บุคคลทั่วไปเกิดความเข้าใจด้วย

ส่วนประเด็นราคา ได้แก่ การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ สำหรับวิธี Econometrics ให้ปรับปรุงแบบจำลองและแทนค่าตัวแปรให้สะท้อนบริบทของประเทศไทยยิ่งขึ้น และวิธีการ Relative value ให้พิจารณาเปรียบเทียบกับย่านที่ประมูลก่อนหน้านี้ประกอบด้วย
- การกำหนดราคาขั้นต่ำ (Reserve Price) ให้คำนวณโดยใช้ปัจจัยตัวคูณ 1 เปรียบเทียบกับการใช้ปัจจัยตัวคุณ 0.7 โดยให้ใช้วิธีคำนวณใหม่ใช้ข้อมูลของประเทศไทยประกอบด้วย ราคาขั้นต่ำของคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูลครั้งนี้ควรสอดคล้องกับราคาขั้นต่ำของการประมูลคลื่นที่ผ่านมาของประเทศไทย
- การกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งเรื่องราคาและคุณภาพบริการ อัน เนื่องจากผู้ประกอบการลดลงทำให้ไม่มีการแข่งขัน รวมทั้งการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับผู้ด้อยโอกาส
- กรณีการจัดประมูลล่วงหน้าสำหรับคลื่นความถี่ที่จะหมดอายุในปี 2570 ที่อาจทำให้มูลค่าของคลื่นหายไป 2 ปี
- การกำหนดจำนวนงวดและระยะเวลาการชำระเงินประมูล โดยให้เพิ่มเติมประเด็นการชำระเงินในสัดส่วนอัตราร้อยละ 10 เป็นระยะเวลา 10 งวด สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ โดยมีเงื่อนไขให้ต้องยื่น roll out plan ประกอบด้วย
*เสนอรูปแบบประมูลเพิ่ม
สำหรับการเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า สำนักงานฯ ได้ปรับร่างหลักเกณฑ์ฯ ในส่วนของราคาเริ่มต้นประมูลบางชุดคลื่นความถี่ หลังจากมีเสียงจากภาคเอกชนว่าแพงเกินไปในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ขณะที่ในส่วนของบอร์ด กสทช.บางรายเห็นว่าเป็นราคาที่ถูกเกินไปและราคาตั้งต้นแต่ละคลื่นไม่ควรต่ำกว่าการประมูลในครั้งที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ในการรับฟังความเห็นครั้งนี้ ได้เพิ่มรูปแบบที่จะให้ประมูลทุกกลุ่มย่านความถี่พร้อมกัน (Simultaneous Clock Auction) ซึ่งเป็นวิธีที่สำนักงาน กสทช. ปรับปรุงหลังจากการรับฟังความคิดเห็นครั้งแรก (เมื่อวันที่ 20 ม.ค.-20 ก.พ.68) หรือ ประมูลแบบเรียงลำดับทีละกลุ่มย่านความถี่ (Clock Auction - Each Group is Auctioned Sequentially) ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่เสนอในการรับฟังความคิดเห็นครั้งแรก
โดยได้เสนอในที่ประชุมรับฟังความเห็นถึงการจัดกลุ่มคลื่นความถี่ (ความสามารถในการทดแทนกันของคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz (FDD) และ 2300 MHz) แบ่งเป็น 2 รูปแบบ
1. แบ่งคลื่นความถี่ที่นำมาประมูลเป็น 3 กลุ่ม โดยพิจารณาจากมิติด้านวิศวกรรมและมิติด้านการทดแทน ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ย่าน 850 MHz ย่าน 1800 MHz 2100 MHz (FDD)
กลุ่มที่ 2 ย่าน 1500 MHz ย่าน 2100 MHz (TDD) ย่าน 2300 MHz
กลุ่มที่ 3 ย่าน 26 GHz
2.แบ่งคลื่นความถี่ที่นำมาประมูลเป็น 4 กลุ่ม โดยพิจารณาความพร้อมของ Ecosystem และมิติด้านการทดแทน ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ย่าน 850 MHz
กลุ่มที่ 2 ย่าน 1800 MHZ 2100 MHz (FDD) และ 2300 MHz
กลุ่มที่ 3 ย่าน 1500 MHZ 2100 MHz (TDD)
กลุ่มที่ 4 ย่าน 26 GHz
หากทางเลือกในการนำคลื่นความถี่มาประมูลเป็นเฉพาะคลื่นความถี่ที่กำลังจะสิ้นสุดการอนุญาตในวันที่ 3 ส.ค.68 จะมีเพียงคลื่นความถี่ย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz (FDD ขนาด 2x15 MHz) และ 2300 MHz ที่นำมาจัดกลุ่ม ทั้งนี้ วิธีการประมูลแต่ละแบบสามารถเปรียบเทียบกันได้
*ราคาเริ่มต้นปรับลง
สำหรับประเด็นราคาเริ่มต้นในการประมูล ราคาเดิมที่ผ่านการรับฟังความเห็น ได้แก่
คลื่น 850 MHz อยู่ที่ 7,739.04 ล้านบาท
คลื่น 1500 MHz อยู่ที่ 1,057.49 ล้านบาท
คลื่น 1800 MHz อยู่ที่ 7,282.15 ล้านบาท
คลื่น 2100 MHz (FDD) ที่ 3,970.32 ล้านบาท
คลื่น 2100 MHz (TDD) อยู่ที่ 580.99 ล้านบาท
คลื่น 2300 MHz อยู่ที่ 1,961.08 ล้านบาท
คลื่น 26 GHz ประเมินไว้เพียง 423 ล้านบาท
โดย ราคาเริ่มต้นที่ สำนักงาน กสทช. เสนอเพิ่มเติม 3 ราคา ได้โดยราคาเริ่มต้นที่มีการปรับเปลี่ยน
คลื่น 850 MHz ทั้ง 3 แนวทางใหม่ ราคาอยู่ที่ 7,358.60 ล้านบาท ลดลง 380.44 ล้านบาท
คลื่น 1500 MHz ทั้ง 3 แนวทางใหม่ราคาอยู่ที่ 969.03 ล้านบาท ลดลง 88.46 ล้านบาท
คลื่น 1800 MHz เสนอ 3 ราคา ราคาใหม่ แนวทางใหม่ที่ 1 อยู่ที่ 4,793.19 ล้านบาท ลดลง 2,488.96 ล้านบาท ส่วนแนวทางใหม่ที่ 2 อยู่ที่ 3,617.37 ล้านบาท ลดลง 3,664.78 ล้านบาท และแนวทางใหม่ที่ 3 อยู่ที่ 12,418.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,135.91 ล้านบาท
คลื่น 2100 MHz (FDD) แนวทางใหม่ที่ 1 อยู่ที่ 3,322.82 ล้านบาท ลดลง 647.50 ล้านบาท แนวทางใหม่ที่ 2 อยู่ที่ 3,180.67 ล้านบาท ลดลง 789.65 ล้านบาท และแนวทางใหม่ที่ 3 อยู่ที่ 4,611.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 641.1 ล้านบาท
คลื่น 2100 MHz (TDD) ราคาเดิมอยู่ที่ 580.99 ล้านบาท ซึ่งราคาทั้ง 3 แนวทางเท่ากัน อยู่ที่ 449.04 ล้านบาท ลดลง 131.95 ล้านบาท
คลื่น 2300 MHz ราคาเดิมอยู่ที่ 1,961.08 ล้านบาท แนวทางใหม่ที่ 1 อยู่ที่ 1,871.16 ล้านบาท ลดลง 89.92 ล้านบาท แนวทางที่ 2 และ 3 อยู่ที่ 1,541.33 ล้านบาท ลดลง 419.75 ล้านบาท
ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz ยังคงราคาเดิมที่ 423 ล้านบาท
*ที่ประชุมเสียงแตก
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ สภาองค์กรผู้บริโภค ขอให้มีการประมูลคลื่นที่กำลังจะหมดใบอนุญาตก่อน หาก บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) หมดอายุใบอนุญาตจะกระทบกับผู้ใช้งาน เราไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องประมูลเร่งด่วนในเวลานี้ รวมถึง ยังไม่จำเป็นต้องประมูลคลื่น 3500 MHz ที่จะกระทบกับทีวีดิจิทัล และ กสทช.ควรให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายเล็ก NVNO เพื่อความเป็นธรรมให้รายใหม่เข้าสูตลาด การประมูลทีละคลื่นน่าจะทำให้ กสทช.มีเวลาออกแบบในการจัดประมูลและกำหนดแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้พิการ และผู้ที่อยู่ห่างไกล
นายไพโรจน์ ไววานิชย์กิจ จากบริษัท เดอะเมกกะวัตต์ จำกัด กล่าวว่า ความเห็นทางเศรษฐศาสตร์ สมควรประมูลแบบรวม เพราะไม่ว่าใครประมูลได้คลื่นเท่าใด เมื่อดูจากภาพรวมการประมูลครั้งนี้จะเอื้อต่อการว่างแผนคลื่นความถี่ในอนาคต , ในแง่ผลประโยชน์ของประเทศ หากมีการประมูลคลื่นที่กำหนดไว้ในครั้งนี้จะช่วยไม่ให้เกิดมีปัญหาไทม์ไลน์ที่ไม่เข้ากันอีก โดยควรกำหนดให้ระยะเวลาใบอนุญาตของคลื่นความถี่ที่จะสิ้นสุดเวลาอนุญาตที่จะเอามาประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 17 ปี สิ้นสุดปี 85 ส่วนที่เหลือ 3 คลื่น กำหนดอายุใบอนุญาตที่ 15 ปี วิธีนี้น่าจะทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และได้ผลประโยชน์กลับมากับประเทศชาติอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ส่วนระดับราคาเริ่มต้น ราคาที่กำหนดน่าจะดีที่สุดที่จะแข่งขัน และสมควรที่จะเอาคลื่น 3500 MHz มาประมูลในครั้งนี้ เอามาเฉพาะแค่สล็อดล่าสุด
นายชูชาติ เตชะโพธิวรคุณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความเห็นเรื่องการจะแยกหรือรวม เห็นว่าควรจัดประมูลรวมไปในคราวเดียวกัน มูลค่าคลื่นเกิดจากการเอาคลื่นมาใช้เกิดแป็นม็ดเงิน การแยกคลื่นออกประมูลสองรอบทำให้เกิดผลกระทบการคาดการณ์และความกังวลของผู้ประมูล การแยกประมูลจะทำให้เกิดความเสี่ยงกับสาธารณะประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้ายึดเอาวิธีทางเศรษฐศาสตร์เป็นตัวตั้งการรวมประมูลจะทำให้เกิดการแข่งขัน ลดรายจ่ายเพิ่ม ไม่เสียเวลาในการดำเนินการ
การประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช.ฯ นี้ ได้จัดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยได้เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ข้างต้น ซึ่งสามารถนำส่งแบบแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.-4 เม.ย.68 ในเวลา 16.30 น.