ทริสเรทติ้งยกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" ที่ให้ไว้กับ บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ [EA] และเปลี่ยนเป็นแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" แทน ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตองค์กรและอันดับเครดิตหุ้นกู้ทั้งหมดของบริษัทที่ระดับ "BB+" ทั้งนี้ แนวโน้มอันดับเครดิต "ลบ" สะท้อนถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแผนการชำระหนี้ของบริษัท รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่ลดลงของพอร์ตการลงทุนในโรงไฟฟ้าของบริษัท ภาระหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง และความท้าทายในการฟื้นฟูธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
*แผนการชำระหนี้ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้ายังคงไม่แน่นอน
สถานะสภาพคล่องของบริษัทยังคงตึงตัว เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแผนการชำระหนี้ของบริษัท โดยในปีนี้ บริษัทมีภาระหนี้ที่ต้องชำระรวมประมาณ 1.73 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้ 7.45 พันล้านบาท เงินกู้ธนาคาร 7.77 พันล้านบาท และดอกเบี้ยประมาณ 2.1 พันล้านบาท แม้ว่าบริษัทจะสามารถระดมทุนได้ 7.4 พันล้านบาทจากการเพิ่มทุนในเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา และสามารถสร้าง EBITDA ได้ประมาณ 7.0-7.5 พันล้านบาทสำหรับกรณีที่ยังไม่ได้ขายโรงไฟฟ้า แต่เงินทุนดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมภาระหนี้ทั้งหมดที่จะครบกำหนดในปี 2568
เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง บริษัทกำลังดำเนินกลยุทธ์การจัดการหนี้หลายประการ ได้แก่ การออกหุ้นกู้ครั้งใหม่และการเจรจากับธนาคารเพื่อรีไฟแนนซ์เงินกู้ นอกจากนี้ บริษัทมีแผนขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งคาดว่าจะได้รับเงินสุทธิประมาณ 4 พันล้านบาท โดยตั้งเป้าดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกลางปี 2568 อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ของการขายโรงไฟฟ้าดังกล่าวยังคงมีความไม่แน่นอน และขึ้นอยู่กับกระบวนการตรวจสอบกิจการของผู้ซื้อ
*การฟื้นฟูธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ยังคงท้าทายอย่างมีนัยสำคัญ
ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ของบริษัทนั้นอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนจากยอดขายยานยนต์ไฟฟ้าที่หดตัวอย่างมาก และผลการขาดทุนจำนวนมากในปี 2567 บริษัทได้บันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์ครั้งใหญ่ และยุติการดำเนินงานทั้งที่โรงงานประกอบยานยนต์ไฟฟ้า และโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งสะท้อนถึงความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้
กลยุทธ์หลักในการฟื้นฟูของบริษัทมุ่งเน้นไปที่การจัดตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Venture -- JV) กับพันธมิตรจากประเทศจีน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต โดยอาศัยข้อได้เปรียบด้านเทคโนโลยีและต้นทุนของพันธมิตร ซึ่งการจัดตั้ง JV ยังช่วยลดภาระการลงทุนของบริษัทอีกด้วย บริษัทมีแผนจัดตั้ง JV สองแห่ง โดยแห่งแรกจะจัดตั้งร่วมกับหนึ่งในผู้ผลิตยานพาหนะเฉพาะทางรายใหญ่ของจีน และอีกแห่งหนึ่งจะร่วมกับผู้ผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำของจีน เพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนสำหรับระบบกักเก็บพลังงานและยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ การจัดตั้ง JV ดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้
นอกจากนี้ บริษัทกำลังวางแผนกลับเข้าสู่ตลาดรถเมล์ไฟฟ้าและรถหัวลากไฟฟ้าในประเทศไทยอีกครั้ง โดย บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้แต่งตั้งทีมผู้บริหารชุดใหม่เพื่อฟื้นฟูยอดขายของยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายในการระบายสินค้าคงคลังในโรงงานเพื่อให้ได้เงินสดมาเสริมสภาพคล่อง
ในมุมมองของทริสเรทติ้ง ความสำเร็จของแผนฟื้นฟูธุรกิจยังคงมีความไม่แน่นอน เนื่องจากต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญหลายประการ ได้แก่ การฟื้นฟูความน่าเชื่อถือของบริษัท การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยจากผู้ผลิตจีน การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความไม่แน่นอน
*กระแสเงินสดจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าแม้จะมีความเสถียรแต่กำลังลดลง
ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะลดลงในช่วงสามปีข้างหน้า โดยมีสาเหตุหลักมาจากการหมดอายุของอัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มเติม (Adder) สำหรับโรงไฟฟ้าของบริษัท นอกจากนี้ ภายใต้สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะสามารถจำหน่ายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจังหวัดพิษณุโลกได้ภายในกลางปี 2568 ในขณะที่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่จะยังคงขาดทุนในระดับปานกลาง
ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะลดลงจากประมาณ 6.0-6.5 พันล้านบาทต่อปีในปี 2568 เป็น 4.5 พันล้านบาทในปี 2570 แม้ว่ากระแสเงินสดจะลดลง แต่ทริสเรทติ้งมองว่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงเป็นแหล่งกระแสเงินสดหลักสำหรับการชำระหนี้ในระหว่างที่บริษัทพยายามฟื้นฟูธุรกิจอื่นๆ อย่างไรก็ตาม EBITDA ของบริษัทยังคงเผชิญความเสี่ยงด้านลบจากความเป็นไปได้ในการตั้งสำรองลูกหนี้การค้า และสินค้าคงคลังที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม รวมถึงการตั้งสำรองสินเชื่อเช่าซื้อที่ให้แก่ บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด
หากมองไปข้างหน้า พอร์ตการลงทุนในโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักสำหรับการดำเนินงานโดยรวมของบริษัทในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า กระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังมีเสถียรภาพและสามารถคาดการณ์ได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากผลการดำเนินงานที่เชื่อถือได้ และความเสี่ยงในการดำเนินงานต่ำ นอกจากนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ซึ่งครอบคลุมกำลังการผลิตรวม 664 เมกะวัตต์ ที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ยังคงเป็นแหล่งกระแสเงินสดที่มีความมั่นคงสูง พร้อมทั้งมีความเสี่ยงของคู่สัญญาในระดับต่ำ
*สัดส่วนภาระหนี้ยังอยู่ในระดับสูง
ทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนภาระหนี้สินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยพิจารณาจากสภาพคล่องที่จำกัด และการลงทุนของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่อาจได้รับการพัฒนาผ่านการร่วมทุนเพื่อลดภาระด้านเงินลงทุน แม้ว่ามาตรการลดภาระหนี้และการชำระหนี้ตามกำหนดจะช่วยให้ภาระหนี้ของบริษัทมีแนวโน้มลดลง แต่กระแสเงินสดจากพอร์ตการลงทุนในโรงไฟฟ้าก็มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินต่อ EBITDA ยังคงอยู่ที่ประมาณ 6-8 เท่าในช่วงระยะเวลาที่คาดการณ์
*โครงสร้างหนี้
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2567 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินรวม ซึ่งไม่รวมหนี้สินจากสัญญาเช่าทางการเงิน จำนวนทั้งสิ้น 5.79 หมื่นล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนประมาณ 3.14 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอยู่ที่ระดับ 54.2% อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะลดลงต่ำกว่า 50% หลังจากการชำระคืนหุ้นกู้ที่มีหลักประกันในเดือนพฤษภาคม 2568
สมมติฐานที่สำคัญในกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งในช่วงปี 2568-2570 มีดังนี้
- ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตคาดว่าจะอยู่ในช่วง 1,400-1,450 ล้านหน่วย
- รายได้จะลดลงในช่วง 1.3-1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี
- รายได้จากธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณ 1.5-2.0 พันล้านบาทต่อปี
- EBITDA Margin จะอยู่ระหว่าง 35%-45%
- เงินลงทุนจะอยู่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาทต่อปี
- ไม่มีการจ่ายเงินปันผล
แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงความกังวลของทริสเรทติ้งต่อสภาพคล่องของบริษัท เนื่องจากบริษัทมีภาระหนี้สินจำนวนมากที่ครบกำหนดชำระในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า การบรรเทาความตึงตัวด้านสภาพคล่องจะขึ้นอยู่กับการขายสินทรัพย์ และการเจรจาเพื่อรีไฟแนนซ์เงินกู้กับธนาคารเป็นสำคัญ
แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความสามารถของบริษัทในการฟื้นฟูธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ให้กลับมาสร้างกระแสเงินสดอีกครั้ง รวมถึงผลลัพธ์ของแผนการจัดการหนี้ใหม่ของบริษัท
- ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ทริสเรทติ้งอาจปรับลดอันดับเครดิตลง หากเห็นว่าสภาพคล่องของบริษัทลดลง ซึ่งอาจเกิดจากความล้มเหลวในการขายสินทรัพย์ตามแผนที่วางไว้ หรือการไม่สามารถจัดหาแหล่งเงินทุนอื่น ๆ ได้เพียงพอสำหรับชำระหนี้ที่ครบกำหนด นอกจากนี้ การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้น หากธุรกิจยานยนต์และแบตเตอรี่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
ในทางกลับกัน การปรับแนวโน้มเป็น "Stable" หรือ "คงที่" อาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ตามแผน และผลการดำเนินงานสอดคล้องกับการคาดการณ์ของทริสเรทติ้ง