CREDIT เปิดตัวสินเชื่อใหม่ "SME กล้าสู้" เงื่อนไขยืดหยุ่น หวังดันพอร์ตคงค้างปีนี้โต 20% ตรึง NPL ที่ 3.7%

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday April 2, 2025 16:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต [CREDIT] เปิดเผยว่า จากความสำเร็จของสินเชื่อ SME กล้าให้ ดันพอร์ตสินเชื่อธุรกิจ SME ของธนาคารทะลุแสนล้านบาทในปี 67 ล่าสุดธนาคารได้เปิดตัวสินเชื่อใหม่ ?SME กล้าสู้? ทำให้ผู้ประกอบการที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อ สามารถเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้นด้วยเงื่อนไขที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า โดยตั้งเป้าผลักดันพอร์ตสินเชื่อคงค้างธุรกิจ SME ปีนี้ให้เติบโต 20% พร้อมทั้งรักษาระดับหนี้เสีย (NPL) ของกลุ่มลูกค้าสินเชื่อ SME ไว้ที่ 3.7% เช่นเดียวกับปี 67

สำหรับแผนการดำเนินงานปี 68 ธนาคารตั้งเป้ายอดปล่อยสินเชื่อใหม่รวม 60,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น สินเชื่อกลุ่มธุรกิจ SME ราว50,000 ล้านบาท ซึ่งจะมาจาก "สินเชื่อ SME กล้าสู้" ราว 10,000-15,000 ล้านบาท หรือจำนวนลูกค้า 3,000-5,000 ราย ส่วนที่เหลือมาจากการปล่อยสินเชื่อ กล้าให้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของธนาคาร

ทั้งนี้ ธนาคารมียอดสินเชื่อกลุ่ม SME คงค้าง ณ สิ้นปี 67 ที่ระดับ 1.1 แสนล้านบาท

ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงานปี 68 ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อรวมเติบโต Double Digit จากปี 67 ที่มีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้รวม 163,158.6 ล้านบาท แม้ตลาดจะค่อนข้างมีความท้าทายหลากหลายด้าน แต่ธนาคารจะยังเดินหน้าปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าผลิตภัณฑ์สินเชื่อ SME กล้าสู้ จะเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่จะขับเคลื่อนพอร์ตสินเชื่อรวมให้เติบโตได้ตามเป้า

"ผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอี ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย แม้จะมีศักยภาพในการเติบโต แต่ยังคงต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ด้วยเหตุนี้ธนาคารฯ จึงได้พัฒนา สินเชื่อ SME กล้าให้" โดยได้เริ่มให้บริการสินเชื่อดังกล่าวอย่างเป็นทางการในปี 2562 และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาด"

นายรอยย์ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 6 ปี สินเชื่อ SME กล้าให้ มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากเดิม 2% ในปี 62 ขยายตัวเป็น 8% ในปี 67 โดยสินเชื่อในกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีมีอัตราการเติบโตโดดเด่นในหลายด้าน อาทิ ยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ (New Booking Volume) ตั้งแต่ปี 62-67 รวมกว่า 180,000 ล้านบาท คิดเป็นจำนวนมากกว่า 28,000 เคส พอร์ตสินเชื่อกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี (Loan Balance) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ระหว่างปี 62-67 อยู่ที่ 26.9% ปัจจุบันพอร์ต สินเชื่อกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีของธนาคารฯ มีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาท

"สิ่งที่ท้าทายที่สุดนอกเหนือจากการสร้างการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อแล้ว คือการทำลายกรอบเดิมๆ ของระบบการพิจารณาสินเชื่อ เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อให้ได้มากที่สุด โดยยังคงต้องอยู่ภายใต้กรอบการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม ซึ่งตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ธนาคารฯสามารถควบคุมและบริหารความเสี่ยงได้ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ เห็นได้จากภาพสะท้อนการเติบโตของพอร์ต สินเชื่อกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีของธนาคารฯ ที่มีการเติบโตอยู่ในระดับเลขสองหลักมาโดยตลอด"

ทั้งนี้ ในปี 67 ธนาคารฯ มีอัตราการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อกลุ่มไมโครเอสเอ็มอีอยู่ที่ 12.8% จากปี 66 มี NPL อยู่ที่ 3.7% สวนทางกับภาพรวมของอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อธุรกิจวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ติดลบ 5% จากปี 66 และมี NPL สูงถึง 7.01%

นายนาธัส กฤตวรานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริหารธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี CREDIT กล่าวว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่การฟื้นตัวเป็นไปอย่างล่าช้าและการชะลอตัวของสินเชื่อใหม่จากเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอีหลายรายประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้

เพื่อช่วยทลายข้อจำกัดดังกล่าว CREDIT ได้นำโมเดลการพิจารณาสินเชื่อแบบ Risk-based Pricing เข้ามาใช้เป็นครั้งแรกสำหรับกลุ่มลูกค้าไมโครเอสเอ็มอี เพื่อช่วยผ่อนปรนให้สามารถพิจารณาสินเชื่อภายใต้เงื่อนไขการบริหารความเสี่ยงที่ยอมรับได้ จึงเปิดตัว "สินเชื่อ SME กล้าสู้" อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 6.95% ต่อปี ใช้เงินฝากเป็นหลักประกัน วงเงินสินเชื่อสูงสุด 5 เท่าของหลักประกัน และไม่เกิน 10 ล้านบาท เชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไมโครเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงเงินทุนในระบบภายใต้สภาวะคับขันทางเศรษฐกิจ และสามารถก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้เพื่อการเติบโตได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังขยายเพดานวงเงินสูงสุดสินเชื่อ SME กล้าให้ จากเดิม 35 ล้านบาท เป็น 50 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจไมโครเอสเอ็มอีอย่างเต็มศักยภาพ ตามจุดยืนของธนาคารที่พร้อม STANDBY เคียงข้าง SME และยังมีแผนขยายจุดให้บริการลูกค้าธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี ด้วยการเปิด Business Center ในจังหวัดศูนย์กลางธุรกิจ เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อไมโครเอสเอ็มอีได้สะดวกและครอบคลุมยิ่งขึ้น

รวมทั้งออกมาตรการช่วยลูกค้ากลุ่ม SME ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุด 2 เดือน และปรับลดค่างวดระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ