เมื่อเวลา 11.04 น. ราคาหุ้น AMATA ร่วง 12.21% หรือลดลง 2.60 บาท มาที่ 18.70 บาท มูลค่าการซื้อขาย 361.08 ล้านบาท จากราคาเปิด 18.50 บาท ราคาสูงสุด 19.30 บาท และราคาต่ำสุด 18.50 บาท
ขณะที่ WHA ร่วง 9.83% หรือลดลง 0.34 บาท มาที่ 3.12 บาท มูลค่าการซื้อขาย 678.52 ล้านบาท จากราคาเปิด 3.10 บาท ราคาสูงสุด 3.28 บาท ราคาต่ำสุด 3.10 บาท
นักวิเคราะห์จาก บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า สหรัฐประกาศเก็บภาษีศุลกากรในหลายประเทศ รวมทั้งไทยที่ถูกเรียกเก็บ 36% ซึ่งกระทบต่อ Demand ที่ดินนิคมอุตสาหกรรมในไทย แม้ว่าสหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากไทยน้อยกว่าเวียดนามที่ถูกเรียกเก็บถึง 46% แต่อาจเป็นปัจจัยทำให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน เนื่องจากภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามรัฐบาลไทยจะมีแนวทางอย่างไร อาจมีการหาสิทธิประโยชน์ทางภาษีการค้าอื่น ๆ เพื่อชดเชยผลกระทบดังกล่าว
หุ้นนิคมฯ ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้แก่ WHA และ AMATA โดยเฉพาะ AMATA อาจได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะเพิ่งเข้าไปขยายการลงทุนพัฒนานิคมฯ ใน สปป.ลาว ที่เตรียมเปิดขายช่วงปลายปีนี้ โดยลาวก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีในอัตรา 48% สูงกว่าไทย
ขณะที่เวียดนาม สัดส่วนรายได้ของทั้ง WHA และ AMATA ในเวียดนามไม่ได้มาก เนื่องจากรายได้หลักมาจากการขายที่ดินนิคมฯ ในประเทศไทย โดย Demand นิคมฯ ในไทยส่วนใหญ่มากจากกลุ่ม Data Center ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม มองว่าราคาหุ้นกลุ่มนิคมฯ จะตอบรับเชิงลบกับประเด็ดนี้ จึงแนะนำเลี่ยงการลงทุนไปก่อน เพื่อติดตามความชัดเจนอีกครั้ง โดยเชื่อว่าหลายประเทศจะขอเจรจากับสหรัฐก่อนถึงกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย.
ขณะที่ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ให้น้ำหนักกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม OVERWEIGHT จากผลกระทบภาษีศุลกากรของทรัมป์ โดยมองว่านิคมอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากปัญหานี้ เนื่องจากลูกค้าอาจเลื่อนแผนการลงทุนออกไป กลุ่มนี้มีที่ดินในไทย เวียดนาม ลาว และเมียนมา ซึ่งต้องเสียภาษีศุลกากรสูงถึง 36%, 46%, 48% และ 49% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นๆ
จากการตรวจสอบกับ WHA ลูกค้าภาคธุรกิจไทยได้รับผลกระทบจำกัดในแง่ของการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา มีเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่มีการส่งออกโดยตรง อย่าวกลุ่มผลิตแผงโซลาร์และยางพาราส่วนใหญ่ตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อการผลิตและส่งออกภายในภูมิภาค แทนที่จะเน้นการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา
เมื่อเปรียบเทียบเวียดนามกับไทย สัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาของเวียดนามสูงกว่า เราประเมินว่าสิ่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการในเวียดนามที่ต้องเผชิญกับอัตราภาษีสูงกว่าประเทศไทย การขายที่ดินและปริมาณยอดขายรอโอน (backlog) อาจชะลอตัวลง โดยคาดว่าบริษัทต่างๆ จะใช้แนวทาง Wait and See เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้าและความเสี่ยงที่ภาษีจะเพิ่มขึ้น