
นายเอกรัตน์ แจ้งอยู่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีเอสอาร์ ลิฟวิ่ง โซลูชั่น [TSR] เปิดเผยว่า บริษัททำหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อชี้แจงกรณีผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็น เนื่องจากความไม่แน่นอนในสาระสำคัญของการดำเนินงานต่อเนื่อง กรณีงบการเงินปี 2567 มีผลขาดทุน 715 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสะสม 945 ล้านบาท โดยมีสาระสำคัญใน 4 ประเด็นดังนี้คือ
1.ปัจจัยที่ใช้พิจารณาเพื่อบ่งชี้การด้อยค่าความนิยมทั้งจำนวนของธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในระยะเวลาอันสั้น และปัจจัยที่ใช้ประกอบการพิจารณาลงทุนและความแตกต่างของผลประกอบการภายหลังการเข้าลงทุน โดย TSR ระบุว่า ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เป็นธุรกิจของ บริษัท เวนดิ้ง คอนเน็กซ์ เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย.66 ตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ของกลุ่มบริษัท SABUY
ในช่วงเวลาดังกล่าว SABUY ได้แต่งตั้งกรรมการเข้ามาทำหน้าที่บริหาร โดยมีปัจจัยที่ใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน 1.เพื่อขยายการดำเนินธุรกิจในกลุ่ม Connext 2.เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scale) ของธุรกิจ Vending Machine และ 3.กลุ่มบริษัทสามารถขยายพื้นที่ให้บริการให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้ Location บางตำแหน่งที่กลุ่มบริษัทยังไม่เคยเข้าถึง
ภายใต้กรรมการกลุ่ม SABUY ที่บริหารงานอยู่ในขณะนั้นได้นำเสนอแผนงานและการดำเนินงานเกี่ยวกับตู้สินค้าทั้งหมด ทำให้คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้ทำรายการในวงเงินไม่เกิน 320 ล้านบาท โดยภายหลังบริษัทได้เข้าซื้อตู้สินค้าจากบุคคลภายนอก และได้ก่อตั้ง เวนดิ้ง คอนเน็กซ์ เทค มาประกอบธุรกิจโดยตรง ซึ่งตกอยู่ภายใต้การบริหารงานของผู้บริหารและบุคลากรจากกลุ่ม SABUY ทั้งการสั่งซื้อสินค้า การเติมสินค้าเข้าตู้ การบริหารเจ้าหนี้ การบริหารคลังสินค้าทั้งในสินค้าคงเหลือและตู้จำหน่ายสินค้า และการเก็บเงินตามตู้ ซึ่งจากการบริหารงานโดยผู้บริหารและบุคลากรจากกลุ่ม SABUY ตั้งแต่เดือนมิ.ย.66-ก.ค.67 บริษัทย่อยประสบปัญหาสภาพคล่อง มีกระแสเงินสดที่ไม่เพียงพอ ไม่สามารถชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 2/67 มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร และ SABUY ได้สูญเสียอำนาจในการควบคุมบริษัทโดยตรง ส่งผลให้แผนธุรกิจและทิศทางการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทมีการเปลี่ยนแปลง โดยผู้บริหารชุดใหม่ได้มีการพิจารณาเห็นว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อยดังกล่าวไม่สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท จึงได้มีการเจรจาเพื่อขอส่งมอบธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติทั้งหมดให้กับ SABUY แต่การเจรจาไม่บรรลุผล ทำให้บริษัทต้องประกอบธุรกิจ และปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับรูปแบบของกลุ่มบริษัทต่อไป
2. ที่มาและสาเหตุของการพิจารณาตั้งด้อยค่าลูกหนี้ 4 ธุรกิจ ได้แก่ ขายตรงและตัวแทนจำหน่าย, ดิจิทัลออนไลน์และขายทางโทรศัพท์, ค้าปลีกและตัวแทนร้านค้า และธุรกิจองค์กร จะมีการพิจารณาการตั้งด้อยค่าตามประเภทของการให้สินเชื่อ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็นลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ ลูกหนี้เงินให้สินเชื่อ ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น
ในส่วนของ 1.ลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ มีหนี้สูญ/เครื่องที่ยึด มูลค่า 331 ล้านบาท ค่าเผื่อสงสัยจะสูญ 82 ล้านบาท รวม 413 ล้านบาท 2.ลูกหนี้เงินให้สินเชื่อ ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ รวม 41 ล้านบาท เป็นลูกหนี้ในเครือของ SABUY เดิมกว่า 30 ล้านบาท (ปัจจุบันไม่ใช่บริษัทในเครือของ SABUY) และ 3.ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ รวม 38 ล้านบาท เป็นลูกหนี้ในเครือของ SABUY เดิมกว่า 23 ล้านบาท (ปัจจุบันยังเป็นบริษัทในเครือของ SABUY) รวม 492 ล้านบาท
สำหรับการตัดหนี้สูญของลูกหนี้ที่ค้างนาน บริษัทได้ติดตามทวงถามและบอกเลิกสัญญาแล้ว ซึ่งหลักๆ จะเป็นในส่วนของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อของกิจการ จากเดิมในช่วงปี 66 การพิจารณาความเหมาะสมของการตัดหนี้สูญมีการกำหนดโดยผู้บริหารที่มาจาก SABUY ซึ่งมีการตัดหนี้สูญน้อยกว่าอดีต และการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญคำนวณตามหลักของ TFRS9 โดยหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารในช่วงกลางปี 67 จึงได้มีการจัดทำนโยบายการตัดหนี้สูญและปรับใช้ให้เหมาะสมและสอดคล้องครอบคลุมกับสภาพลูกหนี้ในปัจจุบัน ทำให้มีผลกระทบต้องบันทึกเพิ่มเติมจากที่ทาง SABUY บันทึกในปี 66 กว่า 85 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนของลูกหนี้ที่เป็นบริษัทในเครือของ SABUY รวมจำนวน 53 ล้านบาท ไม่ได้มีการติดตามทวงถามหนี้อย่างเหมาะสมในช่วงการบริหารงานของกรรมการจากกลุ่ม SABUY แต่ในปัจจุบันทางบริษัทได้มีการติดตามทวงถามตามกระบวนการที่เหมาะสมแล้ว
3. สรุปการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัท ณ ปัจจุบัน และธุรกรรมที่ยังคงมีกับผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม (SABUY) ปัจจุบันบริษัทได้ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้เช่าตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับ SABUY เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ บริษัทได้ปรับรูปแบบเป็นการให้เช่าตู้
ประกอบกับปัจจุบันไม่มีผู้บริหารหรือกรรมการจากกลุ่ม SABUY มาร่วมบริหารแล้ว ณ วันที่ 31 ธ.ค.67 ธุรกรรมที่ยังคงมีกับ SABUY ได้แก่ 1.ยอดเงินกู้ยืมระยะสั้นจำนวนเงิน 873 ล้านบาท และดอกเบี้ยค้างจ่ายจำนวนเงิน 73 ล้านบาท รวมจำนวน 946 ล้านบาท 2.สินทรัพย์มูลค่า 175 ล้านบาทใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินให้ SABUY ได้แก่ 2.1 สินทรัพย์ทางการเงินจำนวน 11.05 ล้านหุ้น จำนวน 7 ล้านบาท นำไปค้ำประกันวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งให้ SABUY 2.2 อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน 51 ล้านบาท และที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ 117 ล้านบาท รวมมูลค่า 168 ล้านบาท นำไปค้ำประกันวงเงินกู้ยืมระยะยาวกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งให้ SABUY
และประเด็นที่ 4.ความคืบหน้าของการเจรจาแนวทางการแก้ไขปัญหา และมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้กับผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม (SABUY) สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้ต่าง ๆ รวมทั้งการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว
หนี้สินกับสถาบันการเงินและเจ้าหนี้ต่างๆ ทางบริษัทได้ดำเนินการเจรจา เพื่อขอปรับเงื่อนไขและระยะเวลาในการชำระหนี้ รวมถึงขอผ่อนปรนเงื่อนไขตามสัญญาเงินกู้ เพื่อจัดหาแหล่งเงินมาชำระหนี้ รวมทั้งได้พิจารณาขายทรัพย์สินบางส่วน นอกจากนี้ ยังได้เจรจากับสถาบันการเงินบางแห่ง เพื่อขอ refinance และหาพันธมิตรมาร่วมลงทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับบริษัท
สำหรับหนี้สินกับ SABUY ซึ่งเดิมเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั้น เมื่อวันที่ 10 ต.ค.67 คณะกรรมการของ SABUY ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินต้น ดอกเบี้ยค้างจ่าย และดอกเบี้ยในอนาคต ให้กับบริษัทจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.69 แต่เมื่อวันที่ 24 ม.ค.68 กลับมีหนังสือแจ้งยกเลิกความเห็นชอบดังกล่าว และเรียกร้องให้บริษัทชำระหนี้คงค้างคืนทั้งหมด
แต่อย่างไรก็ตาม หนี้ดังกล่าวนี้เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในขณะที่ SABUY ได้แต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารเข้ามาบริหารงานในบริษัท และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีความไม่สอดคล้องลงตัว ไม่โปร่งใส และไม่ได้มีการนำเงินไปประกอบธุรกิจหลัก บริษัทจึงได้มีการส่งหนังสือฉบับลงวันที่ 20 ก.พ.68 แจ้งให้ SABUY ทราบ และจะพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดต่อไป โดยในปัจจุบัน อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินคดีของสำนักกฎหมาย ซึ่งหากมีข้อสรุปที่ชัดเจนบริษัทจะได้แจ้งให้ทราบต่อไป