ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สั่ง บมจ.อควา คอร์เปอเรชั่น (AQUA) และ บมจ.เพียร์ ฟอร์ ยู (PEER) ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมในงบการเงินปี 67 โดย AQUA ถือหุ้น 25% ใน PEER ให้บริการศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ และบริการพัฒนาและจิดตั้งระบบศูนย์บริการข้อมูล
PEER เข้าไปลงทุนในธุรกิจหลากหลาย ได้แก่ ให้กู้ยืมเงินกับ XIBO ที่เป็นบริษัท Holding ลงทุนในธุรกิจร้านอาหาร , จ่ายเงินมัดจำ 100 ล้านบาทเพื่อศึกษาการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าของ กบมจ. อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป [EP] , ถือหุ้น 5% ใน บมจ. นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น [NEWS] , ถือหุ้น 91% ใน PFA ธุรกิจฟินเทค, ถือหุ้น 100% ใน PPP ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน, ถือหุ้น 99% ใน HPS ให้บริการและจำหน่ายสินค้าผ่าน Omni Channel
ตลท.ระบุว่า ผู้สอบบัญชีของ AQUA มีข้อสังเกตดังนี้ (1) บริษัทย่อยไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายหุ้นอาจกระทบมูลค่าเงินมัดจำ (2) บริษัทร่วม 2 แห่งวางเงินมัดจำเพื่อซื้อที่ดินและศึกษาโครงการโรงไฟฟ้า ต่อมายกเลิกรายการแต่ยังไม่ได้รับเงินคืน และ (3) ความไม่แน่นอนอย่างมีสาระสำคัญต่อการดำเนินงานต่อเนื่องของบริษัท ซึ่งมีนัยสำคัญต่อฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท โดยขอให้ชี้แจงภายใน 16 เม.ย.68 ส่วนความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบให้ชี้แจงภายใน 22 เม.ย.68 นอกจากนี้ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินและติดตามคำชี้แจงของบริษัท
ขณะที่กรณีของ PEER ปรากฏผลขาดทุน 164 ล้านบาทจากการบันทึกด้อยค่าค่าความนิยม 280 ล้านบาทในธุรกิจที่ลงทุนในปี 67 (39% ของมูลค่าลงทุน) นอกจากนี้ผู้สอบบัญชียังมีข้อสังเกตกรณีบริษัทยังไม่ได้รับเงินมัดจำคืนจากการยกเลิกการลงทุน 30 ล้านบาท และบันทึกด้อยค่าลูกหนี้จากการขายเงินลงทุน 120 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 66 ปัจจุบันยังไม่สามารถติดตามหนี้ได้ ซึ่งอาจกระทบต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และการประกอบธุรกิจของบริษัท
*AQUA
ข้อมูลสำคัญในงบการเงินปี 67
? เดือนสิงหาคม 2567 บจก. เอฟเอบี ฟู้ดโฮดิ้ง (FAB : บริษัทย่อย 100%) จะซื้อหุ้นทั้งหมดของ บจก. ยามะจัง (ไทยแลนด์) (YMC) ซึ่งประกอบธุรกิจอาหาร ในราคา 610 ล้านบาท วางเงินมัดจำ 231 ล้านบาท (38% ของมูลค่าซื้อ) โดย FAB ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายหุ้น อาจกระทบมูลค่าเงินมัดจำที่จะได้รับคืนในอนาคต
? บริษัทร่วม 2 แห่ง คือ บมจ. ไทยพาร์เซิล (TPL) และ PEER วางเงินมัดจำเพื่อซื้อที่ดินและศึกษาโครงการโรงไฟฟ้า ต่อมายกเลิกรายการแต่ยังไม่ได้รับเงินคืนรวม 110 ล้านบาท
? ความไม่แน่นอนอย่างมีสาระสำคัญต่อการดำเนินงานต่อเนื่อง กรณีปี 2567 ขาดทุน 988 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 3,188% ขณะที่ปี 66 มีกำไร 32 ล้านบาท) โดยมีสาเหตุสำคัญดังนี้
(1) ขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมในอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน 435 ลบ.
(2) รับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากบมจ. อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) และ PEER 385 ลบ.
(3) ขาดทุนจากการด้อยค่าลูกหนี้และสินทรัพย์ต่างๆ 224 ลบ.
- เงินให้กู้ยืมแก่ บจก. เอธธิคอล กูร์เมต์ (EG) ปี 67 ยอดคงเหลือ 128 ลบ. ด้อยค่า 74 ลบ.
- ค่าความนิยมของ บจก. เฉลิมภัทร คอร์ปอเรชั่น ซึ่งลงทุนเมื่อ มี.ค. 66 โดยซื้อหุ้น 79% ราคา 463 ลบ. มีค่าความนิยม 281 ลบ. ด้อยค่าความนิยม 30 ลบ.
- ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้หมุนเวียนอื่น ด้อยค่า 69 ลบ.
- สินทรัพย์ที่เกิดจากสัญญา ด้อยค่า 43 ลบ.
- ค่าเสียหายจากคดีฟ้องร้อง 6 ลบ.
- ขาดทุนจากการจำหน่ายสินทรัพย์หมุนเวียนอื่น 2 ลบ.
ตลท.ขอให้ชี้แจงข้อมูลดังนี้
1. สาเหตุที่ FAB ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายหุ้นได้ ความคืบหน้าในการแก้ปัญหาและกรอบเวลาที่คาดว่าแล้วเสร็จ ความเสี่ยง/การป้องกันความเสี่ยงที่จะไม่ได้เงินมัดจำคืน ผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ FAB และการด้อยค่าเงินลงทุน
2. ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับ
(1) ความเหมาะสมและเพียงพอของการวางเงินมัดจำและการบันทึกด้อยค่าต่างๆ รวมทั้งความเหมาะสมของแนวทางการติดตามลูกหนี้และมูลค่าหลักประกัน
(2) มาตรการกำกับดูแลบริษัทย่อยและบริษัทร่วม ความเสี่ยงจากการให้เงินกู้ยืม การลงทุนในธุรกิจต่างๆ การลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานเป็นขาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ นโยบายการลงทุนหรือ ทำธุรกรรมใดๆ ในอนาคตเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
3. ขอให้บริษัทรายงานความคืบหน้าในการติดตามเพื่อให้ได้รับเงินมัดจำคืนและเงินให้กู้ยืมแก่ EG พร้อมกับการนำส่งงบการเงินทุกไตรมาสหรือเมื่อมีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ ที่สำคัญจนกว่าจะได้ข้อสรุปหรือได้รับชำระหนี้ครบถ้วน
*PEER
สรุปเหตุการณ์และข้อมูลสำคัญในงบการเงินประจำปี 2567
? ปี 67 บริษัทมีการซื้อเงินลงทุนใน บจก. เพียร์ ฟอร์ ออล (PFA) บจก. แฮปปี้ โปรดักส์ แอนด์ เซอร์วิส (HPS) และบจก. พรอสเพอร์พลัส จำกัด (PPP) มูลค่า 725 ล้านบาท ต่อมามีการบันทึกด้อยค่าความนิยมรวม 280 ล้านบาท ของ PFA และ HPS สำหรับ PPP ไม่สามารถประกอบธุรกิจภายใต้ใบอนุญาตที่มีอยู่เดิมได้
? บริษัทได้โอนส่วนงาน Call Center บางส่วนให้แก่ บจก.วันทูวัน โปรเฟสชั่นแนล (OTP) เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการปรับโครงสร้างธุรกิจเป็น Holding Company ต่อมาเดือนสิงหาคม 2567 PEER ขายเงินลงทุนใน OTP และเปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทร่วม (30%) ทั้งนี้ ภายหลังจำหน่ายหุ้น OTP แล้ว PEER ยังมีสถานะเป็น Operating Company เนื่องจากยังบริหารจัดการสัญญากับลูกค้าซึ่งจะทยอยหมดอายุภายในปี 2569
? บริษัทยังมีธุรกรรมอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ได้ รวม 190 ล้านบาท สรุปดังนี้
(1) เงินมัดจำการเข้าศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เวียดนามของ EP (15% ของราคาซื้อ) 30 ลบ.
(2) การบันทึกด้อยค่าลูกหนี้จากการขายเงินลงทุนทั้งหมดใน บจก.ฟิจิตอล สเปซ ดีเวลลอปเม้นท์ (PSD) ตั้งแต่ปี 2566 วงเงิน 120 ลบ.
(3) เงินให้กู้ยืมแก่ XBIO (ตั้งด้อยค่าแล้วในปี 2566) 40 ลบ.
ตลท.ขอให้ชี้แจงข้อมูลดังนี้
1. ปัจจัยที่ใช้พิจารณาเพื่อบ่งชี้การด้อยค่าค่าความนิยมของ PFA และ HPS ในระยะเวลาอันสั้น ปัจจัยที่ใช้ประกอบการพิจารณาลงทุนและความแตกต่างของผลประกอบการภายหลังเข้าลงทุนพร้อมเหตุผล รวมทั้งความเสี่ยงที่อาจด้อยค่า เงินลงทุนและค่าความนิยมเพิ่มเติมในอนาคต
2. สาเหตุที่ PPP ไม่สามารถประกอบธุรกิจภายใต้ใบอนุญาตที่มีอยู่เดิมได้ กรณีดังกล่าวฝ่ายจัดการได้ทราบและเป็นหนึ่งในข้อมูลความเสี่ยงที่คณะกรรมการบริษัทได้ใช้เพื่อพิจารณาเข้าลงทุนหรือไม่ อย่างไร เงื่อนไข/ข้อตกลงสำคัญในการเข้าลงทุน รวมทั้งการชดเชยค่าเสียหายจากการไม่สามารถประกอบธุรกิจได้และความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว ปัจจุบัน PPP มีการประกอบธุรกิจหรือไม่ อย่างไร
3. สรุปการดำเนินการที่ผ่านมาและความคืบหน้าการติดตามหนี้ (190 ล้านบาท) แนวทางดำเนินการเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดคืน รวมทั้งบริษัทตั้งด้อยค่าเงินมัดจำโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่เวียดนามแล้วหรือไม่ มาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงหรือบังคับขายหลักประกันกรณีอาจจะไม่ได้รับชำระหนี้ (ถ้ามี)
ทั้งนี้ ขอให้บริษัทเปิดเผยความคืบหน้าการได้รับชำระหนี้พร้อมกับการนำส่งงบการเงินทุกไตรมาสหรือเมื่อมีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ ที่สำคัญจนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน
4. นโยบายการประกอบธุรกิจในอนาคตของบริษัทภายหลังจากการจำหน่ายธุรกิจให้บริการศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าสัมพันธ์ ความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างเป็น Holding Company บริษัทได้ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องแล้วหรือไม่ อย่างไร ปัจจุบันบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักคือบริษัทใด ทั้งนี้ หากอยู่ระหว่างดำเนินการ ขอให้รายงานความคืบหน้าพร้อมกับการนำส่งงบการเงินทุกไตรมาสหรือเมื่อมีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ ที่สำคัญจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ
5. ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับ
(1) ความเหมาะสมและเพียงพอของการตั้งด้อยค่าต่างๆ รวมทั้งความเหมาะสมของแนวทางการติดตามลูกหนี้
(2) มาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงจากการให้เงินกู้ยืม การลงทุนในธุรกิจต่างๆ การลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานแต่ละปี ทำให้มีขาดทุนสุทธิอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงหากมีการลงทุนหรือทำธุรกรรมใดๆ ในอนาคตด้วย