
นางสาวออมสิน ศิริ ประธานกรรมการบริหาร บล.บียอนด์ ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ของ บมจ.บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป [BKA] เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของ BKA จำนวน 60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ในราคาหุ้นละ 1.80 บาท ระหว่างวันที่ 8-10 เม.ย. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า นักลงทุนให้ความสนใจจองซื้อหุ้นเต็มจำนวนตั้งแต่วันแรก สะท้อนความเชื่อมั่นที่มีต่อปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง รวมถึงศักยภาพและโอกาสการเติบโตในอนาคต

ทั้งนี้ หุ้น BKA มีความพร้อมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 22 เมษายน 2568 นี้ ภายใต้ชื่อหลักทรัพย์ว่า "BKA"
"ธุรกิจของ BKA ไม่ใช่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง แต่เป็นธุรกิจการให้บริการปรับปรุง บ้านมือสองเพื่อขาย "ธุรกิจบ้านแต่ง" หรือ "Flipping" ซึ่งธุรกิจในรูปแบบดังกล่าว เป็นการวางเงินประกัน เพื่อปรับปรุง และขายบ้าน โดยไม่ต้องลงทุนซื้อบ้านทั้งหลัง ทำให้บริษัท มีส่วนต่างของผลตอบแทนที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องลงทุนตั้งแต่การซื้อที่ดินและก่อสร้าง ดังนั้นด้วยศักยภาพและจุดเด่น จึงมองว่า BKA เป็นหุ้นน้องใหม่ IPO ที่จิ๋วแต่แจ๋ว ในเรื่องของการสร้างผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน"
นายพชร ธนวงศ์เกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BKA เปิดเผยว่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตสู่การเป็นผู้นำธุรกิจบริการซื้อ-ขายบ้านมือสองตกแต่งใหม่ ภายใต้ธุรกิจให้บริการปรับปรุงบ้านมือสองเพื่อขาย ในรูปแบบธุรกิจบ้านแต่ง (Flipping) ธุรกิจนายหน้าซื้อ-ขาย อสังหาริมทรัพย์ (ธุรกิจบ้านฝาก) และธุรกิจซื้อบ้านมือสองมาปรับปรุงเพื่อขาย (ธุรกิจบ้านตัด) ซึ่งทำให้ในวันนี้ "BKA เป็นที่หนึ่งเรื่องบ้านมือสอง
BKA เป็นผู้ประกอบการที่ให้บริการซื้อ-ขายบ้านมือสองที่ครอบคลุมทุกมิติ ภายหลังจากที่ได้เงินจากการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทมีแผนในการนำเม็ดเงินไปขยายพอร์ตการให้บริการบ้านแต่ง (Flipping) เพิ่มขึ้น รวมถึงนำไปพัฒนาธุรกิจ Property Technology (Prop Tech) โดยสร้าง Platform ตัวกลางในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จากการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการค้นหาข้อมูลให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน และเทคโนโลยีระบบเสมือนจริง (Virtual Reality) มาใช้ในการแนะนำบ้านให้กับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านได้เห็นภาพบ้านเสมือนจริงทางออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต้องการดูบ้าน และเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขัน สู่การสร้างโอกาสการเติบโตให้กับบริษัทในอนาคต
"ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ก่อตั้งบริษัท ที่ถือหุ้นรวมกัน 87% ของทุนชำระแล้วก่อน IPO หรือคิดเป็น 62.14% ของทุนชำระแล้วหลัง IPO นอกจากจะนำหุ้นติด Silent Period ตามหลักเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดห้ามขายหุ้นในสัดส่วน 55% ของทุนชำระแล้วหลัง IPO เป็นระยะเวลา 1 ปี แล้ว หุ้นที่เหลือส่วนที่ไม่ติด Silent Period ตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ จำนวน 15 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 7.14% ของทุนชำระแล้วหลัง IPO จะถูกห้ามขายโดยสมัครใจ (Voluntary IPO Lock Up) เป็นระยะเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่เริ่มทำการซื้อขายหุ้นของบริษัท ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ส่งผลให้มีหุ้นเดิมที่ถือโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่พร้อมใจกันงดการเสนอขาย หรือโอนด้วยวิธีการใดๆ นับแต่วันที่หุ้นเริ่มซื้อขาย (Lock-Up) ทั้งหมด 87% เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน"
นอกจากนี้ นายพชร ยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงที่ผ่านมาว่า ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจ BKA เนื่องจากบริษัทดำเนินธุรกิจบริการซื้อขายบ้านมือสองตกแต่งใหม่ ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์แนวราบโอกาสมีความเสียหายจากแผ่นดินไหวน้อยมากเมื่อเทียบกับคอนโดมิเนียม บ้านของบริษัททุกหลังไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว
ในทางกลับกันบริษัทได้รับผลเชิงบวก เพราะผู้ที่ต้องการซื้อคอนโดมิเนียมเปลี่ยนใจมาซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบแทน และด้วยระดับราคาที่คุ้มค่า ซึ่ง BKA สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ ล่าสุด มีลูกค้าสนใจติดต่อเข้ามาดูบ้านมือสองของ BKA เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มบ้านเดี่ยวในระดับราคา 5-7 ล้านบาท สะท้อนถึงอัตราความต้องการบ้านมือสองตกแต่งใหม่ของบริษัทที่เพิ่มขึ้น
ด้านนางนิสาภรณ์ ฤกษ์อร่าม กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า หลังจากปิดการจองซื้อหุ้น IPO ของ BKA มีผลตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน ที่เชื่อมั่นในศักยภาพและโอกาสการเติบโตของธุรกิจ และด้วยความเชี่ยวชาญ ควบคู่กับประสบการณ์ในธุรกิจของผู้บริหารมาเป็นระยะเวลามากกว่า 12 ปี ยิ่งตอกย้ำศักยภาพความน่าเชื่อถือในการสร้างโอกาสการเติบโตให้กับบริษัทการระดมทุนของ BKA ในครั้งนี้ จะช่วยสร้างความแข่งแกร่งด้านฐานะทางการเงินให้แก่บริษัทที่พร้อมจะนำไปสร้างโอกาสเพื่อต่อยอดการลงทุน โดยเฉพาะในธุรกิจให้บริการบ้านแต่ง (Flipping) เพิ่มขึ้น
เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวสามารถสร้างผลตอบแทนสูง เพราะเป็นธุรกิจที่วางเงินประกัน เพื่อปรับปรุง และขายบ้าน โดยไม่ต้องลงทุนซื้อบ้านทั้งหลัง ทำให้ประหยัดเงินลงทุน นอกจากนี้มองว่า ตลาดบ้านมือสองยังมีศักยภาพการเติบโต โดยเห็นได้จาก สถาบันการเงินและ AMC มีทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ที่ค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก และเป็นสินค้าบ้านมือสองทำเลดี ราคาคุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งสอดรับกับการดำเนินธุรกิจของ BKA ที่ให้บริการปรับปรุงและขายบ้านมือสอง ซึ่งมีรายได้กระจายไปในบ้านแต่ง บ้านฝาก และบ้านตัด หลายโครงการในทำเลที่ดี
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (65-67) BKA มีรายได้รวม จำนวน 1,302.92 ล้านบาท 1,313.59 ล้านบาท และ 1,142.46 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 21.44 ล้านบาท 22.27 ล้านบาท และ 36.82 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 1.65 ร้อยละ 1.70 และร้อยละ 3.22 ตามลำดับ