ฟิทช์ จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ PTTAR ที่ ‘A(tha)’/‘F1(tha)’

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 26, 2008 14:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ ‘A(tha)’ และระยะสั้นที่ระดับ ‘F1(tha)’ แก่บมจ.ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น(PTTAR)แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้มีหลักประกันชนิดทยอยคืนเงินต้นของบริษัทที่ระดับ ‘A+(tha)’  
อันดับเครดิตสะท้อนถึงลักษณะการดำเนินธุรกิจที่มีการพึ่งพากันในระดับที่สูงระหว่างบริษัทกับ บมจ.ปตท.(PTT) ซึ่งการได้รับการสนับสนุนจาก ปตท. ขนาดของกิจการที่ใหญ่ขึ้นและความคล่องตัวและการกระจายตัวในการดำเนินธุรกิจที่มากขึ้นหลังจากการควบรวมบริษัท ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนของรายได้และกำไรของบริษัทลงได้ในระดับหนึ่ง
ฟิทช์ยังกล่าวอีกว่าการควบรวมกิจการช่วยเพิ่มความได้เปรียบในด้านต้นทุนเนื่องจากขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น (Economy of Scale) และทำให้สถานะทางการตลาดของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งยังทำให้สถานะทางการเงินแข็งแกร่งขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้หลังจากที่โครงการอะโรเมติกส์แห่งที่สอง (CPX II) แล้วเสร็จ PTTAR จะเป็นหนึ่งในห้าผู้ผลิตอะโรเมติกส์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียและเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงการมีสัญญาซื้อวัตถุดิบระยะยาวและสัญญาการขายอะโรเมติกส์ระยะยาวรองรับ โรงกลั่นน้ำมันของบริษัทที่มีความทันสมัยและระบบการกลั่นที่ซับซ้อน และความได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิตของบริษัท ผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ส่วนใหญ่ของบริษัทจะถูกขายให้กับ ปตท. ภายใต้สัญญาการขายระยะยาว ในขณะเดียวกันวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตอะโรเมติกส์ซึ่งได้แก่ คอนเดนเสท ได้มาจากแหล่งวัตถุดิบในประเทศในอ่าวไทยโดยมี ปตท. เป็นผู้จัดหาภายใต้สัญญาซื้อขายระยะยาว
ความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตของบริษัท ถูกลดทอนลงจากปัจจัยเสี่ยงที่บริษัทต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงของราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันสำเร็จรูป ค่าการกลั่น ตลอดจนลักษณะผันผวนของวัฏจักรของธุรกิจอะโรเมติกส์ บริษัทยังเผชิญกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดหาน้ำมันดิบในธุรกิจการกลั่นน้ำมันเนื่องจากบริษัทยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบในสัดส่วนที่สูง นอกจากนี้อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงการลงทุนที่ค่อนข้างสูงซึ่งจะทำให้สัดส่วนหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า และความเสี่ยงจากการที่บริษัทมีฐานลูกค้าที่ไม่กระจายตัวมากพอ
PTTAR ประกาศผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในปี 2550 โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 2.58 หมื่นล้านบาท (คำนวณจากงบเสมือนงบการเงินรวมของบริษัทและไม่ได้ผ่านการตรวจสอบ) เพิ่มขึ้น 59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากค่าการกลั่นและส่วนต่างของราคาขายผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตามผลการดำเนินงานของบริษัทลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 โดยมี EBITDA เพียง 2.2 พันล้านบาทแม้ว่าบริษัทจะมีค่าการกลั่นที่ยังคงแข็งแกร่งอยู่และมีปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นก็ตาม EBITDA ที่ลดลงเกิดจากการลดลงอย่างมากของส่วนต่างของราคาขายผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น
แม้ว่าฟิทช์ได้คาดการณ์เอาไว้แล้วว่ากำไรจากการดำเนินงานของ PTTAR น่าจะลดลงในปี 2551 และ 2552 เนื่องจากการคาดการณ์ว่าค่าการกลั่นและส่วนต่างของราคาขายผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์จะอ่อนตัวลง แต่การลดลงของค่าการกลั่นและส่วนต่างของราคาขายผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์อย่างมากและต่อเนื่องอาจจะส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของ PTTAR ได้
แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ที่ว่าสถานะทางการตลาดและการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นของบริษัทจะช่วยสนับสนุนการลงทุนที่ค่อนข้างสูงดังกล่าว ฟิทช์ยังคาดอีกว่าบริษัทจะสามารถรักษาสัดส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับสัดส่วนหนี้สินของอันดับเครดิต ณ ปัจจุบันของบริษัทได้ตลอดช่วงวัฏจักรของธุรกิจการกลั่นน้ำมันและธุรกิจอะโรเมติกส์
PTTAR ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.50 จากการควบรวมกิจการระหว่างบมจ.อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย)(ATC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตอะโรเมติกส์รายแรกและรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กับบมจ.โรงกลั่นน้ำมันระยอง(RRC) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์ที่มีกำลังการกลั่นที่ 145,000 บาร์เรลต่อวัน
การควบรวมกิจการดังกล่าวเกิดจากความต้องการของ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของทั้งสองบริษัท ที่จะปรับโครงสร้างการลงทุนในธุรกิจการกลั่นน้ำมันและธุรกิจปิโตรเคมี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการร่วมกันดำเนินธุรกิจ (Integration) และลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนในธุรกิจดังกล่าว โดยหลังจากการควบรวมกิจการ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท โดยถือหุ้นอยู่ร้อยละ 48.7

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ