บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) ประเมินต้นทุนใหม่งานก่อสร้างโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง(แอร์พอร์ต เรลลิงค์) แม้จะได้รับการขยายระยะเวลาก่อสร้างอีก 370 วันหรือแล้วเสร็จภายในต้นปีหน้า ทำให้ไม่ต้องกังวลการจ่ายค่าปรับกรณีก่อสร้างล่าช้าก็ตาม แต่แนวโน้มต้นทุนยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะซ้ำเติมมาร์จิ้นจากโครงการนี้ที่ติดลบอยู่แล้ว
นายวรพันธ์ ช้อนทอง กรรมการรองผู้จัดการสายงานการเงินและบริหาร STEC กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ต้นทุนการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็น วัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็ก , ราคาน้ำมัน รวมถึง ค่าแรง ต่างก็ปรับตัวสูงขึ้นมามาก ขณะที่งานด้านโยธายังเหลืออยู่ถึง 20% บริษัทจึงต้องมาประเมินค่าก่อสร้างใหม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปประมาณเดือนก.ค.
"ผมยังกังวลอยู่ เรื่องวัสดุที่ราคาเพิ่มขึ้น อาจจะส่งผลถึงต้นทุนที่เราตั้งไว้ว่ารองรับพอไหมที่เคยตั้งสำรองไว้ ก็ต้องพยายามเต็มที่จะควบคุมอยู่ให้ได้...ถ้าจำเป็นต้องตั้งสำรองโครงการเพิ่ม ก็คิดว่าไม่มาก" "นายวรพันธ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ เมื่อปีก่อน STEC ได้ตั้งสำรองผลขาดทุนของโครงการนี้ไว้ 10% จากมูลค่าโครงการในส่วนที่บริษัทรับผิดชอบงานด้านโยธา จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท
นายวรพันธ์ กล่าวว่า การขยายเวลาก่อสร้างออกไป อีกด้านหนึ่งก็จะทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามมาด้วย ได้แก่ ค่าควบคุมงาน ค่าประกันภัย และค่าสาธารรูปโภคต่างๆ ประกอบกับ ไม่สามารถล็อกราคาเหล็กเส้นที่ต้องใช้เป็นจำนวนมาก
"ตอนนี้อยู่ระหว่างประเมินต้นทุนใหม่ ให้ปิดไตรมาส 2 ก่อนจะเห็นชัดเจน ช่วงเดือน ก.ค.เราจะมาดูต้นทุนจริงว่าจะเราจะต้องใช้เท่าไร" นายวรพันธ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทุกโครงการของบริษัทจะมีการประเมินต้นทุนใหม่ทุก ๆ ไตรมาสอยู่แล้ว หากมีความจำเป็นต้องตั้งสำรองก็ต้องทำ ไม่ใช่แค่เพียงโครงการแอร์พอร์ตลิงค์เพียงโครงการเดียว แต่เห็นว่าเนื้องานของโครงการดังกล่าวน้อยลงไปมากแล้ว ดังนั้น หากต้องตั้งสำรองเพิ่มก็คงไม่ได้มากมายอะไร
วานนี้ คณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) มีมติอนุมัติขยายเวลาก่อสร้างให้กลุ่มกิจการร่วมค้าบี.กริมม์ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมี STEC เป็นแกนนำในการก่อสร้างโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ออกไปอีก 370 วัน จากก่อนหน้าขยายไปแล้ว 180 วัน รวมได้ขยายเวลาออกไป 550 วัน หรือ กำหนดแล้วเสร็จเดือนก.พ.52
นายวรพันธ์ กล่าวว่า สำหรับระยะเวลาที่ขยายให้อีก 370 วันน่าจะเพียงพอกับการก่อสร้างทั้งงานด้านโยธาและงานระบบรางให้แล้วเสร็จได้ทันตามกำหนด แต่หากงานใดงานหนึ่งไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนดก็จะถูกปรับ ซึ่งขณะนี้งานด้านโยธาก่อสร้างได้ประมาณ 80% แล้ว
ขณะเดียวกัน ในไตรมาส 2/51 คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นหรือมาร์จิ้น คงไม่แตกต่างกับไตรมาสแรกที่ผ่านมา ที่อยู่ประมาณ 2% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ไม่ต่ำกว่า 3% โดยมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/51 ที่ 45.8 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลจากราคาวัสดุปรับสูงขึ้นรวมถึงราคาน้ำมัน แต่รายได้จะต่ำกว่าไตรมาส 1/51 ที่มี 3.6 พันล้านบาท
นายวรพันธ์ คาดว่า ปีนี้บริษัทจะไม่ขาดทุน แต่มาร์จิ้นอาจจะไม่ได้ตามเป้าที่ 3-5% ส่วนรายได้ก็ยังคาดว่ารับรู้ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าปี 50 ที่มี 1.7 หมื่นล้านบาท จากงานในมือ(Backlog) มีอยู่ 2.2 หมื่นล้านบาทในช่วงต้นปี
"คิดว่าปีนี้ไม่ขาดทุนแน่ๆ แต่กำไรมากน้อยแค่ไหนประเมินยาก เพราะราคาวัสดุค่อนข้างสวิง เราเคยตั้งความหวังเมื่อปลายปีที่แล้วว่าปีนี้ อย่างน้อยไตรมาสแรก มาร์จิ้นจะดีกว่า 3% แต่ก็ไปไม่ได้ และน้ำมันก็ยังขึ้นไม่หยุด" นายวรพันธ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน งานใหม่ที่เข้ามาเพิ่มก็พลาดเป้า โดยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีงานใหม่เข้ามาเพียง 6-7 พันล้านบาท จากที่คาดว่าวปีนี้จะได้งานใหม่ประมาณ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท เพราะประมูลโครงการภาครัฐได้น้อย ส่วนใหญ่เป็นงานของเอกชน อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดหวังหากประมูลงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางซื่อ-บางใหญ่)ได้ก็จะช่วยทำให้ได้งานใหม่ได้ตามเป้า ทั้งนี้บริษัทยื่นประมูลทั้ง 3 สัญญาๆละกว่า 1 หมื่นล้านบาท
สำหรับงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และ สายสีเขียว บริษัทขอรอดูเงื่อนไขในการประมูล หรือ ทีโออาร์ก่อน และคาดว่ากว่าจะยื่นประมูลคงเป็นต้นปีหน้า จากที่คาดว่าจะเปิดขายซองประมูลในปลายปีนี้
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--