นายกวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตัวเลขอัตราเงินเฟ้องวดเดือน พ.ค.ที่ขยายตัวถึง 7.6% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี ถือว่าสูงเกินกว่าที่คาดไว้มาก เพราะคาดหมายว่าจะอยู่ที่ 6%ปลาย ๆ ไม่คิดว่าจะสูงจนทะลุ 7% ดังนั้น คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในวันพรุ่งนี้(3 มิ.ย.)จะปรับตัวลงต่อแน่ รับผลกระทบจากตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงมาก และยังมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นไปอีก
สำหรับเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในเดือนพ.ค.เป็นผลจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมัน, ค่าโดยสาร, ค่าแรงงาน ซึ่งหลาย ๆ อย่างได้มีการปรับราคาขึ้นในช่วงเดือนพ.ค. แต่ก็ยังมีสินค้าจำนวนมากที่ยังรอการปรับขึ้นราคาอยู่ จึงน่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปอีกจนกระทั่งแตะจุดสูงสุดในไตรมาส 3/51 ใกล้ระดับ 10%
"นี่ยังไม่จบนะ เพราะยังมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากพวกนี้ด้วย ที่ยังไม่ได้ขึ้น อย่างสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้นก็ยังไม่ได้ปรับขึ้นราคา ผลกระทบจากราคาน้ำมันหลาย ๆ อันที่ยังไม่ได้ขึ้น ถูกดึงไว้ ก็คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อไปถึงมิ.ย., ก.ค.ต่อไปเรื่อย ๆ แล้วทำท่าว่า อาจจะไป peak ในช่วงไตรมาส 3/51 มองไปเรื่อย ๆ ตัวเลขเงินเฟ้อน่าจะสูงกว่านี้ได้อีก อาจะใกล้ระดับ 10% เนื่องจากไปดูตัวเลข PPI ได้ขึ้นไปเกิน 10% มาหลายเดือนแล้ว แล้วปกติ CPI จะวิ่งตาม PPI"นายกวี กล่าว
นายกวี กล่าวอีกว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมากนี้น่าจะเป็นปัจจัยลบ เพราะว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะกำหนดนโยบายการเงินได้ลำบากมากขึ้น เนื่องจากหากจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวไปอีก ส่วนจะปล่อยให้เงินบาทแข็งค่า เพื่อชะลอเงินเฟ้อ ก็ช่วยได้เพียงระดับหนึ่ง แต่ก็มีผลกระทบกระเทือนไปที่ภาคการส่งออกอีก
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ ลิมศุภนาค ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายหลักทรัพย์ บล.บีฟิท ให้ความเห็นว่า ตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งสูงถึง 7.6% สูงสุดตั้งแต่ปี 1999 และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี เป็นแรงผลักดันจากราคาพลังงานและอาหารทำให้เงินเฟ้อที่ออกมาพุ่งสูงขึ้นค่อนข้างมาก
จุดนี้จะเป็นตัวที่กลับมากดดันทิศทางอัตราดอกเบี้ย หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพ(BBL) นำร่องประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ขึ้นไปแล้ว ซึ่งเป็นการ lead ดอกเบี้ยนโยบาย(R/P)ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งตอนนี้ตลาดเงินคาดการณ์กันว่าเมื่อธนาคารขนาดใหญ่ขยับก่อนธปท.เสมือนเป็นการส่งสัญญาณว่าทิศทางดอกเบี้ยน่าจะพลิกกลับมาเป็นขาขึ้น
หากอ้างอิงจากเงินเฟ้อ โดยปกติอัตราดอกเบี้ยมักจะต้องอยู่ระดับที่เหนือเงินเฟ้อเพื่อที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่ติดลบ แปลว่าช่องทาง(room)ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยยังปรับขึ้นได้อีกมาก ทำให้มีความกังวลในเรื่องนี้ค่อนข้างมากพอสมควร
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สำหรับตลาดหุ้นปัจจัยหลักเป็นเรื่องของการเมือง ส่วนตัวเลขเหล่านี้เป็นตัวที่เสริมเข้ามาช่วยกดดันเพิ่มขึ้น ทิศทางตลาดช่วงนี้เท่าที่ดูยังไม่เห็นปัจจัยบวกอะไร อาจทำให้ตลาดอ่อนตัวลงมาที่แนวรับจิตวิทยาที่ 800 จุดหรืออาจจะลงมาต่ำกว่านั้นได้
--อินโฟเควสท์ โดย จำเนียร พรทวีทรัพย์/พรเพ็ญ/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--