กรมธนารักษ์ ลงนามในสัญญาให้ใช้ที่ราชพัสดุที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังในการดำเนินกิจการของ บมจ.ปตท.(PTT) โดยมีค่าตอบแทนตลอดระยะเวลา 30 ปีตั้งแต่ปี 51-80 แต่ทั้งนี้ ปตท.จะต้องจ่ายค่าตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ปี 44-50 รวม 1,596 ล้านบาท
นางพันธ์ทิพย์ สุรทิณฑ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า การลงนามในสัญญา เพื่อให้ ปตท.ใช้ทรัพย์สินซึ่งเป็นที่ราชพัสดุมีกำหนดระยะเวลา 30 ปี ตั้งแต่ 1 ม.ค.51-31 ธ.ค.80 ซึ่ง ปตท.จะต้องชำระค่าตอบแทนการใช้ย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.44-31 ธ.ค.50 เป็นเงิน 1,330 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จำนวน 266 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 1,596 ล้านบาท โดยค่าตอบแทนดังกล่าวคำนวณจากส่วนแบ่งรายได้(Revenue Sharing)จากค่าผ่านท่อ ที่กำหนดค่าตอบแทนขั้นต่ำไว้ 180 ล้านบาท/ปี และไม่เกิน 550 ล้านบาท/ปี
ก่อนหน้านี้ ปตท.ได้แบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน, สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินของเอกชนเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ, รวมถึงทรัพย์สินที่ประกอบกันเป็นระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อให้แก่กระทรวงการคลังโดยให้ ปตท.ยังคงมีสิทธิใช้ที่ราชพัสดุดังกล่าวต่อไป แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายได้แผ่นดินตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT กล่าวว่า สัญญาให้ใช้ที่ราชพัสดุนี้เป็นการตกลงเข้าทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน เนื่องจากเป็นการเข้าทำรายการระหว่าง ปตท. กับกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ดังนั้น ปตท.ต้องขออนุมัติการเข้าทำรายการดังกล่าวต่อคณะกรรมการ ปตท.และเปิดเผยสารสนเทศต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)โดยไม่ต้องขออนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งคณะกรรมการ ปตท. ได้มีมติอนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 16 พ.ค.51
สำหรับการประเมินมูลค่ารายการตามสัญญาดังกล่าว ใช้วิธีมูลค่ารวมตามมูลค่า ณ ปัจจุบัน (Net Present Value) ในอัตราส่วนลดที่ 8.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สมเหตุผลและสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงในปัจจุบัน เพราะเป็นอัตราเดียวกับอัตราผลตอบแทนการลงทุนใหม่ (Return on Invested Capital) ในกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันประมาณ 5,904 ล้านบาท สำหรับค่าใช้สินทรัพย์ตลอดระยะเวลา 30 ปีหรือคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันประมาณ 7,473 ล้านบาท
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--