ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวภายในประเทศของบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTCH ที่ A+(tha) และความน่าเชื่อถือระยะสั้นภายในปะเทศ ที่ F1(tha)
ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ยังได้คงอันดับหุ้นกู้ไม่มีประกัน ไม่ด้อยสิทธิ และยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน ของ PTTCH ที่ A+(tha) และคงอันดับหุ้นกู้มีประกันและยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน ที่ Aa+(tha) โดยแนวโน้มอันดับเครดิตระยะยาวภายในประเทศมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตของ PTTCH สะท้อนถึงความสัมพันธ์ในเชิงธุรกิจและการดำเนินการที่มีในระดับที่สูงกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เนื่องจาก PTTCH เป็นผู้ดำเนินการหลักสำหรับกลุ่ม ปตท. ในธุรกิจปิโตรเคมีที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ (ปัจจุบัน ฟิทช์จัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ ปตท. ที่ระดับ AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) นอกจากนี้ PTTCH ยังมีสัญญาการจัดซื้อวัตถุดิบในระยะยาวโดยมีโครงสร้างของราคาแบบ Profit Sharing กับ ปตท. และยังมีการขายในลักษณะ Off-take Agreement กับ ปตท. อีกด้วย
อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการที่ PTTCH มีขนาดของกิจการที่ใหญ่และการเข้าไปลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต่อเนื่องเพิ่มขึ้นซึ่งจะเป็นการช่วยสนับสนุนการเติบโตของรายได้รวมและช่วยลดความผันผวนของรายได้ในระยะยาวอีกด้วย PTTCH เป็นบริษัทปิโตรเคมีในสายโอเลฟินส์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและจะมีกำลังการผลิตเป็นหนึ่งในสามของผู้ผลิตเอทีลีนรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเมื่อการขยายกำลังการผลิตใหม่แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2552 อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงการที่ PTTCH มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและสภาพคล่องทางการเงินที่ดี อันเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมความยืดหยุ่นทางการเงินโดยเฉพาะในช่วงที่มีการขยายการลงทุนที่สูงในปัจจุบัน
ถึงอย่างไรก็ตาม บริษัทมีปัจจัยความเสี่ยงทางด้านความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ตามวัฏจักรอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงที่มีการคาดการณ์ว่าวัฏจักรอุตสาหกรรมจะอยู่ในช่วงขาลงและการที่ PTTCH ขายผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ในตลาดในประเทศ ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงในด้านการพึ่งพาตลาดเพียงตลาดเดียวค่อนข้างสูง นอกจากนี้ PTTCH ยังมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานก่อสร้าง (Execution Risk) ของโครงการลงทุนใหม่
แผนการลงทุนของ PTTCH อยู่ในระดับสูงที่ 8.53 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2550-2554 ซึ่งกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้นซึ่งประกอบด้วยโครงการโรงโอเลฟินส์แห่งใหม่ที่ใช้ก็าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลักและโครงการขยายกำลังการผลิตของโรงโอเลฟินส์เดิม ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในส่วนของธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลาย (Downstream) ทั้งในส่วนของโพลิเมอร์ (Polymers) และผลิตภัณฑ์เคมีเฉพาะด้าน (Specialty Chemicals)
ทั้งนี้ PTTCH คาดว่าระดับหนี้สินสุทธิของบริษัทน่าจะสูงขึ้นอย่างมากจากระดับที่เป็น Net Cash ณ สิ้นไตรมาสหนึ่งปี 2551 อย่างไรก็ตามบริษัทคาดว่าน่าจะรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Net Debt to EBITDAR) ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2.0 เท่าได้ในช่วงปี 2551-2553 ในขณะเดียวกัน บริษัทมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยบริษัทมีเงินสดในมือถึง 2.47 หมื่นล้านบาทและยังมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้ในระดับที่สูง ซึ่งประกอบด้วยวงเงินสนับสนุนเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจากสถาบันการเงินจำนวน 7.7 พันล้านบาท เงินทุนหมุนเวียนที่สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 135 ล้านเหรียญสหรัฐ และวงเงินสนับสนุนเพื่อสินเชื่อการค้าจาก ปตท. อีก 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะช่วยรักษาความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทได้ในระยะปานกลาง
ถึงแม้ว่าปริมาณการขายของผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์จะลดลงอันเป็นผลจากการปิดโรงโอเลฟินส์ตามแผนงานเพื่อตรวจสอบบำรุงรักษาและการเชื่อมต่อส่วนขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ปี 2550 PTTCH ยังคงแสดงผลประกอบการที่ดีขึ้นได้ในปี 2550 โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (EBITDAR) เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 2.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นผลจากส่วนต่างของราคาขายและวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์โพลีเอทีลีนความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene) ที่แข็งแกร่ง และผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของกลุ่มธุรกิจสายผลิตภัณฑ์ MEG (Monoethylene Glycol) ส่วนผลประกอบการในไตรมาส 1 ปี 2551 PTTCH มี EBITDAR เพิ่มขึ้น 94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาที่ระดับ 7.8 พันล้านบาท อันเป็นผลจากปริมาณขายของผลิตภัณฑืโอเลฟินส์ที่เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาการปิดโรงโอเลฟินส์เพื่อซ่อมบำรุงรักษาตามแผนงานที่ลดลงและราคาขายและวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์โพลีเอทีลีนความหนาแน่นสูงและผลิตภัณฑ์ MEG ที่สูงขึ้น PTTCH มีอัตราส่วน EBITDAR ต่อยอดขายเพิ่มขึ้นที่ 36% ในไตรมาส 1 ปี 2551 จากระดับ 31% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงการขยายกำลังการผลิตของผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนต่อหน่วยลดลง (Economy of Scale) การสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการลงทุนในผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ สัญญาการจัดซื้อวัตถุดิบกับ ปตท. ที่ให้ประโยชน์แก่บริษัท โดยปัจจัยเหล่านี้จะช่วยเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้แก่บริษัทในช่วงที่ธุรกิจปิโตรเคมีอยู่ในช่วงวัฎจักรขาลงและยังสามารถลดความผันผวนของความสามารถในการทำกำไรลงได้ อันจะทำให้บริษัทสามารถรักษาระดับของอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิต ณ ปัจจุบันได้
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย สุนิตา พรรณรักษา/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--