นายอนันต์ เล้าหเรณู ผู้อำนวยการด้านการเงิน บมจ.ลานนารีซอสเซส(LANNA)กล่าวว่า มาตรการของภาครัฐที่เร่งใช้แก๊สโซฮอลล์ E85 เร็วขึ้นจากเดิม ส่งผลดีต่อโครงการตั้งโรงงานเอทานอลโรงที่ 2 น่าจะเป็นไปได้เร็วขึ้นกว่าแผนที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในสิ้นปีนี้ จากก่อนหน้าบริษัทยังลังเลเนื่องจากต้นทุนค่าก่อสร้างและวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นไปมาก นอกจากนั้น ยังอาจไม่จำเป็นต้องส่งออกผลผลิตไปจำหน่ายต่างประเทศแล้ว
"เรามีใบอนุญาตอยู่ในมือ 2 แสนตันเป็นมันสำปะหลังขณะนี้กำลังเจรจาเรื่องซื้อวัตถุดิบ และได้ใบอนุญาตก่อสร้าง 600 วันอยู่ในมือ ตอนนี้อาจจะเลยมา 6 เดือนแล้วสำหรับเครื่องจักรก็มีการติดต่อทำชอร์ตลิสต์ไว้แล้ว อยู่ระหว่างที่เราจะต้องเจรจาราคาเพราะมีเรื่องเหล็ก เข้ามาเกี่ยวข้อง ปีนี้ถ้าจะเริ่มเห็นก็ start up"นายอนันต์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ กิจการเอทานอลเครือ LANNA อยู่ภายใต้ บมจ.ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่ (ถือหุ้น 75.75%) ซึ่งมีแผนจะยื่นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 52 ซึ่งไม่มีผลกระทบกับการก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ที่จะทำให้มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นมาอีก 2 แสนลิตร/วัน เพราะคาดว่าจะใช้เม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ในช่วงปีหน้า
นายอนันต์ กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทยังประสบปัญหาค่าก่อสร้างซึ่งเดิมคาดใช้งบลงทุน 1,300 ล้านบาท แต่ขณะนี้ราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้นและยังไม่นิ่ง ทำให้ประเมินค่าก่อสร้างค่อนข้างยาก ซึ่งอาจจะวิ่งไปถึง 1,500 กว่าล้านบาทและยังไม่รู้ว่าเพียงพอหรือไม่ เพราะยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าราคาเหล็กจะหยุดเมื่อใด
"ตอนนี้ค่อนข้างจะมีติดปัญหาเรื่องเหล็ก สเตนเลส สตีล พวกไม่เป็นสนิมราคาปรับขึ้นมาและยังไม่หยุดนิ่ง เราก็ประเมินยากจากเดิมประเมินงบลงทุนไว้ประมาณ 1,300 ล้านบาท แต่ตอนนี้คงมากกกว่านั้นอาจจะวิ่งไปถึง 1,500 ล้านบาท เพราะไม่รู้ราคาเหล็กจะหยุดเมื่อไรและเรายังไม่ได้เซ็นสัญญา"
*โรง 2 อาจไม่จำเป็นต้องส่งออก จากแนวโน้มความต้องการในประเทศสูง
นายอนันต์ กล่าวว่า มาตรการสนับสนุนพลังงานทดแทนของภาครัฐคาดว่าจะทำให้ปริมาณความต้องการเอทานอลในประเทศปรับตัวสูงขึ้นไปอีก จากที่ปัจจุบันปัญหาน้ำมันแพงในปีนี้ส่งผลให้ปริมาณความต้องการเอทานอลก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว หรือ 100% จากปีก่อนอยู่ที่ 4 แสนลิตร/วัน มาเป็น 8 แสนลิตร/วันแล้ว
และระยะต่อไปเมื่อมีการเร่งใช้ E85 เร็วขึ้น ก็จะทำให้กำลังผลิตภายในประเทศที่เหลืออยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอ โดยขณะนี้ไทยอะโกรฯ มีกำลังผลิตเต็มที่ 1.5 แสนลิตร/วัน ดังนั้น ผลผลิตของโรงงานแห่งที่ 2 ก็ไม่จำเป็นต้องส่งออกไปขายต่างประเทศแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาในขณะนี้คือรัฐบาลต้องพิจารณาด้านต้นทุนให้มีความเหมาะสม เพราะหากส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนแต่ราคาขาย ผู้ผลิตก็คงอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะการนำราคาบราซิลมากำหนดเป็นราคาอ้างอิงไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม ขณะที่ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้บริษัทยังลังเลที่จะลงทุน เพราะราคาวัตถุดิบไม่นิ่ง โดยราคามันสำปะหลังแพงขึ้นเป็นก.ก.ละ 5 บาท ราคาโมลาสขึ้นเป็น 3,000 บาท/ตัน
นายอนันต์ กล่าวว่า บริษัทมีสัญญาสั่งซื้อโมลาส 60% ของปริมาณที่ใช้ในราคาคงที่ 5 ปี ซึ่งจะสิ้นสุดในอีก 2 ปีข้างหน้า ส่วนที่เหลือทำสัญญาไว้อีก 15 ปีแต่ราคาต้องมาเจรจากันใหม่ แต่ก็ถือว่ายังมีเวลาเหลืออีกมากสำหรับโรงงาน 1 ส่วนที่เหลืออีก 40% จะซื้อจากโรงน้ำตาล
"ถ้ามี E20 ,E85 มากขึ้นก็น่าจะมีผลดีสำหรับบริษัทที่จะขยายในข้างหน้าเพราะปัจจุบันเราขายเต็มที่อยู่แล้วแค่ 1.5 แสนลิตรต่อวัน คิดเป็น 45-50 ล้านลิตรต่อปี ตรงนี้ไม่น่ามีปัญหาเพราะมีสัญญาวัตถุดิบรองรับอยู่ 15 ปีที่ 60% และเป็นราคาพิเศษ 5 ปี"นายอนันต์ กล่าว
สำหรับโรง 2 ที่คาดว่าเปิดติดกับโรงแรกที่ จ.สุพรรณบุรี เพื่อที่จะได้ประโยชน์ร่วมกัน(Synergy)ไม่ห่างจาก จ.กาญจนบุรี และอยุธยาฯ ซึ่งมีแหล่งวัตถุดิบมันสำปะหลัง ซึ่งบริษัทวางแผนวิจัยพันธุ์เพื่อลงทุนปลูกเอง และเตรียมทำสัญญาในรูปแบบ contact farming ไว้แล้ว เพื่อลดความเสี่ยงด้านปริมาณวัตถุดิบ
"ตอนนี้กำลังคุยกับพวกมันสำปะหลังเพราะตอนนี้ราคาค่อนข้างสูงขึ้นมาอยู่ที่ 5 บาท/ก.ก.ซึ่งราคายังไม่ได้คุยกันจึงต้องทำตรงนี้ให้ได้ก่อน ส่วนเครื่องจักรติดต่อซื้อไปแล้วปัญหาคือเรายังไม่ได้ตัดสินใจที่จะเซ็นสัญญาแต่ตามแผนเดิมคิดว่าน่าจะจบภายในปีนี้ แต่ต้องรอความชัดเจนเรื่องวัตถุดิบ" นายอนันต์ กล่าว
*ปีนี้คาดรายได้จากเอทานอลใกล้เคียงปีก่อน เหตุติดเรื่องราคา
นายอนันต์ กล่าวว่า ในปีนี้คาดว่ารายได้จากธุรกิจเอทานอลก็ยังคงออกมาใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีรายได้ประมาณ 650 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณการผลิตที่ทรงตัว และเป็นผลจากรัฐอ้างอิงราคาขายจากราคาบราซิลที่ทำให้ราคาขยับถูกตรึงไว้ที่ 16 บาท/ลิตร โดยไตรมาส 1/51 รายได้ต่ำกว่าไตรมาส 1/50 แม้ว่ากำลังผลิตสูงกว่าปีที่แล้ว
"ไตรมาส 2 ราคาก็ใกล้ๆ กัน ไม่หวือหวาเหมือนราคาน้ำมัน เพราะราคาน้ำมันขึ้นจริงแต่ตรงนี้ไม่ให้ขึ้น ราคาที่ขายได้ตอนนี้อยู่ที่ 16 บาท/ลิตร ถ้าราคาเอทานอลทรงๆ แบบนี้รายได้ก็ควรจะไม่ต่ำกว่าปีที่แล้วที่ 650 ล้านบาท จะไม่มากกว่านี้เพราะกำลังการผลิตเต็มที่ 1.5 ลิตรต่อวัน ไตรมาส 1 เต็มที่ถ้าทุกไตรมาสไม่มีปัญหาก็ได้เท่าปีก่อน"นายอนันต์ กล่าว
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2/51 จบไปแล้วเพราะทำสัญญาล่วงหน้า 1-3 เดือน ถ้าครึ่งปีหลังก็ต้องคุยกันใกล้ ๆ สิ้นไตรมาส 2/51 โดยราคาจำหน่ายต้องขึ้นกับราคาบราซิลที่รัฐบาลจะประกาศ แต่เท่าที่ดูเทียบกับปีก่อนๆ ไม่น่าจะแตกต่างมาก ยกเว้นแต่ว่ารัฐบาลจะช่วยในเรื่องอื่นๆ
"อย่างไปขึ้นให้ราคาน้ำตาล ขณะที่มีวัตถุดิบสูงขึ้นจะพิจารณาอย่างนั้นไหม หรืออยู่ที่ว่าเราจะไปคุยกับทางบริษัทน้ำมันถ้าซื้อราคานั้นเราให้ไม่ได้ พวกนี้เราตอบไม่ได้ ตอบได้แค่ว่าตอนนี้ ถ้าดูปีนี้เอทานอลไม่น่าจะต่างจากปีที่แล้ว ถ้าต่ำก็ต่ำเล็กน้อยเพราะไตรมาสที่ 1 ต่ำกว่าเล็กน้อย"นายอนันต์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย จำเนียร พรทวีทรัพย์/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--