"ทริส"จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ TICON ที่ระดับ “A-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 5, 2008 08:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทของ บมจ. ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) ที่ระดับ “A-" ในขณะเดียวกันยังประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “A" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดเดิมของบริษัทที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" 
โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า รายได้ที่สม่ำเสมอจากค่าเช่าโรงงานสำเร็จรูป และผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัท นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงบรรยากาศการลงทุนในประเทศไทยที่ดีขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลที่เน้นกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" อยู่บนพื้นฐานของการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าเอาไว้ได้ รายได้ที่สม่ำเสมอจากโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าของบริษัทคาดว่าน่าจะช่วยรองรับความต้องการเงินทุนในการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมโลจิสติคส์และศูนย์คลังสินค้าได้
ทริสเรทติ้ง รายงานว่าบริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น เป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในประเทศไทย โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 บริษัทมีโรงงานให้เช่าจำนวน 123 โรงซึ่งตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม 11 แห่ง และมีคลังสินค้าให้เช่าจำนวน 11 โรงซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรมโลจิสติคส์และศูนย์คลังสินค้าของบริษัท โดยคิดเป็นพื้นที่รวม 384,080 ตารางเมตร ณ เดือนเมษายน 2551 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ได้แก่ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) (21.9%) กลุ่มผู้บริหารของบริษัท (9.4%) กลุ่มซิตี้เรียลตี้ (5.9%) และกองทุนเพื่อการร่วมลงทุน (6.1%) ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากผลงานที่ยาวนานในการให้บริการโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า รวมทั้งความสามารถในการก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปตามมาตรฐานในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง ความได้เปรียบด้านต้นทุนจากการประหยัดจากขนาด และกลยุทธ์ในการบริหารจัดการการก่อสร้างโรงงานด้วยตนเอง
จากการศึกษาของ CB Richard Ellis (CBRE) ทริสเรทติ้งกล่าวว่าเมื่อประเมินจากพื้นที่โรงงานที่ให้เช่าแล้ว ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2551 บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวม 70% ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ อันได้แก่ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) (11%) บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (9%) บริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) (TFD) และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยอินดัสเตรียล 1 (7%) และ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) (3%) บริษัทมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง โดยมีรายได้จากค่าเช่าโรงงานและคลังสินค้าที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็น 178 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2551 จาก 167 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ บริษัทยังมีรายได้จากการขายโรงงานอย่างต่อเนื่องให้แก่ TFUND ในช่วงปลายปี 2550 จำนวน 2,058 ล้านบาท ซึ่งทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทดีขึ้นเป็น 44%-47% ในช่วงระหว่างปี 2549 ถึงไตรมาสแรกของปี 2551 จากระดับที่สูงกว่า 50% ในช่วงปี 2546-2548 แม้จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในการสร้างคลังสินค้าให้เช่าก็ตาม
เศรษฐกิจไทยในปี 2551 มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รวมถึงมาตรการลดภาษีและนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางการเมืองในระยะสั้นของรัฐบาลชุดปัจจุบันยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง ทริสเรทติ้งกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ