โบรกฯแนะ"ทยอยเก็บ"AMATA หลังราคารูดลงมาก แม้ยอดขายที่ดินเสี่ยงพลาดเป้า

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 6, 2008 10:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          โบรกเกอร์ แนะ"ทยอยซื้อ"หุ้นบมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น(AMATA)หลังเห็นราคาหุ้นรูดลงกว่า 10% จากผลกระทบด้านการเมือง ยังมี upside อยู่สูงและปัจจัยพื้นฐานยังแข็งแกร่ง โดยมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มผลประกอบการปีนี้ ได้รับผลดีจากขายที่ดินให้ลูกค้ารายใหญ่อย่าง คูโบต้า และ Holley ที่อยู่ใน backlog และกำลังเจรจากับค่ายรถยนต์อย่างทาทามอเตอร์
แต่มองเป็นได้สูงที่ผู้บริหารจะปรับลดเป้ายอดขายในปีนี้ที่ตั้งไว้มากถึง 1.7 พันไร่ ทำให้บางโบรกฯ มองแตกต่าง โดยเห็นว่ายังไม่น่าเข้าลงทุน การเมืองยังไม่นิ่ง หวั่นต่างชาติถอยช่วงครึ่งปีหลัง การขายที่ดินอาจชะลอตัว และเป็นเพราะบริษัทมีรายได้อิงกับการขายที่ดินเป็นหลัก จึงรับผลกระทบมากกว่านิคมอุตสาหกรรมอื่น
ราคาหุ้น AMATA ลงมาต่ำสุดที่ 15.40 บาทเมื่อ 2 มิ.ย.ทีผ่านมา และวานนี้ปิดที่ราคา 15.60 บาท
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น)
บล.ยูไนเต็ด ทยอยซื้อ 20.50
บล.ฟินันซ่า ซื้อ 20.00
บล.กรุงศรีอยุธยา ซื้อ 19.00
บล.บีฟิท ทยอยซื้อ 18.24
บล.กสิกรไทย ซื้อ 18.75
บล.ดีบีเอสฯ เต็มมูลค่า 16.00
บทวิเคราะห์ของ บล.บีฟิท ปรับคำแนะนำจากที่ให้น้ำหนัก"ถือ"เป็น"ซื้อทยอยสะสม"ภายหลัง Upside Gain เปิดกว้างมากขึ้นเป็น 16.9% (ที่ราคาในกระดาน 15.60 บาท) จากราคาเหมาะสมที่เราประเมิน 18.24 บาท
เพียงแต่ความเสี่ยงจากการลงทุนในระยะสั้นจะอยู่ที่เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบในวงกว้างต่อความมั่นใจของนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ราคาหุ้น AMTA ลดลงกว่า 13% ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี แผนขยายการลงทุนของอุตสาหกรรมยานยนต์ และมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เป็นปัจจัยกระตุ้นยอดขายที่ดิน ทำให้ผลการดำเนินงานไตรมาสงวด 2/51 มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 1/51 มาก
นักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย)ปรับลดคาดการณ์ยอดขายปีนี้ลงเป็น 1,000 ไร่สำหรับปี 51 และ 1,300 ไร่ในปี 52 เพื่อสะท้อนถึงปัจจัยด้านการเมืองที่มีความตึงเครียดและทำให้นักลงทุนชะลอการซื้อที่ดิน สถานการณ์คล้ายกับปี 49 ที่ยอดขายเป็นเพียง 547 ไร่ จากการเมืองวุ่นวาย ส่งผลกระทบให้คาดการณ์กำไรสุทธิปรับตัวลง 13% ทั้งสองปี
เนื่องจาก ยอดขายตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเป็นเพียง 369 ไร่ (1 ไร่ = 0.4 เอเคอร์) คิดเป็นสัดส่วนเพียง 22% เทียบกับเป้ายอดขายบริษัทปีนื้ที่ตั้งไว้สูงถึง 1,700 ไร่
"ถ้าลงทุนระยะยาว เรายังไม่ค่อยชอบ เพราะว่า outlook ยังดูไม่ค่อยดี เพราะความกังวลด้านการเมือง เนื่องจากว่า AMATA อิงกับการขายที่ดินเป็นหลัก และจนถึงปัจจุบันยังขายได้ค่อนข้างน้อย แต่ครึ่งปีหลังเริ่มมีสัญญาณต่างๆไม่ดี เราจึง concern ตรงนี้ " นักวิเคราะห์กล่าว
ทั้งนี้ ราคาพื้นฐานได้ปรับลงเป็น 16.00 บาท ปรับลดคำแนะนำจาก ถือ เป็น เต็มมูลค่า (Fully Valued)ก็คือถ้าผู้ลงทุนที่มีหุ้นนี้อยู่ก็ให้ขายถ้าราคาปรับขึ้นมา แต่ถ้าใครยังไม่มีก็ไม่แนะนำให้ลงทุน
"ไม่ใช่เราไม่ชอบปัจจัยพื้นฐาน จริงๆ เราชอบ AMATA แต่เนื่องจากอิงยอดขายที่ดินมากที่สุด เพราะฉะนั้นเมื่อการเมืองเป็นแบบนี้เขาจะโดนมากที่สุด" นักวิเคราะห์ระบุ
ขณะที่บริษัทหันไปรุกธุรกิจไฟฟ้าก็เป็นเรื่องระยะยาวกว่าจะรับรู้รายได้ และควรต้องมีขนาดใหญ่ ประมาณ 2 พันเมกะวัตต์ขึ้นไป ส่วนบริษัทลูกในเวียดนาม ที่ชะลอการเข้าจดทะเบียนตลาดหุ้นแล้ว ก็เกรงว่าจะเป็นตัวฉุดตัวบริษัทแม่ไปด้วยหรือไม่ เพราะขณะนี้สถานการณ์ที่เวียดนามก็ไม่ค่อยดี อาจจะกระทบแต่ไม่มาก เพราะสัดส่วนรับรู้รายได้ยังน้อย โดยไตรมาส 1/51 ก็รับรู้ประมาณ 3% อย่างไรก็ดี ในแง่จิตวิทยามีผลกระทบอย่างแน่นอนถ้าเกิดภาวะเศรษฐกิจในเวียดนามชะลอมากกว่านี้
น.ส.มยุรี โชวิกรานต์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในเชิงกลยุทธ์ แม้ว่าราคาหุ้น AMATA จะปรับตัวลงมาระดับหนึ่ง จากประเด็นเรื่องการเมือง เงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น อาจจะกดดันให้นักลงทุนต่างชาติอาจชะลอตัวลงได้ ดังนั้น ยอดขายที่ดินของ AMATA ในช่วงครึ่งปีหลังนี้อาจจะชะลอตัว
"AMATA อาจมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องยอดขายตรงนี้ แต่ในแง่ราคาที่ลงไปมาก เมื่อเทียบกับราคาพื้นฐาน ก็ยังมี upside อยู่มาก คิดว่าถ้าเป็นเชิงกลยุทธ์ ก็คงแนะนำทยอยซื้อมากกว่า" น.ส.มยุรี กล่าว
ราคาเป้าหมายให้ไว้ 19.50 บาท แต่ราคาขณะนี้ 15.70-15.80 บาท ก็มี upside ประมาณ 24%
บล.กรุงศรีอยุธยา มองผลประกอบการปี 51 ของ AMATA แข็งแกร่งตามฐาน Backlog จึงยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มผลประกอบการของ AMATA โดยจะได้รับผลดีจากการขายที่ดินล็อตใหญ่ให้แก่คูโบต้าและ Holley ซึ่งจะสามารถรับรู้รายได้เข้ามาใน 1H51 คิดเป็นรายได้ประมาณ 62% ของประมาณการรายได้ปี 51
แนวโน้มผลประกอบการทั้งปี 51 ยังอยู่ในระดับที่ดีซึ่งโดยคาดการณ์อัตราเติบโตของกำไรสุทธิปี 51 ไว้ที่ 12.2% จากปีก่อนมาที่ 1.18 พันล้านบาท ภายใต้ปัจจัยทางการเมืองที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น แต่ผลประกอบการปี 51 จะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากฐาน Backlog สามารถรับรู้ได้ภายในปี 51 และการรับรู้รายได้จากการขายที่ดินจะเกิดขึ้นในครึ่งหลังปี 51
แต่หากบริษัทไม่สามารถขายที่ดินล็อตใหญ่ในช่วงเวลาอันใกล้นี้ โดยเฉพาะจากความต้องการซื้อที่ดินจากกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่ผู้บริหารจะปรับลดเป้าหมายการขายที่ดินเข้ามาใกล้ประมาณการของเราจะมีความเป็นไปได้สูงขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ