นายนิมิต วงศ์จริยกุล กรรมการบริหารผู้บังคับบัญชาสายงานบริการด้านวาณิชธนกิจ บล.พัฒนสิน ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนบมจ. ซินเน็ค (ประเทศไทย) หรือ SYNEX เปิดเผยว่า หลังปิดจองซื้อหุ้นไอพีโอจำนวน 180 ล้านหุ้น ที่เสนอขายในราคา 2.90 บาท/หุ้น ระหว่างวันที่ 4-6 มิถุนายน 2551 ปรากฎว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก โดยมียอดจองล้นถึง 3 เท่า สะท้อนให้ถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพในการเติบโต นอกจากนั้นการกำหนดราคาขายหุ้นไอพีโอยังให้ส่วนลด (Discount) ประมาณ 20-30% สำหรับนักลงทุนอีกด้วย
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SYNEX กล่าวว่าเสริมถึงสาเหตุที่นักลงทุนสนใจจองซื้อหุ้นของ SYNEXเป็นจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัท และมีศักยภาพในการเติบโตต่อเนื่องทุกปี ในขณะที่แนวโน้มธุรกิจเปิดกว้างและขยายตัวได้อีกมาก
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้จำนวน 522 ล้านบาท จะนำไปขยายธุรกิจจัดจำหน่ายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ รวมถึงขยายสำนักงานเพิ่ม ส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
โดยโครงการในอนาคตของ SYNEX วางแผนการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในรูปแบบของซีเน็คชอป (CNEX Shop) ซึ่งเป็นร้านค้ารูปแบบการทำสัญญาร่วมลงทุนระหว่างบริษัทฯ กับผู้ที่ต้องลงทุน (Franchise) ที่เน้นกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-สูง โดยคาดว่าจะดำเนินการขยายสาขาประมาณ 20 สาขา ในปี 2551 และขยายสาขาให้ได้ทั้งหมด 250 สาขา ภายในระยะเวลา 5 ปี และสำหรับในปี 2551 นี้คาดว่าจะเปิดสำนักงานสาขาเพิ่มอีก 2 สาขาในกรุงเทพและปริมณฑล และอีก 2 สาขาในต่างจังหวัด เพื่อใให้ธุรกิจไปยังผู้บริโภคมากขึ้น
นอกจากนั้น จะมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว โดยการขยายตราสินค้าและฐานลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทชุดคอมพิวเตอร์ประกอบเสร็จและกึ่งเสร็จ พร้อมทั้งมุ่งเน้นการผลิตสินค้าประเภทคอมพิวเตอร์แบบสั่งประกอบ (CTO: Configuration-to-Order) ภายใต้เครื่องหมายการค้า Lemel มากขึ้น
ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์แบบสั่งประกอบประมาณ 4,000 เครื่อง/เดือน และกำลังศึกษาแผนการขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมในปี 2551 โดยจะขยายตลาดเข้าสู่กลุ่มห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (Modern Trade) เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภคมากขึ้น นอกจากนั้น การได้รับใบรับรองมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เลขที่ 1561-2548 มาตรฐานด้านความปลอดภัย และเลขที่ 1956-2548 มาตรฐานด้านขีดจำกัดสัญญาณรบกวนวิทยุ จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อต้นปี 2551 ที่ผ่านมา ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์แบบสั่งประกอบ Lemel ของบริษัทฯ ได้รับรองคุณภาพเทียบเท่าสากล ทางบริษัทฯ จึงมีแผนนำเครื่องคอมพิวเตอร์แบบสั่งประกอบ Lemel เข้าสู่ตลาดองค์กรและงานประมูลภาครัฐมากขึ้น สำหรับในไตรมาสที่ 2-3 ปี 2551 มีแผนเปิดตัวเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา (Notebook) ภายใต้เครื่องหมายการค้า Lemel และเครื่องเน็ตบุ๊ก ขนาด 9 นิ้ว โดยตั้งเป้ายอดขายสินค้ากลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาทั้งหมดประมาณ 6,000 เครื่อง โดยมีงบประมาณการทำตลาดของเครื่องหมายการค้า Lemel ประมาณ 20 ล้านบาท
--อินโฟเควสท์ โดย จริญยา ดำสมาน/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--