โบรกเกอร์ ห่วงกระแสเงินทุนโยกย้ายออกจากตลาดหุ้นทั้งภูมิภาค จุดชนวนจากตลาดหุ้นเวียดนามหลังจากเกิดความวิตกปัญหาเงินเฟ้อในเวียดนามที่พุ่งสูงมากถึง 25% กดดัชนีตลาดหุ้น VNI ทรุดหนัก ขณะที่เงินด่องแม้อ่อนค่าแต่ยังไม่พอเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ ทำให้เกิดกระแสข่าวรัฐบาลเล็งลดค่าเงินด่องลงอีก ซึ่งจะมีส่งผลให้บริษัทไทยที่เข้าไปขยายกิจการในเวียดนามอาจขาดทุนหนัก
แหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้นักลงทุนรายใหญ่เริ่มวิตกกังวลปัญหาด้านเศรษฐกิจในเวียดนามที่อาจส่งผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจทั่วทุกประเทศของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายไปอย่างชัดเจน แต่ก็มีการคาดการณ์กันว่าเงินเฟ้อในเวียดนามอาจจะสูงยิ่งขึ้นไปอีกในเดือนมิถุนายนนี้
ทั้งนี้ สิ่งที่กลัวเป็นเรื่องของการลดลงของค่าเงินด่องของเวียดนาม ซึ่งหากลดลงก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทั่วภูมิภาค เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาประเทศเวียดนามมีการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากและรวดเร็ว โดยมีการลงทุนมาก แต่เมื่อค่าเงินด่องของเวียดนามลดลงแล้ว อาจจะส่งผลกระทบให้มีเม็ดเงินไหลออกไปจากภูมิภาคได้ ซึ่งเป็นจุดที่จะต้องจับตามองต่อไปว่านักลงทุนต่างชาติจะถอนการลงทุนออกไปจากทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียเลยหรือไม่
สำหรับผลสะท้อนจากปัญหาพื้นฐานเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดเจนคือตลาดหุ้น-ตลาดเงินในประเทศเวียดนาม โดยราคาหุ้นได้ทรุดลงมาถึง 55% หากเทียบกับช่วงต้นปี 2551 อีกทั้งยังอ่อนตัวลงต่อเนื่องอีกในวันศุกร์ที่ผ่านมา 1.4% ลากดัชนี VNI ลงมาที่ระดับ 414.10 จุด ซึ่งเป็นวันเปิดเทรดวันแรก หลังจากระงับซื้อขาย 3 วันจากปัญหาระบบคอมพิวเตอร์ขัดข้อง
และล่าสุดเมื่อเวลา 10.52 น.ของวันนี้(9 มิ.ย.51)โดยประมาณ ดัชนี VNI อยู่ที่ 379.12 จุด ลดลงมาโดยตลอดตั้งแต่เปิดเทรด
ขณะที่ค่าเงินด่อง ก็กำลังอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ โดยแหล่งข่าวจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า ล่าสุดเมื่อเวลา 11.06 น.โดยประมาณของวันนี้ ค่าเงินด่องของเวียดนามอยู่ที่ 16290-16300 ด่อง/ดอลลาร์สหรัฐฯ แม้จะอ่อนค่า แต่ก็ยังไม่ถึงจุดที่เหมาะสม คาดว่าจะรับผลกระทบมาจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงมากถึง 25% และยังมีข่าวออกมาว่าธนาคารกลางของเวียดนามกำลังคิดที่จะปรับลดค่าเงิน
นายคมสันต์ ปรมาภูติ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของเวียดนามขณะนี้คือเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อภาคการลงทุนของเวียดนามอย่างแน่นอน โดยอาจทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลออกได้ เพราะมีการมองว่าค่าเงินด่องของเวียดนามอาจจะต้องลดลงเร็ว และตอนนี้นักลงทุนต่างก็หวั่นวิตกว่าจะกระทบการลงทุนไปทั่วทั้งภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ยังมีมุมมองในเชิงบวกที่ว่ากรณีดังกล่าวอาจพลิกวิกฤติมาเป็นโอกาสของไทยก็ได้ เพราะเม็ดเงินลงทุนที่ไหลออกจากเวียดนามอาจจะโยกย้ายมาที่ไทยแทนก็ได้
ด้านแหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์อีกรายหนึ่ง กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาบริษัทไทยหลายแห่งได้เข้าไปลงทุนในเวียดนาม คาดว่าจะได้รับผลกระทบตามไปด้วยจากการอ่อนค่าของเงินด่อง หรือหากมีการลดค่าเงินด่องลงอีก ซึ่งขณะนี้นักลงทุนรายใหญ่จับตาบริษัทฯเหล่านั้น อาทิ
Finansa Fund Management Ltd. (FFM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นโดยบมจ.ฟินันซ่า (FNS) ในสัดส่วนร้อยละ 100 ได้เข้าร่วมลงทุนในกองทุน The Vietnam Equity Fund คิดเป็นมูลค่า 4 ล้านเหรียญยูโร หรือประมาณ 202 ล้านบาท จากมูลค่ารวม 15.167 ล้านเหรียญยูโร หรือ ประมาณ 766 ล้านบาท ซึ่งมีนโยบายเข้าลงทุนในบริษัททั้งในและนอกตลาดหุ้นเวียดนาม
บมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ AEONTS ได้ลงทุนจัดตั้งบริษัท เอซีเอส เทรดดิ้ง เวียดนาม จำกัดในปี 2551 เพื่อขยายการดำเนินธุรกิจขายสินค้าโดยการผ่อนชำระ ในประเทศเวียดนาม มูลค่าเงินลงทุน 2,000 ล้านเวียดนามด่อง หรือประมาณ 4.4 ล้านบาท
บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (OTO) (บริษัทย่อยของ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น(SAMART)ที่ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม ร้อยละ 99.02) ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการข้อมูลลูกค้า (Contact Center) แก่องค์กรภาครัฐและเอกชน ได้ขยายการลงทุนไปยังประเทศเวียดนาม โดยจัดตั้งบริษัท วันทูวัน เวียดนาม จำกัด มูลค่าลงทุนรวม 41 ล้านบาท โดย OTO ถือหุ้นร้อยละ 100
รวมทั้ง บมจ.ไทย อกริ ฟู้ดส์ (TAF) ได้ลงทุนจัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศเวียดนามเมื่อปี 50 ร่วมกับบริษัท LUCKY FORCE INTERNATIONAL LIMITED ในสัดส่วนร้อยละ 70 ของทุนจดทะเบียน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นการขยายฐานการผลิตและตลาดสินค้าของบริษัทฯในอนาคต โดยคิดเป็นเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 49 ล้านบาท เป็นต้น
--อินโฟเควสท์ โดย พรเพ็ญ ดวงเฉลิมวงศ์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--