TMB เล็งลดเป้าสินเชื่อปีนี้เหลือ 5%,คาดสเปรดเพิ่มเป็น 2.7%จาก 2%ปีก่อน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday June 10, 2008 16:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

           ธนาคารทหารไทย(TMB) เตรียมทบทวนเป้าสินเชื่อปีนี้ในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค.จากเป้าเดิมตั้งไว้ว่าจะเติบโต 8% หรือ 4 หมื่นล้านบาท โดยอาจลดลงเหลือ 5% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ที่เริ่มเห็นคำขอสินเชื่อลดลงไปแล้วถึง 50% ขณะที่ตั้งเป้าลด gross NPL ให้เหลือต่ำกว่า 10% ของสินเชื่อรวมภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันอยู่ที่ 14% 
ด้านผลประกอบการปีนี้มีแนวโน้มที่ดี หลังจาก 5 เดือนแรกกำไรใกล้เป้าหมายจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะเมื่อ ING เข้ามาช่วยเสริมรายได้จากบริการด้านประกันภัย ขณะที่สเปรดปีนี้คาดว่าจะสูงขึ้นมาที่ 2.7% จาก 2.0% ในปีก่อน เพราะไม่เน้นการแข่งขันด้านดอกเบี้ย
นายสุภัค ศิวะรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ TMB กล่าวว่า จากนี้ไปธนาคารจะไม่เน้นการปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายใหม่ เพราะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย เกรงความเสี่ยงที่จะทำให้ NPL เร่งตัวขึ้น ซึ่งขณะนี้ลูกค้ารายใหญ่ส่วนหนึ่งก็ใช้สภาพคล่องของตัวเองมาเป็นทุนหมุนเวียนแทนการกู้ธนาคารและเน้นการมีวินัยในการใช้เงิน รวมถึงส่วนหนึ่งก็ชะลอการลงทุน เพราะมีบทเรียนจากวิกฤติปี 40
"เศรษฐกิจไม่ดีปีนี้ทำให้แบงก์ระมัดระวังมากขึ้น หลายแบงก์ก็เริ่มปรับเป้าแล้ว ทหารไทยจะทบทวนปลายมิ.ย.-ต้นก.ค. ตอนนี้วางเป้าไว้ 8% หรือ 4 หมื่นล้านบาท อาจจะลดเหลือ 5% เพราะเศรษฐกิจแย่และกระทบอย่างชัดเจน ดอกเบี้ยก็ปรับขึ้น ภาคธุรกิจก็เจอปัญหาราคาน้ำมัน กำลังซื้อหด ตลาดสหรัฐชะลอตัว ส่วนผู้บริโภคก็โดนเรื่องน้ำมันและเงินเฟ้อที่พุ่งแรง สิ่งที่น่ากลัวคือการปรับสินค้าระลอกใหม่ที่จะดันเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอีก"นายสุภัค กล่าว
ในช่วงไตรมาส 2/51 เห็นสัญญาณการปล่อยสินเชื่อลดลง โดยคำขอสินเชื่อลดลงประมาณ 50% เมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อนที่ไม่มีปัญหาการเมือง รวมทั้งธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทำให้ยอดอนุมัติสินเชื่อน้อยลงไปอีก แต่ในช่วงปลายไตรมาส 3-4/51 ยอดสินเชื่อน่าจะเป็นบวกขึ้น
นายสุภัค กล่าวว่า สินเชื่อของ TMB ยังถือว่าสู้กับธนาคารอื่นได้ โดยเฉพาะสินเชื่อบ้าน ที่สามารถเสนอเงื่อนไขที่ดีให้กับลูกค้า สินเชื่อโดยรวมน่าจะขยายตัวได้ โดยขณะนี้สินเชื่อรายย่อยมีสัดส่วน 16% ของสินเชื่อรวม
อย่างไรก็ตาม แม้สินเชื่อของธนาคารชะลอตัว แต่สินทรัพย์ยังอยู่ในเกณฑ์สูง เห็นได้จากปีก่อนสินเชื่อเราไม่ได้โตมาก แต่กำไรกลับเติบโตได้ดี โดยมีรายได้สุทธิโตประมาณ 7% เท่ากับปี 50 และในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ธนาคารมีกำไรใกล้เป้าหมาย จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิและค่าธรรมเนียมที่ปรับตัวดีขึ้น
ทั้ง ๆ ที่ตอนทำแผนปีนี้ช่วงเดือนธ.ค.50 มองว่าเศรษฐกิจติดลบ น้ำมันราคาสูงกว่าคาด เงินเฟ้อก็แย่ แต่ไตรมาสแรกก็ออกมาดี มีกำไรสุทธิ 1.5 พันล้านบาท สูงกว่าข่วงเดียวกันของปี 50 ที่มีกำไร 200 ล้านบาท เนื่องจากสเปรดสูงขึ้นมาที่ 2.6% จาก 2.0% ในปี 50 และทั้งปีน่าจะรักษาระดับไว้ได้ที่ 2.7% เพราะธนาคารไม่เน้นแข่งขันด้านดอกเบี้ย และปีก่อนมีการเร่งระดมเงินจากภาระการชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้
นอกจากนั้น โครงสร้างเงินฝากของธนาคารในขณะนี้สัดส่วนเงินฝาก 40%เป็นเงินฝากออมทรัพย์ จากปีก่อนอยู่ที่ 23-25% ทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยลดลง ทำให้สเปรดสูงขึ้น และได้รับผลกระทบจากการเร่งตัวของดอกเบี้ยเงินฝากน้อยลง
ด้านรายได้ค่าธรรมเนียม ING เข้ามาช่วยเรื่องตลาดรายย่อยชัดเจนมาก โดยเฉพาะธุรกิจประกัน ซึ่ง 6 เดือนที่ผ่านมาธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันแล้ว 400-500 ล้านบาท และขณะนี้ธนาคารกำลังเร่งฝึกอบรมพนักงานให้ขายบริการด้านประกันให้กับลูกค้ามากขึ้น น่าจะทำรายได้ให้ธนาคาร 500-600 ล้านบาทในปีนี้
นายสุภัค กล่าวว่า แผนการลด NPL ของธนาคารให้เหลือต่ำกว่า 10% ภายในปีนี้ จะมีการตัดขาย NPL อย่างต่อเนื่อง โดยมีสินทรัพย์ NPL ที่รอการขายอยู่อีก 3 หมื่นล้านบาท จากที่ขายไปแล้วในช่วงต้นปีประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารจะพยายามปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเสนอขาย NPL

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ