(เพิ่มเติม) "ก้องเกียรติ" มองปัญหาเวียดนามไม่กระทบไทย แต่ทำ mood การลงทุนแย่

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 11, 2008 10:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัส(ASP)กล่าวยอมรับว่า จากการประเมินสถานการณ์ของเวียดนามถือว่า ณ ตอนนี้อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายเหมือนประเทศไทยในอดีตก่อนฟองสบู่จะแตก แต่สถานการณ์ของเวียดนามเลวร้ายกว่า เพราะมีปัญหาหลายอย่างรุมเร้าเข้ามาพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นค่าเงิน และอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างเดือนพ.ค.ที่ผ่านมาปรับขึ้นถึง 25% การขาดดุลการค้าต่อเนื่องหลายเดือน
ขณะที่ราคาที่ดินของอสังหาริมทรัพย์ก็แพงมาก โดยราคาที่ดินในย่านธุรกิจอยู่ที่ 2 ล้านบาท/ตร.ม. และราคาเช่าสำนักงานแพงกว่าไทยถึง 2-3 เท่า
"ถือเป็นปัญหาฟองสบู่ของอสังหาฯ ทีเดียว และตลาดหุ้นเวียดนามจากที่สูงสุดวอลุ่มเกิน 1 ล้านเหรียญ/วัน หรือประมาณ 3 พันล้านบาทมาอยู่ที่วันละ 300 ล้านบาท...ตลาดหุ้นไทยดีกว่าเยอะ และเราก็ไม่มีปัญหา"นายก้องเกียรติ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าว เกิดจากการเวียดนามไม่มีประสบการณ์และทำให้เศรษฐกิจโตเร็วจนเกินไป จะเห็นได้จากการตั้งเป้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ไว้สูงถึง 9% แต่หลังจากนั้นปรับลงมาเหลือ 7% เนื่องจากรัฐบาลได้เห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวอย่างแท้จริง แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทางการเวียดนามคงจะพยายามหาทางแก้ไข
นายก้องเกียรติ เชื่อว่า ปัญหาเศรษฐกิจของเวียดนามคงไม่ส่งผลกระทบทางลบต่อประเทศไทย แต่จะกลายเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นไทย เพราะราคาหุ้นเราไม่แพง ค่า P/E ก็ยังอยู่ในระดับต่ำถึงแม้สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะกระทบต่อราคาหุ้นบ้าง แต่ในบางธุรกิจเท่านั้น เพราะต่างชาติไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญในการลงทุนในตลาดหุ้นมากนัก ทุกประเทศก็มีปัญหาทั้งนั้น
สำหรับมุมมองต่อปัจจัยต่างๆ ในขณะนี้ ยอมรับว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับ อยู่ในช่วงการปรับตัวกับราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่ชะลอตัวลง เพราะปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนแย่ลง แต่ขณะเดียวกันก็ถือเป็นจังหวะของหุ้นกลุ่มพลังงาน เพราะได้อานิสงค์จากการปรับราคาน้ำมันที่สูงกว่าเงินเฟ้อ
ทางด้านนายไพบูลย์ นรินทรางกูร กรรมการผู้จัดการ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า สาเหตุเกิดจากการที่เวียดนามเติบโตอย่างร้อนแรงและเร็วมากจนเกินไป แต่ไม่มีการบริหารจัดการที่ดี และเมื่อเกิดเงินเฟ้อสูงทำให้ธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อคุมไม่อยู่ ซึ่งการจัดการที่ดีคือการชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจลง
"ถ้าจากการประเมินส่วนตัว คงใช้เวลาแก้ไขอย่างน้อย 2 ปี กว่าจะกลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ในส่วนการลงทุนในเวียดนาม คงยังไม่อิ่มตัว และต้องการผู้ที่เข้ามาลงทุน แต่เชื่อว่าในระยะนี้จะยังไม่เห็นการลงทุน คงจะชะลอการลงทุนเป็นปีกว่า" นายไพบูลย์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของเวียดนามที่เพิ่มสูงมาก ทำให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทำได้ลำบาก ตลาดหุ้น ก็ไม่ถึงพูดถึงเลย ถือว่าตายไปแล้ว เพราะถ้าดูจากปริมาณการซื้อขา่ยจากที่เคย 3-4 พันล้านบาทต่อวัน มาเหลือแค่ 200 ล้านบาทต่อวัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ