โบรกเกอร์ สนับสนุนนักลงทุนเลือก"ซื้อ"หุ้น บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น(TICON)ในภาวะการเมืองไม่แน่นอนและเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะมองว่าบริษัทยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องในปีนี้ และจะมีกำไรเข้ามามากในไตรมาส 4/51 หลังขายโรงงาน 40-50 แห่งเข้ากองทุน TFUND ประกอบกับการออกวอแรนท์ 221.7 ล้านหน่วยให้ฟรีผู้ถือหุ้นยังห้ามใช้สิทธิปีแรกทำให้ไม่เกิด dilution effect ในช่วงสั้น ขณะที่ราคาหุ้นยังต่ำกว่าเป้าหมายมากและยังมีอัตราผลตอบแทนการจ่ายเงินปันผลสูงถึง 7%
ปิดเที่ยงวันนี้(12 มิ.ย.) ราคาหุ้น TICON อยู่ที่ 16.70 บาท ลดลง 0.10 บาท (-0.60%)
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น)
บล.สินเอเซีย ซื้อ 23.70
บล.กสิกรไทย ซื้อ 23.60
บล.บัวหลวง ซื้อ 22.60
บล.เอเซียพลัส ซื้อ 22.13
บล.เคจีไอ ซื้อ 22.20
บล.กรุงศรีอยุธยา ซื้อ 21.50
นักวิเคราะห์จาก บล.กสิกรไทย มองว่า TICON ดำเนินธุรกิจโรงงานให้เช่า สามารถสร้างรายได้แน่นอน แม้จะไม่โตหวือหวาเหมือนนิคมอุตสาหกรรมอื่นที่ขายที่ดินเป็นหลัก แต่รายได้จะเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ และมีการปรับราคาเช่าทุกๆ 3 ปี ดังนั้น รายได้และกำไรจะเติบโตต่อเนื่อง
แต่ในเชิงการลงทุนหุ้น TICON ตอนนี้ value ที่แทรดขึ้นอยู่กับการขายโรงงานจำนวน 40-50 โรงประมาณ 2.3-2.4 พันล้านบาทเข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์ TFUND ในไตรมาสที่ 4/51 ซึ่งเป็นการขยายกองทุน TFUND ต่อเนื่อง
"ไตรมาสสุดท้าย TICON จะมีกำไรเยอะมาก จากการโรงงานให้กองทุนอสังหาฯ โดยเขาขยายกองทุนอสังหาฯมา 3 ปีแล้ว แม้ว่าจะเกิดปัญหาอะไร มีประท้วง มีรัฐบาลชั่วคราว เขาก็ยังขายได้อยู่ ตรงนี้ก็ถือเป็นจุดแข็งของเขา ธุรกิจก็ยังโอเค ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น" นักวิเคราะห์ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทได้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ(วอร์แรนท์) 221.7 ล้านหน่วยให้กับผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 3 ต่อ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเติบโตในอนาคต เพราะที่ผ่านมาบริษัทจะมีการเพิ่มทุนทุกๆ 2 ปี ซึ่งการเปลี่ยนมาออกวอแรนท์ จะทำให้ dilution effect ทยอยเกิด ต่างจากการเพิ่มทุนที่เกิดในคราวเดียว ทั้งนี้ การออกวอแรนท์ดังกล่าวจะเกิด dilution effect ประมาณ 25% ในช่วง 5 ปี ทำให้ผู้ถือหุ้นจะไม่ต้องกังวลการเพิ่มทุนของบริษัท
รวมทั้ง การใช้สิทธิเพื่อแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ บริษัทได้กำหนดราคาใช้สิทธิไว้ที่ 20 บาท/หุ้น ซึ่งเป็นราคามากกว่าราคาตลาดขณะนี้ ทำให้ผู้ถือหุ้นอาจจะไม่ใช้สิทธิ ก็จะไม่เกิด dilution effect ใบสำคัญแสดงสิทธินี้มีอายุ 5 ปี
อย่างไรก็ตาม บริษัทกำหนดยังไม่ให้ใช้สิทธิในปีแรก แสดงว่า ราคาในปีแรกถึงแม้ราคาจะต่ำกว่า 20 บาทก็ไม่เป็นไร บริษัทคงเชื่อว่าหลังจาก 1 ปีราคาหุ้น TICON มีโอกาสขึ้นไปเกินกว่า 20 บาท ซึ่งจะจูงใจให้ผู้ถือหุ้นมาใช้สิทธิ มองว่าช่วงนี้เขายังไม่ต้องการใช้เงิน โดยขณะนี้มีเงินทุนเพียงพอ และ ปลายปีนี้ก็จะมีเงินจากขายโรงงานเข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์
และเชื่อว่าปีนี้จะมีการจ่ายเงินปันผลอย่างต่ำ 1.20 บาท/หุ้น ซึ่งจ่ายในระดับนี้มา 3 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม หุ้น TICON มีสภาพคล่องต่ำ
ด้าน บล.บัวหลวง มองว่าราคาหุ้นของ TICON ดึงดูดมาก นอกจากอัตราผลตอบแทนเงินปันผล 7.1% ณ ราคาหุ้นปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นจะไม่ถูกกระทบจาก dilution effect จนกระทั่งผู้ถือหุ้นได้รับกำไรจากการขายหุ้น(capital gain) อย่างน้อย 19% นอกจากนี้ วอร์แรนท์ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเพิ่ม leverage ซึ่งจะทำให้ได้รับอัตราผลตอบแทนเพิ่มขึ้นอีก
ขณะที่ความสามารถในการขยายธุรกิจของ TICON เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับใหม่ เราชอบแผนการเพิ่มทุนของบริษัทและไม่กังวลเกี่ยวกับผลกระทบ dilution มากนัก งบดุลของบริษัทจะยังคงแข็งแกร่งไปอีกอย่างน้อย 7 ปี ทำให้มีความคล่องตัวในการขยายธุรกิจยิ่งขึ้น ดังนั้น กำไรที่เติบโตขึ้นจะส่งผลเหนือผลกระทบจาก dilution effect ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าในระยะยาวของบริษัทและให้ผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้ถือหุ้น
ขณะเดียวกันผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์ หากมีผู้ใช้สิทธิ์วอร์แรนท์ใช้สิทธิ์น้อยกว่าที่คาดไว้ แต่ภาระหนี้สินจะเพิ่มขึ้น ทำให้ดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจาก dilution ที่ลดลงจะมีผลต่อ EPS มากกว่าดอกเบี้ยจ่าย ดังนั้น EPS และเงินปันผลน่าจะเพิ่มขึ้น
ดังนั้น จึงได้ปรับประมาณการกำไรปี 51 ขึ้น 21% มาอยู่ที่ 1,070 ล้านบาท เพื่อสะท้อนแผนการเพิ่มขนาดการขายโรงงานกองที่ 4 เข้า TFUND ล่าสุดมาเป็น 2,500 ล้านบาทจากเดิมที่ 2,100 ล้านบาท นอกจากนี้ มูลค่าที่เพิ่มขึ้น 400 ล้านบาทจะมาจากการขายคลังสินค้า ซึ่งกำไรจะได้รับยกเว้นภาษีเนื่องจากประโยชน์ด้านภาษีจาก BOI
ส่วน บล.กรุงศรีอยุธยา มองการดำเนินธุรกิจให้เช่าโรงงานสำเร็จรูปและคลังสินค้าของ TICON ได้รับผลกระทบจากภาวะความไม่แน่นอนทางการเมืองที่น้อยกว่าผู้ประกอบการขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรม(AMATA, HEMRAJ และ ROJANA)เนื่องจากนักลงทุนใช้เม็ดเงินลงทุนที่น้อยกว่าสำหรับทางเลือกเช่าพื้นที่จาก TICON
และการแจกฟรีวอร์แรนท์ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมเป็นการวางแผนการระดมทุนในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้าของบริษัท ไม่ส่งผลกระทบทางด้าน Dilution Effect ในระยะสั้น เนื่องจากราคาแปลงสภาพที่ 20 บาทต่อหุ้นสูงกว่าราคาหุ้นปัจจุบัน ประกอบกับมีเงื่อนไขการห้ามแปลงสภาพในปีแรก
เห็นว่าวัตถุประสงค์การออกวอแรนท์ครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับธุรกิจของบริษัทที่จะเพิ่มพอร์ตโรงงานและคลังสินค้าซึ่งผู้บริหารวางเป้าหมายอัตราเติบโตของพื้นที่ให้เช่าแล้วที่ 25% ต่อปี อย่างไรก็ตาม การขายสินทรัพย์เข้ากองทุน TFUND ที่เกิดขึ้นเป็นประจำปีละครั้งจะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ประมาณเดือน ต.ค.51 ซึ่งคาดการณ์มูลค่าขายโดยรวมสำหรับสินทรัพย์ที่ถูกขายเข้ากองทุน TFUND ประมาณ 2.4 พันล้านบาท เป็นปัจจัยที่สนับสนุนอัตราเติบโตของ EPS ในปี 51 ที่ 6.1% จากปีก่อน
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--