ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่มีประกัน BJC ที่"A+/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday June 13, 2008 08:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน (BJC113A) ของบมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์(BJC) ที่ระดับ “A+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" 
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงฐานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจหลักของบริษัท ซึ่งมีตราสินค้าที่เป็นที่ยอมรับ ความได้เปรียบด้านต้นทุนในการผลิตจากการประหยัดจากขนาดของสินค้าบรรจุภัณฑ์และกระดาษชำระ ตลอดจนผู้บริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์สูง
นอกจากนี้ยังคำนึงถึงลักษณะธุรกิจที่หลากหลายของบริษัทและความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งระหว่างบริษัทกับพันธมิตรทางธุรกิจและลูกค้าด้วย อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงความผันผวนของราคาวัตถุดิบ และนโยบายเชิงรุกในการขยายกิจการของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาความแข็งแกร่งในการแข่งขันเอาไว้ได้จากการประหยัดจากขนาด รวมทั้งจากการมีนวัตกรรมของสินค้า และความสามารถในการรักษาลูกค้ารายสำคัญในธุรกิจขวดแก้ว คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือตระกูลสิริวัฒนภักดีเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาอัตรากำไรในระยะปานกลางไว้และขยายธุรกิจด้วยความระมัดระวังโดยไม่ทำให้ภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มีประวัติการประกอบธุรกิจในประเทศไทยที่ยาวนานกว่า 100 ปี การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2544 เมื่อกลุ่มบริษัททีซีซี ภายใต้การบริหารงานของตระกูลสิริวัฒนภักดีกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ธุรกิจหลักของบริษัทแบ่งออกเป็นธุรกิจบรรจุภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค และผลิตภัณฑ์ด้านเทคนิคและอุตสาหกรรม
ในปี 2550 บริษัทมียอดขาย 19,162 ล้านบาท ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 10% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในปี 2550 รายได้จากกลุ่มบรรจุภัณฑ์คิดเป็น 42% ของรายได้รวม สินค้าอุปโภคบริโภค 32% และผลิตภัณฑ์ด้านเทคนิคและอุตสาหกรรม 26% สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทได้รับแรงเสริมจากความหลากหลายของธุรกิจ ส่วนกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอในธุรกิจบรรจุภัณฑ์นั้นมาจากการสนับสนุนของกลุ่มบริษัทของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่สุด คิดเป็น 40% ของรายได้จากกลุ่มบรรจุภัณฑ์ กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอยังมาจากการผสมผสานของกลุ่มลูกค้าซึ่ง 1 ใน 3 เป็นกลุ่มผู้ผลิตสินค้าอาหารที่มีความแน่นอนสูง
บริษัทเป็น 1 ใน 2 ของผู้ผลิตขวดแก้ว กระป๋องอลูมิเนียม กระดาษชำระ และขนมขบเคี้ยวรายใหญ่ในประเทศ ซึ่งทำให้ได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดในด้านการผลิต อำนาจต่อรองกับผู้จำหน่ายวัตถุดิบและผู้จัดจำหน่ายสินค้า และงบประมาณการพัฒนาผลิตภัณฑ์
ปัจจัยสำคัญที่เน้นย้ำความสามารถในการแข่งขันที่บริษัทมีเหนือคู่แข่งประกอบด้วย ความช่วยเหลือด้านเทคนิคจากผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก ความมีประสิทธิภาพในการลดต้นทุนการผลิต และการมีตราสินค้าที่แข็งแกร่งในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ทริสเรทติ้งเห็นว่าการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งเป็นกลุ่มสร้างรายได้หลักในกลุ่มธุรกิจเทคนิคและอุตสาหกรรมนั้นคาดว่าจะคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสร้างความสมดุลที่ดีให้แก่กลุ่มธุรกิจโดยรวมของบริษัท
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ฐานะทางการเงินของบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ สะท้อนถึงกระแสเงินสดที่มีความมั่นคงสูง สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง และภาระหนี้ในระดับปานกลาง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อยอดขายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างคงที่ที่ระดับ 13%-16% แม้จะมีแนวโน้มลดลงในช่วงที่ผ่านมาจากแรงกดดันของการแข่งขันที่รุนแรง รวมทั้งราคาของวัตถุดิบและน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น บริษัทมีอัตราส่วนกำไรที่ลดลงอย่างรวดเร็วในไตรมาสที่ 1 ของปี 2551 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการปิดซ่อมเตาหลอมขวดแก้ว อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 35.6% ณ เดือนมีนาคม 2551 ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระยะปานกลางเนื่องจากบริษัทจะมีภาระเงินกู้เพิ่มขึ้นเพื่อการขยายธุรกิจ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทที่ยังไม่ได้ปรับให้เป็นอัตราส่วนเต็มปีอยู่ที่ 12.4% ในไตรมาสแรกของปี 2551
ในขณะที่อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 14.0 เท่า ถึงแม้ว่าสภาพคล่องของบริษัทจะลดลงในระยะปานกลาง ฐานะทางการเงินของบริษัทยังถือว่าอยู่ในระดับที่ยอมรับได้เนื่องจากสถานะทางธุรกิจที่ดีและ ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งที่ระดับ 3,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ ประเด็นกังวลสำหรับอันดับเครดิตของบริษัท ได้แก่ ต้นทุนในการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นและนโยบายในการขยายธุรกิจเชิงรุกซึ่งอาจทำให้มีแรงกดดันต่ออัตรากำไร ภาระหนี้ และความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทในระยะปานกลาง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ