บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “BBB+" จากเดิมที่ระดับ “BBB" พร้อมแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนความสามารถของคณะผู้บริหารที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับ ฐานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในตลาดตราสารอนุพันธ์ และการมีสภาพคล่องที่เพียงพอ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงธุรกิจที่มีฐานรายได้จากค่าธรรมเนียมซึ่งจะสร้างรายได้ที่สม่ำเสมอให้แก่บริษัทด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ แนวโน้มที่ไม่แน่นอนของภาวะตลาดหลักทรัพย์ทั้งในระยะสั้นและปานกลาง รวมถึงความเสี่ยงทางการตลาดที่ไม่อาจคาดเดาได้จากการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารหนี้ของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาตำแหน่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และยังคงมีรายได้ที่สม่ำเสมอจากการบริหารกองทุนของ บลจ. วรรณ ต่อไปแม้ว่าสภาพคล่องและราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ยังคงมีความผันผวนเป็นอย่างมากก็ตาม นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดจากการลงทุนในหลักทรัพย์และการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ และจากการขยายธุรกิจได้โดยไม่ทำให้ฐานเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) มีสินทรัพย์รวม 8,278 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในบรรดาบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศทั้ง 39 แห่ง บริษัทให้บริการทั้งในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ธุรกิจวาณิชธนกิจ ตลอดจนธุรกิจการค้าและการลงทุนในหลักทรัพย์ บริษัทยังให้บริการบริหารกองทุนผ่านบริษัทลูก คือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด ด้วย บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อยู่ในอันดับที่ 7 จากจำนวน 39 บริษัทในปี 2550 และอยู่ในอันดับที่ 9 ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 ส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 3.94% ในปี 2549 และ 4.18% ในปี 2550 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการซื้อขายหลักทรัพย์และการส่งเสริมด้านการตลาดของบริษัท บริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจตัวแทนซื้อขายสัญญาล่วงหน้าที่ซื้อขายกันใน บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 11.22% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2551 รายได้จากธุรกิจดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549
ทั้งนี้ คาดว่าธุรกิจตราสารอนุพันธ์จะสร้างสัดส่วนรายได้ที่มากขึ้นในอนาคตเนื่องจากการขยายตัวของตลาดและปริมาณการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และจากภาวะที่ผันผวนของตลาดหลักทรัพย์
ทริสเรทติ้งกล่าวว่าในส่วนของรายได้จากค่าธรรมเนียมนั้น แม้ว่าบริษัทได้ขยายงานด้านวาณิชธนกิจมาตั้งแต่ปี 2546 แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างรายได้ที่มากพอจากธุรกิจนี้ อย่างไรก็ตาม บริษัทมีการรับรู้รายได้ในระดับที่ดีและสม่ำเสมอจาก บลจ. วรรณ ซึ่งเป็นบริษัทลูก โดยมีสัดส่วนรายได้ถึง 13% ของรายได้รวมของบริษัทในปี 2550 นอกจากนี้ บริษัทยังมีการลงทุนในหลักทรัพย์ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ในรูปของกำไรจากเงินลงทุน ดอกเบี้ย และเงินปันผลแล้ว บริษัทยังสามารถใช้ประโยชน์จากหลักทรัพย์ที่บริษัทลงทุนบางส่วนด้วยการออกผลิตภัณฑ์ตราสารอนุพันธ์ชนิดใหม่ๆ รวมทั้งเพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าวก็ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงทางการตลาดเพิ่มขึ้น
บริษัทประกาศผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 334 ล้านบาทในงวดปี 2550 จาก 182 ล้านบาทในปี 2549 เนื่องจากมีรายได้จากการลงทุนในหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลที่เพิ่มขึ้นเป็น 156 ล้านบาท จาก 140 ล้านบาทในปี 2549 จากการขยายตัวของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัท อย่างไรก็ตาม บริษัทได้บันทึกกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ไว้ที่ 448 ล้านบาทในปี 2550 เมื่อเทียบกับที่ขาดทุน 42 ล้านบาทในปี 2549 ในขณะเดียวกัน บริษัทก็ได้บันทึกรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายสัญญาล่วงหน้าจำนวน 56 ล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 11 ล้านบาทในปี 2549
นอกจากนี้ บริษัทยังมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้รวมที่ลดลงเหลือ 57.8% ในปี 2550 จาก 72.6% ในปี 2549 ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 55.5% ของบริษัทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ทั้ง 39 แห่ง ณ เดือนธันวาคม 2550 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับที่เพียงพอที่ 4,492 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 4,349 ล้านบาทในปี 2549 บริษัทมีอัตราส่วนสินทรัพย์รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นปี 2550 เท่ากับ 1.84 เท่า เพิ่มขึ้นจากระดับ 1.46 เท่าในปี 2549 โดยมีระดับที่แข็งแกร่งกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่เท่ากับ 1.67เท่า อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารยังมีแผนในการกู้ยืมเงินจากธนาคารเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการขยายส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์และธุรกิจตราสารอนุพันธ์
--อินโฟเควสท์ โดย ตลฦ/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--