(เพิ่มเติม) "หมอเลี้ยบ"ยอมรับตั้งกก.สอบข้อเท็จจริงแก้ปัญหาBTแต่ไม่เจาะจงสอบผู้ว่าธปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 19, 2008 12:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ยอมรับว่า มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีความเสียหายที่เกิดจากการแก้ไขปัญหาธนาคารไทยธนาคาร(BT) แต่ทั้งนี้การตั้งกรรมการสอบในประเด็นดังกล่าว ไม่ได้มีจุดประสงค์เจาะจงที่จะตรวจสอบนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แต่อย่างใด
"ข่าวที่ออกมาอาจสับสนอยู่บ้าง เพราะไม่ได้มีการตั้งกรรมการสอบผู้ว่าแบงก์ชาติ เพราะผลสรุปของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงยังไม่ออกมา ประเด็นที่พูดกันผ่านสื่อยังมีข้อมูลที่แตกต่างกัน เช่น การซื้อหุ้นเพิ่มทุน ดังนั้นจึงไม่ต้องการชี้นำข้อมูลใดๆ แต่ต้องการให้กรรมการสอบข้อเท็จจริงตรวจสอบข้อมูลทุกเรื่อง และขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะต้องมีใครรับผิดชอบหรือเอาผิดกับใครบ้าง" นพ.สุรพงษ์ กล่าว
สำหรับคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีปัญหาของ BT ชุดนี้ จะมีนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เป็นประธาน และมีกรรมการอีก 5 คน ซึ่งคณะกรรมการฯ คงต้องเร่งดำเนินการสรุปผลสอบเพื่อนำมาเสนอโดยเร็ว เพราะหากยิ่งปล่อยให้เรื่องล่าช้าจะยิ่งเกิดความเสียหายกับ BT ดังนั้นหากพบปัญหาเกิดขึ้นจะได้รีบเข้าไปแก้ไข
ส่วนการตั้งคณะกรรมการฯ ดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อแผนการขายหุ้นเพิ่มทุนของ BT หรือไม่นั้น นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า เท่าที่ได้หารือกับตัวแทนของกระทรวงการคลังที่เป็นกรรมการอยู่ในกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ก็พบว่ายังคงเป็นไปตามขั้นตอนที่วางไว้ และการจะดำเนินการใดๆ คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ
ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ากรณีของธนาคารทหารไทย(TMB) ก็มีปัญหาลักษณะเดียวกันกับ BT แต่กลับไม่มีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น นพ.สุรพงษ์ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งหรือกระทำการสองมาตรฐาน เพียงแต่เห็นว่ากรณีของ BT เมื่อเป็นข่าวออกมาก็ต้องการให้เกิดความชัดเจนเพื่อไม่ให้ถูกมองว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้น ส่วนปัญหาของ TMB เกิดขึ้นมา 2-3 ปีแล้ว แต่รัฐบาลชุดก่อนกลับไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ส่วนจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณี TMB ด้วยหรือไม่นั้น ต้องขอไปพิจารณาในรายละเอียดก่อน เพราะข้อมูลที่ได้รับอาจจะแตกต่างกัน เนื่องจากที่มาของข้อมูลมาจากหลายแหล่ง
และจากที่เมื่อวานหุ้นของ BT ตก นั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) จะต้องเข้าไปตรวจสอบว่าจะมีอินไซเดอร์หรือไม่ แต่ก็ไม่มีข้อมูลว่ามีการตั้งใจปล่อยข่าว
นพ.สุรพงษ์ กล่าวว่า แม้กระทรวงการคลังจะไม่มีหน้าที่กำกับดูแลกองทุนฟื้นฟูฯ โดยตรง แต่ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงที่กระทรวงการคลังจะต้องเป็นผู้รับภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ในปัจจุบันมีอยู่กว่า 1.4 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงต้องการจะเห็นว่าผู้ที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของสถาบันการเงินจะต้องมีผลตอบแทนที่ดีให้ด้วย และหากเป็นการซื้อขายหุ้นอย่างเร่งด่วนก็ต้องพิจารณาด้วยเช่นกันว่าได้รับผลตอบแทนที่ดีหรือไม่
ส่วนอนาคตจะมีการควบรวมกิจการในแต่ละธนาคารที่ภาครัฐถือหุ้นเพื่อแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงินหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่กองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องตัดสินใจ ซึ่งคงให้ความเห็นได้เพียงว่าการดำเนินการจะต้องคิดให้ยาวว่าจะทำอย่างไรให้สถาบันการเงินที่ในอดีตรัฐบาลได้เข้าไปฟื้นฟูจะสามารถกลับมาแข็งแกร่งได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ